วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 27, 2559

อ้างว้างกับตะวันตก เพราะอยากอยู่ยาว เลยต้อง ซบอก ค่ายเผด็จการ รัสเซีย จีน





บอกแล้วเชียวว่าสองทั่นรองฯ รัฐบาลฮุนต้าเยือนมอสคาวส์ ต้องได้อะไรติดมือมาไว้ตั้งแสดงวันเด็กแน่ๆ

...รถถังไง

พล.ต.คงชีพ ตันตระวานิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมแถลงผลการเยือนรัสเซียของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และนายสมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ ว่านายดิมิตรี เม็ดเวเดฟ นายกรัฐมนตรี (คนที่สลับตำแหน่งไปมากับประธานาธิบดีวราดิเมียร์ ปูติน) ของรัสเซีย สนองรับความกระหายอยากได้ยุทโธปกรณ์ของไทยอย่างเต็มที่

ส่วน แอนโธนี่ เดวิส แห่งศูนย์วิจัยด้านความมั่นคงของสำนัก ไอเอชเอสเจนส์ ที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ เผยกับ น.ส.พ.บางกอกโพสต์ ว่า “ปัญหาที่ประเทศไทยมีกับการซื้อรถถังจากยูเครน เป็นโอกาสทองของรัสเซียได้เข้ามาแซม

“ผลิตภัณฑ์อาวุธหนักของรัสเซีย อย่างเช่นรถยานเกราะสำหรับการศึกที่กองทัพบกไทยต้องการ มีคุณภาพสูงในขณะที่สนนราคาต่ำกว่ายุทโธปกรณ์ระดับเดียวกันจากประเทศตะวันตก”

พล.ต.คงชีพบอกด้วยว่า ประเทศไทยเสนอขายสินค้าเกษตรกรรมแก่รัสเซียแลกเปลี่ยนกัน แต่ข้อมูลสถิติชี้ให้เห็นว่า “ปีที่แล้วไทยขาดดุลการค้ากับรัสเซียอยู่ ๙๒๙ ล้านดอลลาร์”

และต่อจากนี้รัสเซียจะสามารถส่งสินค้าของตนออกมาสู่ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านประเทศไทยได้ด้วย (นี่ไง เจ๋งแมะ)

จุ๊ จุ๊ อย่าเพิ่งเอ็ดไป งานนี้ไม่ใช่ไทยถูกรัสเซียใช้เป็นนกต่อเท่านั้นหรอกนะ ถ้าฟังจากที่ ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์ไว้




“ในมุมมองที่กว้างออกไปประเทศไทยต้องบ่ายหน้าไปทางอำนาจนิยมอีกนาน การนำรัสเซียเข้ามาร่วมประสานจะช่วยลดการพึ่งพาจีนลงไปได้” ดร.ฐิตินันท์เชื่อว่าการเข้าไปซบอกรัสเซียทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองทั้งกับจีนและตะวันตก

ซึ่งต่างกับความเห็นของนายแอนโธนี่แห่งไอเอชเอสเจนส์ ที่คิดว่าเป็นจังหวะเหมาะของทั้งจีนและรัสเซียซึ่งมีปัญหากับสหรัฐอยู่มากกว่า จากการที่ไทยอ้างว้างแหนงหน่ายกับประเทศตะวันตก จีนกับรัสเซียจึงสบช่องสอดเข้ามาทอดสะพานยุทธศาสตร์ทะลวงท้องที่เอเซียอาคเนย์ได้พอดี

(http://www.bangkokpost.com/…/87…/regime-seeks-russia-backing)

ที่ว่าไทยอ้างว้างกับตะวันตกน่าจะเป็นเพราะ คณะทหารผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินไทยต้องการสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อไปอีกนาน ไม่ยอมรับฟังเสียงท้วงเสียงประณาม กลับหันไปหาค่ายเผด็จการเป็นทางออก ทั้งที่รัสเซียกับจีนไม่ได้เข้มแข็งมั่นคงเท่าที่อาจมุ่งหวัง

