วันพุธ, พฤศจิกายน 15, 2560

ใครที่เงินในกระเป๋าน้อย ก่อน“ช้อปช่วยชาติ” คิดให้รอบคอบ



ooo

คิดให้รอบคอบ… ก่อน “ช้อปช่วยชาติ”





คอลัมน์ ชั้น 5ประชาชาติ
ประชาชาติธุรกิจ
โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า


ก่อนหน้านี้ดูเหมือนกระทรวงการคลังจะไม่ค่อยเห็นด้วยนักกับการนำมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” กลับมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายในช่วงท้ายปีสำหรับปีนี้ เพราะมองว่าบรรยากาศโดยรวมทางเศรษฐกิจปีนี้เริ่มกลับมาดีขึ้น และดีกว่าปีที่ผ่านมา

แต่ท้ายที่สุดเมื่อ นายกลุงตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการให้นำมาตรการดังกล่าวกลับมาพิจารณาโดยด่วน คลังจึงได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โดยในรายละเอียดทั้งหมดยังคงเหมือนเดิมที่จัดไปแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี 2558 และ 2559 คือประชาชนสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริงสูงสุดแต่ไม่เกิน 15,000 บาท เพียงแต่ปีนี้ได้ขยายวันช็อปให้ยาวขึ้นเป็น 23 วัน คือจากวันที่ 11 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2560

นั่นหมายความว่า ตัวเลขการจับจ่ายของประชาชนโดยรวมในปีนี้ควรที่จะเพิ่มมากกว่าปีที่ผ่านมา ที่สำคัญก็ควรที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของ GDP มากกว่า 2 ครั้งที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

เมื่อจำนวนวันเพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้ประชาชนที่จะมาใช้สิทธิ์ก็น่าจะเพิ่มขึ้น แน่นอนว่ารัฐบาลก็จะต้องสูญเสียรายได้ภาษีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงสะท้อนจากหลายฝ่ายในสังคมว่า มาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” นี้เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผลจริงหรือ แล้วทำไมถึงต้องนำมาใช้อีก ในเมื่อรัฐบาลเองก็ประกาศไว้ชัดเจนว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นแล้ว

หากเศรษฐกิจของประเทศ ปรับตัวดีขึ้นจริงตามที่รัฐบาลแถลง กำลังซื้อของประชาชนก็น่าจะพลิกฟื้นกลับมาแล้ว และมีกำลังการจับจ่ายใช้สอยโดยไม่ต้องออกมาตรการอะไรออกมาช่วย

จึงตั้งข้อสังเกตว่า การนำมาตรการดังกล่าวออกมาใช้ต่อเนื่องอีก 1 ปีนี้สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง ประชาชนยังไม่กล้าจับจ่าย

ประเด็นดังกล่าวนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะจากการมอนิเตอร์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อการจับ จ่ายใช้สอย รวมถึงจากการที่ได้สัมผัสกับผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มคนระดับกลาง มนุษย์เงินเดือน ที่รายได้และกำลังซื้อมีแต่ทรงและทรุด เนื่องจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ยิ่งกลุ่มคนระดับรากหญ้าก็ยังคงได้รับผลกระทบหนัก เพราะราคาพืชผลทางการเกษตรยังไม่กระเตื้อง ทุกหย่อมหญ้ารัดเข็มขัดกันเอวกิ่ว

การออกมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” มาใช้อีกปียิ่งไปกระตุ้นมู้ดให้คนทั่วไปอยากจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ด้วยหวังว่าจะได้ช่วยลดภาษี ในประเด็นนี้ผู้เขียนจึงอยากแนะนำให้ทุกคนดูรายละเอียดของมาตรการให้ละเอียด ถี่ถ้วนก่อนที่จะตัดสินใจ “ช้อปช่วยชาติ” และควรต้องคำนวนให้รอบคอบ ว่าจากจำนวนเงินที่เราจับจ่ายไปนั้น จะช่วยลดภาษี

ให้ตัวเองได้เท่าไหร่ เพราะแต่ละคนจะได้ส่วนลดไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับฐานรายได้และฐานการเสียภาษีเงินได้ของแต่ละคน ซึ่งหากแจกแจงให้เห็นภาพชัดเจนก็คือ หากใช้สิทธิเต็มมูลค่า 15,000 บาท คนที่มีรายได้ตั้งแต่ 150,000-300,000 บาทต่อปี หรือมีเงินเดือนเฉลี่ยที่ 12,500-25,000 บาท ได้ส่วนลดคืนภาษี 5% หรือสูงสุดที่ 750 บาท

คนที่มีรายได้ตั้งแต่ 300,001-500,000 บาทต่อปี หรือมีเงินเดือนเฉลี่ยราว 25,001-41,600 บาท จะได้คืนภาษี 10% หรือสูงสุดที่ 1,500 บาท คนที่มีรายได้ 500,001-750,000 บาทต่อปี หรือเงินเดือนเฉลี่ย 41,600-62,000 บาท ได้ส่วนลด 15% หรือสูงสุด 2,250 บาท หรือคนที่มีรายได้ตั้งแต่ 750,001-1,000,000 บาทต่อปี หรือมีเงินเดือนเฉลี่ย 62,501-83,000 บาท ได้ส่วนลด 20% หรือสูงสุด 3,000 บาท เป็นต้น

เหตุผลง่าย ๆ ที่รัฐบาลให้ส่วนลดเงินลดหย่อนภาษีไม่เท่ากันนั้น ก็เพราะแต่ละคนมีฐานการเสียภาษีที่ต่างกัน คนไหนเสียภาษีน้อยก็ได้ส่วนลดน้อย ส่วนใครที่เสียภาษีมากก็ได้ส่วนลดมาก เพราะรัฐบาลบอกว่า มาตรการนี้เป็นเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นให้คนมีเงินเกิดการจับจ่ายที่มาก ขึ้น หรือเป็นมนตร์เรียกเงินออกจากกระเป๋าคนมีเงิน

ส่วนใครที่เงินในกระเป๋าน้อยก็ควรที่จะต้องคำนวณให้ละเอียดและรอบคอบ

ถ้าตื่นเต้นไปกับมาตรการรัฐบาลอาจเผลอตัวสร้างหนี้เพิ่มขึ้นก็เป็นได้ !

ooo