วันพุธ, พฤศจิกายน 08, 2560

"ประจักษ์ ก้องกีรติ- ทีมข่าวการเมือง ไทยรัฐ" พาย้อนอดีตไปดูโมเดลตั้งพรรคนอมินีสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร





แกะรอยตั้งพรรคเฉพาะกิจสืบทอดอำนาจ : บอนไซประชาธิปไตย


โดย ทีมข่าวการเมือง
ไทยรัฐออนไลน์
19 มิ.ย. 2560


เป็นนักวิชาการด้านการเมืองรุ่นใหม่ มีผลงานวิจัยโดดเด่น โดยเฉพาะเรื่อง “ทำไมระบอบเผด็จการจึงประสบความสำเร็จในสังคมไทย”

ในช่วงเปลี่ยนผ่านการเมืองไทย กงล้อประวัติศาสตร์การเมืองจะหมุนซ้ำรอยอย่างไร โปรดติดตามคำเฉลยจาก นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมืองท่ามกลางสถานการณ์คนของขั้วอำนาจพิเศษขยับทาบทามนักการเมือง บรรดานักการเมืองเริ่มเคลื่อนไหว

กลไกของรัฐขับเคลื่อนให้ประชาชนตอบ 4 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อดีตกลุ่ม 40 ส.ว.ประกาศจัดตั้งพรรคการเมือง สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ กลุ่มสโมสร ส.ส.บางคนส่งเสียงเชียร์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งพรรคการเมืองลงสู้ศึกเลือกตั้ง

โดยอาจารย์พาย้อนอดีตไปดูโมเดลการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร เริ่มจากโมเดลหลังการเลือกตั้งทหารยังคงอำนาจต่อไป เป็นที่มาของการก่อตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผงาดเป็นหัวหน้าพรรคใช้อำนาจรัฐทุกอย่างเอื้อให้ตัวเองชนะการเลือกตั้ง ได้รับขนานนามว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรกที่สุด

แม้พรรคเสรีมนังคศิลาได้ตั้งรัฐบาล สุดท้ายประชาชนเดินขบวนขับไล่ จบลงโดยจอมพล ป. ลงจากอำนาจ

ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ จอมพลถนอม กิตติขจร มีพรรคการเมืองทั้งสหภูมิ ชาติสังคม สหประชาไทย ทหารไปนั่งเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อให้แน่ใจว่าทำเพื่อทหาร โดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2512 มีการตั้งพรรคสหประชาไทยขึ้นมารองรับ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค

หลังการเลือกตั้งพรรคสหประชาไทยจัดตั้งรัฐบาลผสม แต่พรรคทหารไม่คุ้นชินในระบอบรัฐสภา ที่มีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบ ถ่วงดุล และ ส.ส.อิสระที่เชิญมาร่วมก็ต่อรองผลประโยชน์งบประมาณแผ่นดิน

สุดท้ายจอมพลถนอมทำรัฐประหารตัวเอง เป็นชนวนให้เกิดชุมนุมใหญ่ 14 ตุลา 16 โมเดลนี้มีจุดจบไม่สวย

ขณะที่โมเดลตั้งพรรคนอมินีสืบทอดอำนาจ ในสมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยุคนั้นทหารรับรู้กระแสว่าประชาชนแฮปปี้กับทหารทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลที่ถูกมองว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง

แต่ประชาชนไม่แฮปปี้ทหารที่ขึ้นมามีอำนาจโดยตรงทันที จำเป็นต้องยอมให้พลเรือนขึ้นมา เป็นนายกฯขัดตาทัพ และมีพลเรือนตั้งพรรคสามัคคีธรรม มีเป็นนักการเมืองเด่นดัง พาเหรดเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรค ไม่ใช่โมเดลแบบจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลถนอม กิตติขจร

หลังเลือกตั้งพรรคสามัคคีธรรมคว้าชัยชนะบนความพ่ายแพ้ได้ ส.ส.แค่ 79 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ของจำนวน ส.ส. 360 ที่นั่งทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร ถือว่าล้มเหลว เพราะเป็นพรรคที่ทหารใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาลสนับสนุน

จำเป็นต้องฟอร์มรัฐบาลผสม เมื่อต่อจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นครบแล้วอดคิดไม่ได้เหมือนกันว่ามีการวางแผนล่วงหน้าที่ 5 พรรคจับมือตั้งรัฐบาล เชิญ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกฯ

