วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 26, 2558

ประยุทธ์ ผู้ไม่เคยเตือนตนเอง




เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ออกแถลงการณ์เตือนนายกรัฐมนตรีหยุดอ้างกฎหมายที่ไร้ความชอบธรรมข่มขู่คุกคามประชาชน

เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ออกแถลงการณ์อีกฉบับ ย้ำคำสั่ง คสช.ที่ใช้กล่าวหาบุคคลว่ากระทำผิดกฎหมาย เป็นสิ่งที่ขาดความชอบธรรม เตือนนายกรัฐมนตรีกำลังแสดงความเห็นในเชิงข่มขู่คุกคาม ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ระบุคณาจารย์ควรแสดงความเห็นในกรอบของกฎหมาย และ คสช.ไม่สามารถปล่อยให้ชุมนุมเคลื่อนไหวได้เพราะอาจเกิดอันตราย

วันนี้สื่อในไทยเมืองไทยหลายสำนักรายงานถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบข้อซักถามเรื่องที่อาจารย์มหาวิทยาลัย 323 คนร่วมลงชื่อยื่นหนังสือเรียกร้อง คสช. ให้ยุติการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าเป็นอาจารย์กลุ่มเดิมซึ่ง คสช.และทหารเคยไปพูดคุยแล้วว่าขอให้พูดในเรื่องของกรอบของกฎหมาย

สำนักข่าวไทยรายงานคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนหนึ่งที่ว่า “สอนเด็กให้เป็นคนดี ไม่ทำผิดกฎหมายไม่ได้หรือ สอนแบบที่คนทั่วไปเขาสอนกัน ไม่ปลุกระดม และการที่ขู่ว่าจะยกระดับการเคลื่อนไหวให้เข้มข้นขึ้น ถ้าไม่กลัวกฎหมายก็ทำเลย และหากใครจะเข้าร่วม ขอให้ดูด้วยว่า เป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ หากผิด ก็ต้องโดนด้วยเช่นกัน ผมยอมให้เคลื่อนไหวไม่ได้ เดี๋ยวก็กลับไปมีปัญหาเหมือนเดิม ก็ต้องตัดไฟเสียก่อน หากจะมาเดินชุมนุมรวมกัน แล้วมีใครเอาปืนไปยิง เอาระเบิดมาขว้างใส่ มีความสูญเสีย ใครจะรับผิดชอบ ไม่กลัวหรือ ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าผมสั่ง หรือผมจะไปทำ ประชาธิปไตยแบบไม่มีขีดจำกัด อีกหน่อยพวกเขาก็คงไม่ฟังพ่อแม่เลย”

ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ฉบับที่ 7 ของเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ ระบุว่า คำสั่งของ คสช.เองขาดความชอบธรรม เพราะไม่ได้รับการยินยอมจากประชาชนจำนวนมาก และพล.อ.ประยุทธ์เอง ไม่สามารถอาศัยคำสั่งที่ผิดกฎหมายดังกล่าวมาเป็นหลักหมายให้บุคคลประพฤติตามได้

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่าคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ว่าการแสดงความเห็นของนักวิชาการอาจเป็นเหตุให้มีผู้มายิงหรือปาระเบิดใส่จนล้มตายนั้นเป็นคำกล่าวที่มีลักษณะข่มขู่คุกคาม แม้จะอ้างว่าตนจะไม่เป็นผู้กระทำก็ตาม เพราะเป็นคำกล่าวที่มีลักษณะยั่วยุชี้นำ และสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งในฐานะผู้นำประเทศการกล่าวโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบเช่นนี้จะยิ่งส่งผลเสียหายให้กับประเทศเป็นทวีคูณ

เครือข่ายคณาจารย์ฯ เห็นว่า คสช.ควรเปิดโอกาสให้บุคคลได้แสดงความคิดเห็นอย่างแตกต่างหลากหลาย หยุดดำเนินคดีและข่มขู่คุกคามการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสุจริตและอย่างสันติ รวมทั้งเห็นว่า คสช. ควรเรียนรู้ที่จะ “แลกเปลี่ยนทัศนคติ” กับผู้ที่เห็นต่างแทนการ “ปรับทัศนคติ”

Credit
บีบีซีไทย - BBC Thai
Wanchalearm Satsaksit