วันจันทร์, มีนาคม 28, 2559

ในมุมมองของภาครัฐ การปล่อยน้ำของจีนคือความจริงใจอย่างหนึ่งที่มิตรประเทศได้มอบให้ แต่ธารน้ำโขงที่หลั่งไหลมาแบบไม่ทันตั้งตัว ชัดเจนว่าได้สร้างความทุกข์มหาศาลให้แก่ประชาชนผู้อยู่อาศัยริมฝั่งน้ำโขง เชิญฟังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวันนี้





เขื่อนตัดขวาง ‘น้ำโขง’ ทุกข์ระทม 23 ปี
จีนไม่ยอมรับผิดต้นเหตุแล้งทุบประวัติศาสตร์

----------------------------------------------
... วีรทัศน์ อิงคภัทรางกูร

รัฐบาลจีนตัดสินใจปล่อยน้ำเพิ่มจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงเป็น 2 เท่าจากสถานการณ์ปกติ ระหว่างวันที่ 15 มี.ค.–10 เม.ย.2559 โดยแจ้งกับประเทศท้ายน้ำว่า สภาวการณ์ภัยแล้งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีแนวโน้มน่าวิตกมากขึ้น จึงทำการปล่อยน้ำเพื่อบรรเทาภัยแล้ง และป้องกันปัญหาดินเค็มจากน้ำทะเลไหลทะลักบริเวณปากแม่น้ำโขง

ส่วนหนึ่งในหนังสือที่กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้ง ระบุด้วยว่า การบริหารจัดการน้ำที่ดีโดยเฉพาะการสร้างเขื่อน ช่วยให้จีนมีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำได้ดีขึ้น สามารถปล่อยน้ำได้เพิ่มมากขึ้นถึง 70% ในช่วงน้ำแล้ง และมีศักยภาพในการกักเก็บน้ำมากขึ้น 30% ในช่วงน้ำหลาก มั่นใจว่าการสร้างเขื่อนของจีนจะยังประโยชน์ให้กับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และจีนมุ่งมั่นพัฒนาการบริหารจัดการน้ำ

ความซาบซึ้งยังส่งตรงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้กล่าวระหว่างลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาภัยแล้ง จ.อุดรธานี ว่า ประเทศมหาอำนาจอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาแจ้งประเทศไทยประเทศเดียวว่าปล่อยน้ำมาให้เพราะเราค่อนข้างมีสัมพันธ์ที่ดีกับเขา ไม่ใช่เป็นพวกอย่างที่ใครกล่าวหา แต่เราอิสระ เราต้องได้ประโยชน์จากทุกประเทศ จากความไว้เนื้อเชื้อใจ ลดความหวาดระแวง ได้ผลประโยชน์ที่เท่าเทียมตามหลักการรัฐบาล

ในมุมมองของภาครัฐ คล้ายกับว่าการปล่อยน้ำของจีนในครั้งนี้คือความจริงใจอย่างหนึ่งที่มิตรประเทศได้มอบให้ จากผลพวงของการสร้างเขื่อนซึ่งได้รับความเชื่อมั่นว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้ในทุกยุคทุกสมัย

แม้ความสุขจากธารน้ำใจในครั้งนี้อาจหลั่งไหลมาสู่ฝ่ายบริหารประเทศ แต่ธารน้ำโขงที่หลั่งไหลมาแบบไม่ทันตั้งตัว ชัดเจนว่าได้สร้างความทุกข์มหาศาลให้แก่ประชาชนผู้อยู่อาศัยริมฝั่งน้ำโขง

ทุกข์เสียจนต้องลุกขึ้นมารวมตัวกัน เพื่อเล่าถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวันนี้

----- 23 ปี ทุกข์ระทมจากเขื่อนจีน -----

จีระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย บอกเล่าถึงสถานการณ์แม่น้ำโขงในภาคเหนือว่า นับตั้งแต่ปี 2536 ที่เกิดเขื่อนม่านวาน เขื่อนตัวแรกบนแม่น้ำโขงในประเทศจีน ชาวบ้านก็ได้สังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่ไม่ปกติ จากช่วงฤดูกาลเดิมที่ชาวบ้านจะมีภูมิความรู้เรื่องการทำเกษตรริ่มฝั่งหรือการประมง คาดคะเนว่าแต่ละเดือนจะทำอะไรอย่างไรบ้าง แต่หลังมีเขื่อนเกิดขึ้นทุกอย่างแปรปรวน แม้ในช่วงฝนไม่ตกก็สามารถทำให้น้ำท่วมได้ กลายเป็นผลกระทบที่ได้รับมากขึ้นเรื่อยๆ และมากขึ้นอีกตามจำนวนเขื่อนที่ตามมา

