วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 26, 2559

เครือข่ายพลเมืองเน็ตขอชื่อหน่อย รณรงค์หยุด Single Gateway หลังสนช.รับหลักการร่างพรบ.คอมพิวเตอร์ (Change.org)





หยุด Single Gateway หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล

ร่วมรณรงค์ได้ที่ Change.org



เครือข่ายพลเมืองเน็ต




ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ....หรือร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นหนึ่งใน "ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล" ที่องค์กรภาคประชาชน 6 องค์กรและประชาชนมากกว่า 22,000 คนเคยเข้าชื่อเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณา และรัฐบาลรับปากจะแก้ไขให้ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ

เวลาผ่านไปหนึ่งปี พร้อมกับข่าวที่กระทรวงไอซีทีเสนอแนวคิด "Single Gateway" เพื่อให้ควบคุมข้อมูลจากต่างประเทศได้สะดวกขึ้น ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ดังกล่าวถูกปรับปรุงแล้วส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 21 เมษายน 2559 และคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบในวันเดียวกัน พร้อมทั้งส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมาย

วันที่ 28 เมษายน 2559 ที่ประชุมสนช.ได้พิจารณาร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ วาระที่ 1 โดยสมาชิกสนช.จำนวนหนึ่งอภิปรายว่า เนื้อหาของกฎหมายมีข้อห้ามเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลที่ "ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน" ถือเป็นความหมายที่กว้างและมีความเปราะบางมาก อาจถูกตีความไปในลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ แต่สนช.ก็ยังมีมติเอกฉันท์รับหลักการด้วยคะแนน 160 ต่อ 0 และส่งต่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างดังกล่าว และมีกำหนดส่งกลับให้สนช.พิจารณาวาระที่ 2 ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2559 และกระทรวงไอซีทีวางเป้าหมายประกาศใช้ภายในปีนี้

ร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ดังกล่าวมีปัญหาในแง่การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งจะรบกวนการทำงานของระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ปลอดภัย ดังนี้

1. มาตรา 14 (1) ของร่างที่แก้ไขใหม่ ยังถูกตีความให้นำมาใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ ทั้งที่เจตนารมณ์แท้จริงของกฎหมายมุ่งที่จะแก้ปัญหาการปลอมแปลงตัวตนเพื่อหลอกลวงออนไลน์เท่านั้น

2. มาตรา 14 (2) ของร่างที่แก้ไขใหม่ กำหนดฐานความผิดไว้อย่างคลุมเครือ เช่น ความผิดฐานโพสต์ข้อมูลเท็จที่กระทบต่อ "ความปลอดภัยสาธารณะ" หรือ "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ" ซึ่งไม่มีนิยามอยู่ในกฎหมาย การใช้คำที่ไม่ชัดเจนเช่นนี้ อาจส่งผลให้การบังคับใช้มีปัญหา เกิดการตีความโดยเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจในเวลานั้น

3. มาตรา 15 ของร่างที่แก้ไขใหม่ ให้อำนาจรัฐมนตรีออกประกาศเพิ่มเติมเรื่องหลักเกณฑ์และขั้นตอนวิธีการปิดกั้นเว็บไซต์ได้ ซึ่งปรากฏเอกสารของกระทรวงไอซีทีว่ามีการเตรียมการออกประกาศให้สามารถมีวิธีการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสเพื่อให้สามารถปิดกั้นเว็บไซต์ที่เข้ารหัสได้ และหากผู้ให้บริการ (เช่น อินเทอร์เน็ตเกตเวย์) ไม่ให้ความร่วมมือก็จะมีความผิด การกระทำดังกล่าวจะรบกวนระบบรักษาความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ต และทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดตกอยู่ในความไม่ปลอดภัย แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดใดเลยก็ตาม

4. มาตรา 20 (4) ซึ่งเพิ่มขึ้นมาใหม่ เรื่องการปิดกั้นเว็บไซต์ จะส่งผลให้เว็บไซต์ถูก "บล็อค" ได้ แม้ว่าเนื้อหาบนเว็บไซต์จะไม่ผิดกฎหมายใดๆ เลยก็ตาม หากคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์เห็นว่าเนื้อหาเหล่านั้น "ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี" ทั้งนี้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ทั้ง 5 คนมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ และร่างกฎหมายไม่ได้กำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจนของกรรมการ

ด้วยเหตุนี้ พวกเราประชาชนดังที่ลงชื่อ จึงเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ได้ทบทวนและแก้ไขร่างกฎหมาย 3 มาตราข้างต้นที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยพิจาณาแก้ไขร่างมาตรา 14 ให้มีความรัดกุมชัดเจน แก้ไขร่างมาตรา 15 ให้การออกมาตรการใดๆ ที่จะกระทบสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไปของประชาชนจะต้องผ่านกระบวนการการพิจารณาของรัฐสภาเท่านั้น และพิจารณาตัดมาตรา 20 (4) ออกจากร่าง

This petition will be delivered to:
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์