รัสเซียกำลังประสบปัญหาจากราคาน้ำมันโลกตกต่ำสุดสุด จีนก็เจอมรสุมตลาดหุ้นร่วงฮวบ การสยายปีกโอบแขนห่อหุ้มอุ้มไทยจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองมหาอำนาจจาก Dark Side มากกว่าที่ไทยจะได้รับอย่างแน่นอน

ซ้ำร้ายจะยิ่งทำให้ไทยถูกตัดหางปล่อยวัดจากแวดวงตะวันตกหนักขึ้นในอนาคต

แม้แต่เวลานี้เองขณะที่ คสช. เร่งกระชับอำนาจเขียนรัฐธรรมนูญยืดเวลายึดครองออกไป แรงกดดันจากองค์กรนานาชาติก็ยิ่งบีบรัด ตราบเท่าที่คณะรัฐประหารยังคงคุกคามทำร้ายประชาชนที่ทนไม่ได้กับการกดขี่อยู่ต่อไป

เมื่อวานนี้ (๒๖ กุมภาพันธ์) สหพันธ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กับสหภาพสิทธิมหาชน สององค์กรนานาชาติที่ตรวจสอบการละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และทำรายงานประจำทุกปี ออกมาระบุว่าประเทศไทยเพิ่มจำนวนผู้ต้องหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากเมื่อตอนคณะทหารยึดอำนาจถึง ๙ เท่า




คือเพิ่มจาก ๖ คดีเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๕๗ มาเป็น ๕๓ คดีเมื่อเสาร์ที่แล้ว โดยที่ยังอยู่ในระหว่างดำเนินคดี ๑๘ ราย และตัดสินจำคุกไปแล้ว ๓๕ ราย รวมทั้งสองนักศึกษาผู้เล่นละคร ‘เจ้าสาวหมาป่า’ น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง (กอล์ฟ) กับนายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ซึ่งเพิ่งถูกศาลอาญาตัดสินจำคุกคนละ ๒ ปี ๖ เดือน หลังจากที่ถูกกักขังควบคุมตัวมาแล้ว ๗ เดือน

ในรายงานจากกรุงปารีสชื่อ “36 and counting - Lèse-majesté imprisonment under Thailand’s military junta” ยังแจ้งว่า “จำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายคนต้องถูกควบคุมตัวเป็นเวลานานระหว่างรอการพิจารณา และมักถูกปฏิเสธอย่างเป็นระบบไม่ให้ได้รับการประกันตัว ส่งผลให้มีการละเมิดอย่างมากต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน

โดยในจำนวน ๖๖ คนที่ถูกจับกุมในข้อหาละเมิดมาตรา ๑๑๒ หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ มีเพียงสี่คน (๖%) ที่ได้รับการประกันตัวระหว่างรอการพิจารณา

จนถึงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ (จำนวน) ๖๑% ของจำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่างถูกควบคุมตัวมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งปี ระหว่างรอการพิจารณา โดย ๒๘% ถูกควบคุมตัวมาเกือบหกเดือนแล้ว”

(https://www.fidh.org/%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/19399)

องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งสองแห่งตั้งข้อกังขาต่อการใช้กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ อย่างซ้ำซากติดนิสัย ก้าวล้ำสิทธิอันจะนำไปสู่อิสรภาพ การได้รับพิจารณาคดีอย่างเที่ยงธรรม และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ซึ่งเป็นการละเมิดต่อพันธะกรณีที่ประเทศไทยรับรองว่าจะเชิดชูรักษาตามข้อตกลงในทางสากล

ขณะที่ “กระทรวงการคลังแถลงภาวะเศษฐกิจเดือน ม.ค. ๒๕๕๙ พบว่าดัชนีหลายตัวส่งสัญญาณไม่ดีนัก โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกที่ชะลอตัวมาก




นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย ปรับตัวลดลงในรอบสี่เดือน มาอยู่ที่ระดับ ๖๔.๔ เนื่องจากผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า

และได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน”

(http://www.posttoday.com/analysis/economy/418498)

หนึ่งในตัวแปรของความไม่แน่นอนและสั่นคลอนในระบบเศรษฐกิจโลก ก็คืออักษะแห่งอำนาจนิยม รัสเซียกับจีน นั่นแล