"ชาวบ้านไม่สามารถใช้ภูมิรู้ที่มีอยู่เดิมในการดำรงชีวิตได้อีกต่อไป การประมงมีฤดูอพยพของปลาที่ต้องอาศัยความสมบูรณ์ของแม่น้ำ เมื่อขึ้นลงไม่ปกติปลาก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เปรียบเทียบแล้วจับได้ลดลงกว่าเมื่อก่อนถึง 90% แต่ชาวบ้านกลับถูกเป็นจำเลยว่าหาปลามากขึ้นทำให้ปลาน้อยลง หรือการเกษตรริ่มฝั่งที่เมื่อก่อนสามารถคำนวณได้ว่าจะเพาะปลูกอะไรเมื่อใด ปัจจุบันบางหมู่บ้านถึงกับเลิกทำไปเลย เพราะปีหนึ่งน้ำท่วมผลผลิต 3-4 รอบ ต้นทุนไม่เหลือ" จีระศักดิ์ อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น

เขายังยกตัวอย่างถึงสถานการณ์เลวร้ายอื่นที่เคยเกิดขึ้น เช่น ในปี 2551 ปริมาณน้ำโขงหนุนสูงขึ้นทางภาคเหนือตอนบน จนทะลักเข้าลำน้ำสาขา น้ำในแม่น้ำอิงถูกดันเข้าไปไกลถึง 40 กม. หรือแม่น้ำกกที่ไกล 60 กม. โดยความเสียหายของภาคการเกษตรที่ถูกประเมินในเวลานั้นสูงถึง 87 ล้านบาทแต่ไม่มีผู้ชดใช้ พอมาปี 2553 มีข่าวว่าเขื่อนจีนมีการกักน้ำ ปรากฏว่าน้ำโขงแห้งจนเรือในเส้นทางห้วยทราย-หลวงพระบาง ต้องหยุดไปกว่า 1 เดือน การท่องเที่ยวเสียหาย

"หลังจากนี้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนที่มีอยู่แล้ว หรือเขื่อนแม่น้ำโขงตอนล่างที่กำลังสร้าง ก็จะถาโถมให้ชาวบ้านยิ่งทุกข์หนักกว่านี้" จีระศักดิ์ กล่าว

----- ระดับน้ำวิปริต-อีสานสิ้นสูญรายได้ -----

จากภาคเหนือสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานการณ์ไม่แตกต่างกัน อ้อมบุญ ทิพย์สุนา กรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ประเทศไทย ฉายภาพว่า จากอดีตเมื่อแม่น้ำโขงลดลงตามธรรมชาติในช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ จะทำให้เกิดหาดทรายที่สวยงาม เกิดเกาะ แก่ง คก หรือระบบนิเวศแม่น้ำโขงมากกว่า 20 ระบบ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมจำนวนหลายพื้นที่ อาทิ สามพันโบก เป็นต้น เมื่อเกิดหาดหรือเกาะแก่งดังกล่าวแล้ว ชาวบ้านหลายรายมักมาตั้งซุ้มขายของ ส่วนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็มีรายได้จากภาษีร้านค้า

"สำหรับชาวอีสานแล้วงานบุญงานประเพณีนับว่ามีความสำคัญ หลายรายต้องไปทำงานเมืองหลวงเมื่อถึงเทศกาลก็อยากกลับมาเที่ยวกับครอบครัว ส่วนคนเมืองก็โหยหาอยากเห็นธรรมชาติ อยากชมเกาะ แก่ง โบก อยากกินปลาน้ำโขง สิ่งที่กระทบมากที่สุดตอนนี้จึงเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งจากการสำรวจรายได้ช่วงเดือน พ.ย.-พ.ค. เฉพาะที่หาดแห่สูงเกือบ 1 ล้านบาทต่อร้านค้า และมีอยู่กว่า 30 ร้านค้า ไม่นับรวมถึงพื้นที่จุดอื่น หรือมูลค่าทางจิตใจที่ต้องเสียไป" อ้อมบุญ เล่าสิ่งที่เกิดขึ้น

