วันอังคาร, มิถุนายน 20, 2560

“ชนชั้นนำภาครัฐได้กลับมาสถาปนาอำนาจนำของตน” อีกครั้ง :ปาฐกถา เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 'การเมืองไทย ๔.๐'

เกินคาด ทั้งเดอะสแตนดาร์ดและด็อกเตอร์เสกสรรค์ ครานี้ทั้งคู่จัดเต็มเรื่องการเมืองไทยยุค ๔.๐ จากปาฐกถาที่ท่าพระจันทร์เมื่อ ๑๙ มิถุนา ยาวมากและเนื้อเยอะ โดยลงเอยว่า

“ชนชั้นนำภาครัฐได้กลับมาสถาปนาอำนาจนำของตน” อีกครั้ง “และฟื้นบทบาทของรัฐราชการในยุคโลกาภิวัฒน์ได้สำเร็จ”


ก่อนอื่น ทำไมถึง เกินคาดสำหรับเดอะสแตนดาร์ด ฟอร์มใหญ่และขวดใหม่ (เหล้าเก่า) เพิ่งเปิดตัวไม่นาน พอออกเดินนวยนาดก้าวพลาดจากพรมแดงไปเหยียบกระถางดอกไม้ข้างทาง เลยโดนคนดูปาไข่ (ไม่เน่า) ใส่หน้าหลายฟอง

แม้จะถอนชื่อนักเขียนกิติมศักดิ์คนนั้นออกไป (เพราะเจ้าตัวเองก็หลบไข่ บอกยังไม่ได้รับเชิญ) กระนั้นยังขาแพลงไม่หาย ทำให้ under performance ไปเล็กน้อย

ผีซ้ำดั้มพลอย เจอนักมวยรองบ่อน ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด ซึ่งเป็นเดอะสแตนด์อัพคอมิคตัวจริง ทั้งซัดทั้งเบียดแซงเสียเกือบตกรันเวย์ เดชะบุญได้ปาฐกถา ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มาเยียวยาได้ทัน

นักวิชาการ เดือนตุลาคนนี้ ช่วงที่ผ่านมาทำตนเป็นนักวิชาการเฉยๆ เหมือนอยู่ในบรรยากาศ เดือนต่ำดาวตกเสียตั้งสามปี หรือจะเป็นเช่นที่เจ้าตัวพูดเองว่าเขา “ใช้วัยชราอยู่ในความเงียบสงัด

นั่นจากโคว้ตของบีบีซีไทย http://www.bbc.com/thai/thailand-40324610?ocid=socialflow_facebook ซึ่งเก็บเนื้อความอันยาวเหยียดมาย่อยเป็น ๘ วรรคทอง จาก ดร.เสกสรรค์

ที่จริงยังมีรายงานเป็นทางการอย่างละเอียด ปาฐกถาเรื่อง การเมืองไทยกับสังคม . จากงานเสวนา ‘Direk’s Talk ทิศทางการเมืองโลก การเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ จัดโดย ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้อง ร.๑๐๓ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่หน้าเฟชบุ๊ค Direk Jayanama Research Center ด้วย

เนื้อหามากมายจากนักวิชาการ ไม่แดงคนนี้ ควรที่จะได้สัมผัสกันในหมู่ผู้ที่ยังยึดมั่นประชาธิปไตย ที่ไม่ต้อง ยั่งยืนแต่กลับยืดเวลา ไม่ใช่ครึ่งใบ และไม่จำเป็นต้องหางยาว

ดร.เสกสรรค์ เปิดฉากด้วยการ ‘set the record straight’ จัดวางความจริงให้อยู่กับที่กับทาง เรื่องที่ถูกกรอกหูกันเสียจนคนที่พูดปดเองนึกว่ามันคือความจริง จากวาทกรรม “นักการเมืองที่เคยกุมอำนาจโดยผ่านระบบเลือกตั้งล้วนเป็นคนไม่ดี ส่วนคนที่อยู่บนเวทีอำนาจด้วยวิธีอื่นล้วนไม่ใช่นักการเมือง ดังนั้นจึงเป็นคนดี

ว่าไม่เพียงแต่ขัดกับหลักวิชาเท่านั้น “หากยังขัดกับธรรมชาติของความจริง เพราะที่ไหนมีอำนาจ ที่นั่นก็มีการเมือง และมีคนเล่นการเมือง อันนี้เป็นเรื่องที่รู้กันมาตั้งแต่สมัยสามก๊กแล้ว

ต่อปัญหาวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วง ๒๕๕๖-๒๕๕๗ นั้น เสกสรรค์บอกว่า “ไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างมวลชนที่ใส่เสื้อสีต่างกันเท่านั้น 

หากยังกินลึกไปถึงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่าจากภาครัฐ กับชนชั้นนำใหม่ที่โตมาจากภาคเอกชนและขึ้นสู่อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้ง โดยฝ่ายแรกคุมกลไกรัฐราชการ ฝ่ายหลังมีมวลชนเรือนล้านเป็นฐานเสียงสนับสนุน

จึงสังเกตุได้ว่า “หลังรัฐประหารปี ๒๕๕๗ แทนที่รัฐบาลทหารจะรีบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างมวลชนเสื้อสี กลับเดินหน้ากำหนดนโยบายต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างเร่งด่วน 

ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันประเทศไทยให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของตน...

รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๖๐ อันเป็นผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันยังสะท้อนให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่าชนชั้นนำภาครัฐต้องการทวงคืนและรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ในเวทีอำนาจไว้อย่างถาวร...

ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๑ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งแบบเดิมให้เป็นระบบใหม่ที่เรียกว่า จัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งจะทำให้อิทธิพลของพรรคใหญ่ถูกจำกัดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ดร.เสกสรรค์กล่าวถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดขั้นตอนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์แห่งชาติ อันนี้หมายถึงว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทบจะกำหนดนโยบายอะไรเพิ่มไม่ได้เลย และอาจจะต้องกลายเป็นผู้สืบทอดนโยบาย คสช.เสียเอง

ยิ่งกว่านั้นการกำหนดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยาก “จนถึงขั้นเกือบเป็นไปไม่ได้ ซึ่งหมายถึงว่าผู้ร่างมีวัตถุประสงค์จะตรึงโครงสร้างอำนาจดังกล่าวไว้ให้นานแสนนาน

แทบไม่น่าเชื่อว่าเสกสรรค์ (กล้า) เข้าไปแตะถึงผลการออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๙ ที่มีคนเห็นชอบ ๑๖ ล้าน ๘ แสน ไม่เห็นชอบราว ๑๐ ล้าน ๕ แสนคน

เขาอ้างถึงการเลือกตั้งที่ถูกล้ม (โดยเครือข่ายและนั่งร้านของทหาร เช่น กปปส. และภาคประชาสังคม) เมื่อต้นปี ๕๗ ว่ามีคนไปใช้สิทธิเพราะต้องการเลือกตั้งถึง ๒๐ ล้านคน ทำให้ตีความได้ว่า

การที่รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๖๐ สอบผ่านประชามติ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนจำนวนมหาศาลแอบคิดต่างอยู่เงียบๆ

เหล่านั้นคือพื้นฐานทางการเมืองและกำหมายสำหรับประเทศไทยยุค ๔.๐ ซึ่งเสกสรรค์ตั้งคำถามว่า “คนไทยพร้อมแค่ไหนในการก้าวกระโดดไปสู่การทำงานในระบบเศรษฐกิจ .๐”

เขาชี้ให้เห็นตัวเลขแรงงานไทย ๔๐ เปอร์เซ็นต์สูงอายุ (เกินสี่สิบ) ๕๐ เปอร์เซ็นต์เรียนหนังสือไม่เกินชั้นประถม “ในเมื่อแรงงานครึ่งหนึ่งอายุมากและมีการศึกษาน้อย การปรับตัวยกระดับทักษะให้เป็นแรงงาน .คงทำได้ยากทีเดียว

เขาพูดถึงยโยบาย ประชารัฐของ คสช. ว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการยึดคืนอำนาจนำจากนักการเมืองเลือกตั้ง “นโยบายประชารัฐจึงมีนัยทางการเมืองสูงมาก” เขาว่า 

เพราะเป็นการจับมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชน เคลื่อนไหวลงสู่มวลชนระดับฐานราก ซึ่งทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง ถ้าเรื่องนี้ทำสำเร็จก็อาจจะส่งผลให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็นโมฆะได้

เสกสรรค์ยัง เกินคาดที่ก้าวเข้าไปอ่านใจพรรคการเมืองบางพรรค “ฉากหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งผนึกกำลังกันหนุนผู้นำจากกองทัพ ทั้งเพื่อกีดกันพรรคที่เคยชนะพวกเขาในการเลือกตั้งหลายครั้งหลัง และชิงส่วนแบ่งทางอำนาจมาไว้กับตน แม้จะต้องเล่นบทพระรองก็ตาม

ดังนั้น “การเมืองในยุคไทยแลนด์ . จึงมีแนวโน้มที่จะไปได้ทั้งสองทาง คือทางแรก นักการเมืองเล่นบทหางเครื่อง คอยผัดหน้าทาแป้งให้กับชนชั้นนำภาครัฐที่จะกุมอำนาจต่อในฐานะรัฐบาลประชาธิปไตย...

ทางที่สอง พรรคการเมืองส่วนใหญ่ผนึกกำลังกันทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ โดยมีข้อเสนอแนะหรือข้อโต้แย้งเชิงนโยบายที่แตกต่างจากแนวคิดของฝ่ายอนุรักษนิยม อันนี้ถ้าเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่เร้าใจยิ่ง

ข้อหลังนั่นเห็นท่าจะยิ่งกว่ายาก จากท่าทีของพรรคการเมืองที่กำลังตั้งท่าจะเล่นบท หางเครื่อง ให้กับพรรคทหาร อีกอย่าง คำว่า เกี๊ยเซี้ยที่ ดร.เสกสรรค์อ้างถึง น่าจะเป็นคำที่ อจ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นำมาใช้ในบริบทการเมืองเป็นรายแรก โดยมี อจ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ร่วมแจม

ปิดท้าย เสกสรรค์ ทิ้งประโยคที่เป็นหมุดหมายสำคัญในทางการเมืองไทยศตวรรษที่ ๒๑ ที่ใช้หลักรัฐศาสตร์อธิบายสภาพทางการปกครองแบบศตวรรษที่ ๑๘ ได้อย่างเหมาะเจาะว่า

ในวันนี้ ชนชั้นนำภาครัฐได้กลับมาสถาปนาอำนาจนำของตน และฟื้นบทบาทของรัฐราชการในยุคโลกาภิวัตน์ได้สำเร็จ 

เขายังให้ข้อคิดเสริม แบบว่าไม่รู้จะอมยิ้มหรือหน้าเหยดี ด้วยข้อแม้ “แต่สภาพดังกล่าวจะยั่งยืนแค่ไหน คงไม่มีใครตอบได้อย่างมั่นใจ