วันเสาร์, ตุลาคม 17, 2558

เห็นข่าวทูตสหรัฐคนใหม่ไปเยี่ยมคำนับ รมว. ต่างประเทศไทยเมื่อสองวันก่อนแล้วใจชื้น นาย กลิน เดวี่ส์ ย้ำจุดยืนชัดเจน “ต้องการให้ไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว”





เห็นข่าวทูตสหรัฐคนใหม่ไปเยี่ยมคำนับ รมว. ต่างประเทศไทยเมื่อสองวันก่อนแล้วใจชื้น

จากเนื้อหาสั้นๆ ตามรายงานบีบีซีไทย - BBC Thai นาย กลิน เดวี่ส์ ย้ำจุดยืนชัดเจน “ต้องการให้ไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว”

ส่วนที่ควรแก่การสนใจกว่านั้น อยู่ที่การให้สัมภาษณ์สื่อตอนหนึ่งที่ไม่ปรากฏในข่าว แต่มีคนจับความนำมาเอ่ยถึงบนสื่อโซเชียลว่า ทางสถานทูตจะออกไปคุยกับประชาชนไทยโดยตรง เพื่อหาข้อสรุปปัญหาของประเทศไทย และความรู้สึกแท้จริงของคนไทย

คราวนี้ไม่ว่าไก่อู ไก่โต้ง หรือไก่สามอย่าง (tri-pillars) จะอ้างว่าต่างชาติไม่เข้าใจความเป็นไทยๆ คงไม่ได้แล้วละ

โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการบังคับใช้กฏหมาย และ/หรือ due process of law ในแบบสากล

ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสที่ประชาชนทั่วไปจะได้แจ้งให้ทูตสหรัฐทราบโดยตรงถึงความอึดอัดขัดข้องใจต่างๆ เพื่อที่เขานำข้อมูลไปปรับให้เข้ากับนโยบายเกื้อหนุนประเทศไทย ได้ “กลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว” ดังหวัง




อย่างเรื่องการพิจารณาคดีโดยลับ พิพากษาชายวัย ๖๘ ปีซ้ำซ้อน ข้อหาเขียนข้อความหมิ่นสถาบันกษัตริย์บนบานประตูห้องน้ำห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง

นายโอภาสถูกพิพากษาผิดและจำคุกในข้อหาอย่างเดียวกันมาแล้วเกือบครบกำหนดโทษ ๑ ปี ๖ เดือน มาบัดนี้ศาลอาญาพิพากษาซ้ำความผิดกรรมเดิม แต่ต่างวัตถุความผิด คือฝาห้องน้ำอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นการเขียนต่อเนื่อง “แทบจะเป็นเวลาเดียวกัน” (ตามข้อต่อสู้ของทนายจำเลย)

ให้เป็นความผิดกระทงที่สอง ลงโทษจำคุกอีก ๑ ปี ๖ เดือน ต่อเนื่องจากการจำคุกครั้งก่อน นี่ในฐานกรุณาที่จำเลยยอมรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งเช่นครั้งก่อน และเพราะกรุณาแล้ว (โทษน้อยต่างกับคดี ๑๑๒ อื่นที่ล้วนต้องโดนอย่างบักโกรกเป็นสิบๆ ปีกันทั้งนั้น) จึงไม่กรุณาอีกที่จะรอลงอาญาตามคำร้องทนายจำเลย

(ดูรายละเอียดที่นี่ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/16/opas_second-case/)

อีกข่าวอันเป็นประเด็นที่องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ แม้กระทั่งทางการสหภาพยุโรป ยกขึ้นมาทักท้วง และเรียกร้องต่อรัฐบาลทหารไทยบ่อยครั้ง ก็คือการเรียกตัว ไปนำตัว ควบคุมตัวบุคคลที่แสดงความคิดเห็นไม่ตรงตามที่คณะทหารต้องการ เพื่อการปรับทัศนคติ ซึ่งในโลกอารยะถือว่าเป็นกรรมวิธีที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างหนักหน่วง

ล่าสุดนักกิจกรรมอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นที่รู้จักกว้างขวาง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ถูกนำตัวไปเข้าค่ายปรับทัศนคติ จากการที่เขายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้สอบจริยธรรมหัวหน้า คสช. และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งพี่และน้องของนายวิษณุสองคนเข้าไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป (สปท.)