ฉากสุดท้ายก็จบไม่สวย มีการชุมนุมขับไล่ต้องลงจากอำนาจ พรรคสามัคคีธรรมแตกสลาย

ขณะที่พรรคเพื่อแผ่นดิน ซึ่งเป็นพรรคนอมินีอีกโมเดลที่ล้มเหลว ตอนแรกคาดการณ์ว่าจะชนะถล่มทลาย ปรากฏว่าไม่สมหวัง พรรคพลังประชาชนได้ ส.ส.ประมาณ 233 คน พรรคประชาธิปัตย์ 165 คน พรรคชาติไทย 37 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 24 คน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 9 คน พรรคมัชฌิมาธิปไตย 7 คน พรรคประชาราช 5 คน

ชัดเจน การเมืองไทยเดินเข้าสู่ระบบ 2 พรรคใหญ่ เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งดีไซน์ให้เกิดระบบ 2 พรรคใหญ่แบบประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ใครเป็นรัฐบาลก็ผลักดันนโยบายได้เต็มที่ ไม่ต้องตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งมุ้งต่างๆจะต่อรองผลประโยชน์ ตำแหน่ง เก้าอี้รัฐมนตรี และมีการยุบสภาบ่อย

ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เลือกพรรคเล็ก มันพิสูจน์ให้เห็นชัดในการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 เหลือ 2 พรรคใหญ่ที่ได้จำนวน ส.ส.ในระดับมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ มีจำนวน ส.ส.ทิ้งห่างพรรคกลาง พรรคเล็ก

พอเกิดวิกฤติความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง เกิดฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านนายทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวเร่งทำให้เกิดการเมือง 2 ขั้วใหญ่จริงๆ พรรคเล็กพรรคน้อย ประชาชนมีความรู้สึกว่าเลือกไปแล้วเสียของ

พอถึงเวลาใช้สิทธิ เลือกตั้ง คนที่ต่อต้านนายทักษิณไม่อยากให้คะแนนตกน้ำเสียเปล่า แม้ไม่ชอบพรรคประชาธิปัตย์ ก็จำใจ จะต้องเลือก เพราะเป็นพรรคที่พอจะต่อสู้กับพรรคไทยรักไทยได้ ขณะเดียวกันคนที่สนับสนุนนายทักษิณหรือไม่ชอบการรัฐประหาร ย่อมไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องหลับหูหลับตาเลือก จะชอบหรือไม่ชอบผู้สมัคร ส.ส.พรรคนี้ ก็ต้องตัดสินใจเทคะแนนเสียงให้

แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 ดีไซน์ระบบเลือกตั้งใหม่ เพื่อรื้อฟื้นให้เกิดรัฐบาลผสม ป้องกันพรรคการเมืองชนะแบบเด็ดขาด ขัดกับพฤติกรรมของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเสียงบางส่วนเปลี่ยนไปเลือก 2 พรรคใหญ่ พรรคเล็กพรรคน้อยแทบไม่สามารถยืนอยู่บนกระดานการเมืองได้

ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า ทุกโมเดลการสืบทอดอำนาจล้มเหลวหมด

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า การสืบทอดอำนาจในครั้งนี้มีโอกาสสำเร็จได้สูง เพราะว่ากันว่า การรัฐประหารคราวนี้ไม่ใช่เป็นแค่การยึดอำนาจ แต่ได้ศึกษาความล้มเหลวของการรัฐประหารทุกครั้ง เพื่อวางยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจ บริหารประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย

นายประจักษ์ บอกว่า จากบทเรียนการสืบทอดอำนาจตามโมเดลต่างๆ ขอให้เข้าใจว่าการเลือกตั้งมันไม่ใช่เกมของทหาร ทหารไม่ถนัดเกมการเลือกตั้ง ทหารเก่งในแง่มีประสิทธิภาพคุมอำนาจผ่านการรัฐประหาร แต่การเลือกตั้งเกี่ยวข้องกับนโยบายที่จับใจประชาชน