เธอฉายภาพเพิ่มเติมถึงผลกระทบว่า น้ำที่ขึ้นท่วมสูงทำให้ร้านค้าเพิงธรรมดาต้องปรับเปลี่ยนกลายเป็นกระต๊อบ เกิดการลงทุนเพิ่มและผลักภาระให้ลูกค้าโดยที่กำไรลดลง ส่วนฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหลือไม่ถึง 6 เดือนเหมือนเดิม ก็ทำให้ไม่สามารถวางแผนอะไรได้ นอกจากนี้การพังทลายของตลิ่งที่บางส่วนก็เป็นพื้นที่โฉนด ทำให้ประเทศท้ายน้ำต่างต้องทุ่มงบกับการแก้ปัญหาตลิ่งพัง หรือแม้แต่การที่ต้องแก้ปัญหาภัยแล้งเหล่านี้ แทนที่จะสามารถนำงบไปใช้พัฒนาประเทศ กลับต้องนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ

"ขนาดเขื่อนจีนที่อยู่ห่างอีสานไป 1,500 กม. ประกาศปล่อยน้ำ 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาทียังกระทบขนาดนี้ แล้วเขื่อนไซยะบุรีที่ห่างเพียงกว่า 200 กม. แต่กำลังจะปล่อยน้ำ 5,000 ลบ.ม.ต่อวินาทีเมื่อสร้างเสร็จ จะก่อให้เกิดผลกระทบขนาดไหน ขณะนี้เราต้องพูดถึงเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนได้แล้ว โดยเฉพาะล่าสุดเขื่อนปากแบงที่จะอยู่ห่างจากประเทศไทยไปเพียง 100 กม." เธอแสดงความวิตกกังวล

----- จีนไม่รับผิดทำน้ำโขงแล้งในรอบ 60 ปี -----

ปรากฏการณ์ผลกระทบจากเขื่อนจีนไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้น มนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานฝ่ายรณรงค์ โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) เปิดเผยว่า หากมองย้อนหลังไป 23 ปี นับตั้งแต่ปี 2536 ที่เกิดเขื่อนม่านวาน ซึ่งเป็นเขื่อนตัวแรกในประเทศจีน ก็ได้สร้างผลกระทบกับระดับน้ำโขงทันที โดยระดับน้ำในปีนั้นได้ลดลงต่ำสุดถึงขั้นวัดระดับไม่ได้ แต่เป็นช่วงสั้นเพียงไม่กี่วัน ประกอบกับข่าวสารที่ไม่รวดเร็วเท่าปัจจุบัน จึงอาจไม่เป็นที่รับรู้มากนัก

มนตรี เล่าต่อว่า นับตั้งแต่เวลานั้นระดับน้ำบนแม่น้ำโขงก็มีการขึ้น-ลงอย่างผิดปกติมาโดยตลอด จากการเพิ่ม-ลดของน้ำที่เป็นไปอย่างเชื่องช้าตามฤดูกาล กลับไม่สามารถคาดเดาได้อีกต่อไป ควบคู่ไปกับการสร้างเขื่อนในลำดับถัดๆ ไป จนกระทั่งในปี 2553 เมื่อเกิดเขื่อนเสี่ยววาน เขื่อนลำดับที่ 4 และเขื่อนที่มีขนาดสูงที่สุดบนแม่น้ำโขงของจีน

"ในปี 2553 แม่น้ำโขงได้เกิดภาวะแล้งที่สุดในรอบ 60 ปี จนจีนต้องถูกกดดันอย่างหนักให้หยุดการกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อน แต่สุดท้ายแล้วตัวแทนรัฐบาลจีนกลับออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่การกระทำของตน น่าเศร้ายิ่งไปกว่านั้น เพราะแม้กระทั่้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ยังสนับสนุนรัฐบาลจีนโดยระบุว่าการที่น้ำโขงแห้งลงนั้น เป็นไปเพราะสถานการณ์ภัยแล้ง หาใช่การเกิดขึ้นของเขื่อนไม่" เขาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต

จนถึงปัจจุบัน ปริมาณเขื่อนในประเทศจีนมีทั้งหมด 6 เขื่อน ความจุรวม 41,204 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 3 เท่าของความจุเขื่อนภูมิพล นั่นคือปริมาณน้ำที่ถูกกักไว้ในประเทศจีน ขณะนี้จีนจึงสามารถควบคุมน้ำของแม่น้ำโขงได้ทั้งหมดเกือบ 100%

มนตรี ยังอธิบายอีกว่า หากย้อนกลับไปดูสถิติย้อนหลัง 3 ปี จะพบว่าช่วงเวลานี้ คือช่วงเวลาปกติที่เขื่อนจีนจะปล่อยน้ำจำนวนมาก เพื่อให้สามารถเดินเรือสินค้าของประเทศตนจากสิบสองปันนาลงมายังเชียงแสนได้ในช่วงหน้าแล้ง ดังนั้นเหตุผลในการปล่อยน้ำของจีนนอกจากการเดินเรือแล้ว ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเพื่อการผลิตไฟฟ้าและเพื่อพร่องน้ำจากเขื่อนให้สามารถรับน้ำได้อีกในฤดูฝน

"จีนต้องออกมารับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นตลอด 23 ปีที่ผ่านมา และออกมาขอโทษต่อประชาชนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ไม่ใช่ทำการทูตที่เอาแต่ได้แบบนี้ และแก้ไขปัญหาด้วยการปล่อยน้ำให้เป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต" เขาสรุปทิ้งท้าย

ในวันที่ 23 มี.ค. 2559 กลุ่มประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ร่วมกันออกแถลงการณ์ถึงผู้นำ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งได้ประชุมร่วมกันที่ประเทศจีนเพื่อลงนามในกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ระหว่างวันที่ 22-24 มี.ค. 2559 โดยมีประเทศจีนเป็นผู้นำ พร้อมข้อเรียกร้อง 4 ประการ ได้แก่

1.ยอมรับและนำปัญหาที่เกิดจากเขื่อนจีนขึ้นมาพิจารณาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาข้ามพรมแดนอันไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและการใช้แม่น้ำโขงของประเทศท้ายน้ำ 2.ร่วมหาทางแก้ไขบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นทันที และเยียวยาความเสียหายที่ผ่านมา 3.หยุดและชะลอการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ที่กำลังเดินหน้าไปอย่างขาดการมีส่วนร่วม และ 4.สร้างกลไกในการบริหารจัดการแม่น้ำโขงอย่างรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมทั้ง 6 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของชุมชนซึ่งเป็นผู้ที่เดือดร้อนโดยตรง

"แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่เป็นดังมาตุธารของอุษาคเนย์ เราใช้สายน้ำนี้ร่วมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อย่าปล่อยให้ใครนำทรัพยากรส่วนรวมไปเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง" แถลงการณ์ของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ระบุ

----- มติร่วม 6 ประเทศ ตั้งศูนย์ติดตามน้ำโขง -----

ในที่สุดเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2559 ภายหลังการประชุมกรอบความร่วมมือดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปิดเผยว่าที่ประชุมมีมติตกลงจัดตั้งศูนย์ติดตามเรื่องการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงท้ายน้ำ หากมีการตั้งศูนย์ฯ เรียบร้อยจะเป็นการแจ้งเตือนล่วงหน้าว่าจะมีการปล่อยน้ำมาเมื่อไร อย่างไร พร้อมพิจารณาร่วมกันถึงการปล่อยน้ำ

นับเป็นความคืบหน้าล่าสุดภายหลังความพยายามกว่า 6 ปี นับตั้งแต่การประชุม MRC Summit เมื่อปี 2553 ที่ได้มีการเรียกร้องให้จีนเปิดเผยข้อมูลของเขื่อนและกระแสน้ำ จนในที่สุดจีนตกลงร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำในช่วงฤดูแล้งเพื่อลดปัญหาภัยพิบัติ

แต่จนปัจจุบันข้อมูลเดียวที่จีนเคยเปิดเผย คือข้อมูลระดับน้ำของสถานีจินฮง ระหว่างเดือน มิ.ย.-ต.ค.ของทุกปี ที่แทบไม่เกิดประโยชน์ใดๆ
----------------------------------------------
http://www.greennewstv.com/?p=8817h
ภาพจาก: TERRA

ที่มา FB