วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 22, 2560

จะกี่ชาย กี่หญิง "ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอันใดครับ" :ชำนาญ จันทร์เรือง

เมื่อชาย 3 คน แต่งงานกัน
ชำนาญ จันทร์เรือง

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมาได้มีข่าวที่ดูเหมือนว่าจะเป็นข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งของ AFP แต่ได้สร้างความสั่นสะเทือนอย่างมหาศาลสำหรับวงการของคนรักเพศเดียวกันและคนที่ต่อต้าน ข่าวที่ว่านั้นก็คือข่าวของชาย 3 คน ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแบบคนรักในโคลอมเบีย ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยศาลให้การรับรองสิทธิการสมรสของครอบครัวที่อยู่กินกันหลายคน (มากกว่า 2 คน) หรือที่เรียกเป็นภาษาทางวิชาการว่า “polyamorous family” เป็นครั้งแรก

จากการที่ศาลโคลอมเบียได้ตัดสินรับรองสถานะการสมรสของชายรักชาย 3 คนที่เมือง Medellin เมืองใหญ่อันดับ 2 ของโคลอมเบียนี้ ทำให้โคลอมเบียเป็นประเทศแรกในอเมริกาใต้ที่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนสำหรับครอบครัวที่อยู่กินกันมากกว่า 2 คนขึ้นไป

ชาย 3 คนที่ว่านี้ก็คือ Manuel Jose Bermudez ซึ่งเป็นนักข่าว (journalist), Victor Hugo Prada อาชีพนักแสดง (actor) และ John Alejandro Rodriguez ผู้ฝึกสอนกีฬา (sports instructor) เป็นชาวโคลอมเบียกลุ่มแรกที่ศาลรับรองสถานะสมรสแบบนี้ และพวกเขาเตรียมจัดพิธีสมรสอย่างเป็นทางการ ทั้งยังมีแผนจะเดินทางไปฮันนีมูนอีกด้วย
(ภาพประกอบจาก Vice News)
นอกจากนี้ Manuel Jose Bermudez ยังได้เผยแพร่ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า นี่คือความคืบหน้าครั้งสำคัญที่จะเปิดทางให้ครอบครัวอื่นๆ ทั่วโลก ที่อยู่กินกันแบบสามคนหรือมากกว่านั้น ได้รับการยอมรับทางสังคมและทางกฎหมาย ขณะที่ Victor Hugo Prada ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว AFP ว่า พวกเขามีสิทธิที่จะสร้างครอบครัวไม่ต่างกับครอบครัวที่มีรูปแบบอื่นๆ รวมถึงมีสิทธิที่จะสืบทอดหรือดูแลมรดกของคู่สมรสด้วย ซึ่งที่จริงแล้วครอบครัวนี้เคยมีสมาชิก 4 คน แต่อีกคนเพิ่งเสียชีวิตไปเสียก่อนด้วยโรคมะเร็ง

ขณะที่ German Rincon Perfetti นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้หลากหลายทางเพศ ระบุว่าในโคลอมเบียมีผู้สมรสที่อยู่กินกันแบบสามคนอยู่ไม่น้อย แต่กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นการยอมรับว่าครอบครัวแบบอื่นก็สามารถดำรงอยู่ในสังคมนี้ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ โคลอมเบียเป็นประเทศที่ 4 ในอเมริกาใต้ที่รับรองการจดทะเบียนสมรสของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ต่อจาก 3 ประเทศก่อนหน้า คือ อาร์เจนตินา บราซิล และอุรุกวัย แต่เป็นประเทศแรกในอเมริกาใต้ที่รับรองสิทธิสมรสแบบหลายคน

ที่ผมนำข่าวนี้มาเสนอก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน (same-sex marriage) หรือการอยู่ร่วมกันหรือมีความสัมพันธ์ในทำนองนี้ เช่น gay marriage, gender-neutral marriage, equal marriage, lesbian marriage, same-sex civil marriage, marriage equality, homosexual marriage, single-sex marriage, same-gender marriage ฯลฯ นั้น ในต่างประเทศนั้นได้รับการยอมรับและเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด

คำกล่าวที่ว่า "ผิดธรรมชาติ" หรือ "โลกอยู่ยากขึ้นทุกวัน" มักถูกใช้เสียดสีคนรักเพศเดียวกัน เพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดในสมัยนี้ จริงๆ แล้วในอดีตเป็นเรื่องปกติของความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นธรรมดาของหลายวัฒนธรรมทั่วโลก แต่ถูกตีความใหม่ให้เป็นเรื่องผิดปกติภายหลังการขยายตัวของศาสนา และเชื่อมต่อด้วยลัทธิล่าอาณานิคมที่แผ่กระจายไปทั่วโลก ทำให้เกิดความเชื่อว่าการรักเพศเดียวเป็นสิ่งที่ผิดปกติหรือผิดธรรมชาติ

ในอดีตเช่นกรีกเมื่อ 2- 3 พันปีก่อน ความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายถือเป็นสิ่งที่สวยงาม เช่น ชายอาวุโสสอนงานเด็กหนุ่มก่อนที่จะไปมีชีวิตครอบครัวกับเด็กสาวหรือไปประกอบอาชีพการงาน และเมื่อแต่งงานไปแล้วในบางโอกาสยังกลับมาสัมพันธ์ในเพศเดียวกันอีก

ในญี่ปุ่น ซามูไรในอดีตมีพฤติกรรมเลือกเอาเด็กหนุ่มมาเป็นคู่ครอง, จีนในหลายร้อยปีก่อนก็เชื่อว่ามนุษย์สามารถหาความสุขทางเพศได้หลายรูปแบบ โดยไม่จำเป็นต้องกับเพศเดียวกันเท่านั้น หรือในอเมริกาคนพื้นเมืองในอดีตก็ได้การยอมรับและให้การนับถือคนสองเพศว่าเป็นผู้ที่สามารถติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ เป็นต้น

ผู้ที่ให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน มักจะใช้คำว่า "การแต่งงานแบบเสมอภาค"(equal marriage) เพื่อเน้นว่าพวกเขาแสวงหาความเสมอภาคในฐานะที่เป็นการต่อต้านหรือคัดค้านสิทธิพิเศษต่างๆ เพื่ออธิบายถึงการแต่งงานใดๆ ก็ตามที่ไม่คำนึงถึงเรื่องเพศ (sexes) ของคู่ครอง ซึ่งคู่ครองจะมีสถานะที่เท่าเทียมหรือเสมอกันในการแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานระหว่างเพศใดก็ตาม

อย่างไรก็ตามผู้ที่คัดค้านมักจะให้เหตุผลว่าการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ ขณะที่การแต่งงานระหว่างเพศตรงข้ามสามารถให้กำเนิดบุตรและให้การศึกษากับลูกหลาน ซึ่งเหตุผลนี้ได้ถูกโต้แย้งว่ามิใช่ว่าทุกคู่แต่งงานที่เป็นเพศตรงข้ามกันจะต้องการมีบุตร บางคู่ตั้งใจไว้แน่วแน่ว่าไม่ต้องการมีบุตรจึงใช้วิธีคุมกำเนิด

อย่างไรก็ตาม ในกฎหมายแพ่งหลายประเทศได้กำหนดไว้ว่า การไร้สมรรถภาพทางเพศหรือการเป็นหมันไม่เป็นมูลเหตุให้การแต่งงานเป็นโมฆะ หรือการแต่งงานระหว่างชายหญิงที่อายุมากเกินกว่าจะมีบุตรได้ ก็ไม่เป็นโมฆะเช่นกัน ฉะนั้น การมีบุตรจึงไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญของการแต่งงานแต่อย่างใด

อนึ่ง การสมรสของเพศเดียวกันก็มักจะขอรับเลี้ยงบุตรจากผู้อื่นซึ่งสามารถทำได้อยู่แล้ว ดังนั้น หากพิจารณาถึงเหตุผลของการสร้างความเป็นสถาบัน (institutionalzing) แล้ว การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน เป็นทั้งการทำให้สองฝ่าย (หรือมากกว่า) มีสิทธิร่วมกันในความเป็นครอบครัว และมีสิทธิรับบุตรบุญธรรมได้ หรือการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถรับบุตรบุญธรรมก็สามารถทำได้เช่นกัน

กล่าวโดยสรุปก็คือ สิทธิในการมีครอบครัว เป็นสิทธิพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ และพึงให้ความเคารพในการเลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง ตราบใดที่เขาเหล่านั้นไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น จะชายกับชาย/หญิงกับหญิง/ชายกับชายกับชาย/หญิงกับหญิงกับหญิง/หญิงกับชายกับหญิง/ชายกับหญิงกับชาย ฯลฯ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอันใดครับ
-----------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 21 มิถุนายน 2560