ทหารไม่ใช่พรรคการเมืองจะผลิตนโยบายโดยลงพื้นที่คุยกับชาวบ้าน เคาะประตูหาเสียง นอบน้อมกับประชาชน มันเป็นคำตอบว่าทำไมที่ผ่านมาพอกลับไปสู่สนามเลือกตั้ง ไม่ว่าจะพรรคทหาร พรรคนอมินีของการสืบทอดอำนาจถึงล้มเหลวมาตลอด เพราะเกมมันเปลี่ยน ทหารไม่รู้ในเกมที่ตัวเองถนัด

ถ้ายังขืนไปตั้งพรรคนอมินีขึ้นมา ฝากความหวังไว้กับคนอื่นย่อมมีความเสี่ยง ถ้าตั้งพรรคทหารก็จะมีกระแสตีกลับ ขอให้ดูบทเรียนในอดีตตอนยึดอำนาจประชาชนตอบรับเป็นอย่างดี พอตั้งพรรคทหาร พรรคนอมินี ทำไมประชาชนไม่เลือก

เพราะประชาชนไม่ต้องการให้ทหารอยู่ยาว แค่อยากให้เข้ามาเก็บกวาดบ้านเสร็จแล้วออกไป ไม่ใช่มาจัดเฟอร์นิเจอร์ ตั้งโต๊ะ ตั้งสำรับอาหารแบ่งกันกินแล้ว เริ่มแสดงให้เห็นว่าจะอยู่บ้านยาว

ฉะนั้น ถ้าตั้งพรรคเองหรือตั้งพรรคนอมินีขึ้นมา เชื่อว่ากระแสสนับสนุนจะลดต่ำลงมาก

แต่โครงสร้างกติกาใหม่ตามรัฐธรรมนูญ หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอื้อต่อพรรคขนาดกลาง และจะเอื้อต่อพรรคนอมินีอย่างไรบ้าง นายประจักษ์ บอกว่า ระบบการเลือกตั้งครั้งนี้พิสดารที่สุด เอาระบบการเลือกตั้งของประเทศเยอรมนีมาบิด เอื้อต่อพรรคขนาดกลาง พรรคเล็กแจ้งเกิดยาก

พรรคทางเลือกใหม่ก็เกิดยาก อยากได้ ส.ส.ใหม่เยอะจะต้องส่งผู้สมัครทุกเขต เพราะทุกคะแนนมีความหมาย และประชาชนกาบัตรเลือกตั้งใบเดียว ยังไม่นับรวมการเซ็ตซีโร่ กกต.ก็จะเป็นคีย์ที่สำคัญต่อการจัดตั้งรัฐบาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไปดูนักวิชาการที่ทดลองเอาสูตรการเลือกตั้งใหม่มาคำนวณ บนฐานคะแนนนิยมเท่าเดิม พฤติกรรมผู้เลือกตั้งไม่เปลี่ยน ปรากฏว่า พรรคขนาดกลางจะได้ประโยชน์มากที่สุด พรรคใหญ่จะได้ ส.ส.ลดลงเกือบ 40 ที่นั่ง พรรคใหญ่รองลงมาแทบไม่ได้อะไรได้ ที่นั่งเท่าเดิม

ฉะนั้น การสืบทอดอำนาจครั้งนี้คงไม่ทุ่มทรัพยากรให้พรรคนอมินี พรรคเดียว จะต้องทุ่ม 2-3 หรือ 3-4 พรรค ตามไอเดียของการออกแบบ กติกาเพื่อให้มีการฟอร์มรัฐบาลผสม ไปรวมกับเสียงพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดโดยไม่ต้องเลือกตั้งคือ ส.ว. 250 เสียง ต้องการเก็บเสียงเล็ก
ผสมน้อยอีกแค่ 125 เสียง รวมเป็น 375 เสียงจาก 750 เสียง

เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีของตัวเอง

มาถึงเวลานี้ไม่ว่า “พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาธิปัตย์-ทหาร” ก้าวขึ้นเป็นนายกฯ จะบริหารประเทศด้วยความยากลำบาก

โดยเฉพาะถ้าทหารก้าวขึ้นเป็นนายกฯ ก็จะเป็นรัฐบาลเป็ดง่อยตั้งแต่แรก

เพราะต้องพึ่งจมูกคนอื่นหายใจ

ฉะนั้นขอปล่อยให้เป็นไปตามกติกาปกติ

อย่าตั้งพรรคนอมินีและเข้าไปแทรกแซง

ไม่เช่นนั้นสุดท้ายจะอยู่ไม่ได้นาน.

ทีมการเมือง