(http://prachatai.org/journal/2015/10/61957)

หรือแม้แต่การพยายามเรียกค่าเสียหายจากอดีตนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งถูกรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ ต่อนโยบายจำนำข้าวที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ชี้ผิดในฐานะผู้บังคับบัญชา

แต่คดีในทางศาลยังไม่สิ้นสุด ตัวเลขความเสียหายยังไม่เป็นที่ยุติ กลับปรากฏว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีออกมาวินิจฉัยด้วยตัวเองให้ คสช. ใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครอง เรียกเก็บค่าเสียหายจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ราว ๕ ถึง ๗ แสนล้านบาท)

โดยที่ไม่มีใครในภาคส่วนองค์กรผู้สนับสนุนรัฐบาลชุดเลือกตั้งสามารถทัดทานรัฐบาลที่มาจากอำนาจรัฐประหารชุดนี้ได้ แม้แต่การเขียนจดหมายเปิดผนึกของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ วิงวอนคณะทหารให้ความเป็นธรรมตามกระบวนศาล ก็ยังถูกปัดสวะออกไป

เสียงสะท้อนจากสื่อสังคมภาคประชาชนไปสู่รัฐบาลมหาอำนาจฝ่ายประชาธิปไตยผ่านทางสถานทูตเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งจิตสำนึกความถูกต้องตามหลักการสิทธิมนุษยชนและนิติธรรม (Rule of Law) ในหมู่คณะทหารผู้ปกครองได้บ้าง

คอลัมน์ ‘ใบตองแห้ง’ หนังสือพิมพ์ข่าวสด กล่าวถึงประเด็นการใช้ พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาบังคับใช้เพื่อเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไว้น่าสนใจ

“กฎหมายที่ออกมา ๑๙ ปี เพิ่งฮือฮา ต้องบอกว่าเป็นกฎหมายคุ้มครองให้ความเป็นธรรมเจ้าหน้าที่นะครับ คือก่อนปี ๒๕๓๙ ใครปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอกหรือต่อหน่วยงานของรัฐเอง ก็ถูกไล่เบี้ยเต็มจำนวนทุกกรณี

กฎหมายนี้เห็นว่าไม่เป็นธรรม ข้าราชการทำดีมาตลอด พลาดครั้งเดียวอาจฉิบหายขายตัว จึงบัญญัติว่าคุณต้องรับผิดเมื่อ ‘จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง’ เท่านั้น ซ้ำให้ดูความเป็นธรรมไม่ต้องชดใช้เต็มจำนวน”

Atukkit Sawangsuk ผู้เขียนได้อธิบายเพิ่มเติมในหน้าเฟชบุ๊คของเขาว่า

“ถ้าวิษณุพูดว่าเป็นเรื่อง ‘ปล่อยปละให้ทุจริต’ ก็ทำได้ แต่ต้องเข้าตามกฎหมายคือ ‘จงใจ’ หรือ ‘ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง’

โดยอันดับแรก จะต้องกำหนดให้ชัดว่าเกิดความเสียหายจากการทุจริตเท่าไหร่ (ตัวเลขยังไม่ยุติเลย) เกี่ยวข้องกับยิ่งลักษณ์อย่างไร (บุญทรงทุจริต หรือโรงสี เจ้าหน้าที่ อตก.ทุจริตกันที่พิจิตร พิษณุโลกโน้น) ยิ่งลักษณ์ประมาทเลินเล่อร้ายแรงอย่างไร

จะมาพูดง่ายๆ ว่า ปปช.เตือนแล้ว ‘อีปู’ ไม่ยอมยกเลิกนโยบาย ไม่ได้หรอก”

ขณะที่ทางด้านคดีคล้ายคลึงกันที่รัฐบาลจากการ ‘บีบตั้ง’ ในค่ายทหาร โครงการประกันราคาข้าวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกฟ้องว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นเช่นกัน คดีอยู่ที่ ปปช. เจ้าเดียวกัน แต่เสร็จยาก ลากยาว ทั้งที่มีมาก่อนยิ่งลักษณ์จำนำข้าว




นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ปปช. ที่มีเสียงแซ่ซร้องไม่น้อยว่าซี้ปึกกับพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงคดีประกันราคาข้าวว่า “ไม่ได้หมายความว่านโยบายประกันราคาข้าวไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น แต่พบว่ามีการทำให้เกิดสิ่งทีเรียกว่าการทุจริตเชิงนโยบายได้”

“ถามว่าทำไมคดีนายอภิสิทธิ์ถึงยังไม่จบ เพราะมีปัญหาเรื่องการส่งเอกสารต่างๆ และการให้ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งในด้านของการไต่สวนอยู่ในระหว่างกระบวนการ และล่าสุดได้สรุปความเห็นแล้วว่าต้องมีคนผิด ไม่ผิดไม่ได้ เพราะว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง”

“ขณะนี้เราใกล้จะแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว และจะดูว่าต้องแจ้งใครบ้าง”

(http://www.isranews.org/isranews…/…/35842-wicha_898_02.html…)

อ๊ะ ป่านนี้ยังไม่รู้ว่าจะแจ้งข้อหาอะไร แจ้งใคร ไหงต่างกับอีกคดีที่มาทีหลัง เสร็จไว ซ้ำไม่ได้พบว่าทุจริตชัดแจ้ง แค่เชื่อว่าจะเกิดการทุจริตได้ ก็ฟันเขาไปเสียแล้ว

อย่างนี้แหละที่สื่อต่างประเทศเขารู้กันอยู่ ดูสำนวนคดีก็มองออกแล้วว่าบิดเบี้ยวอย่างไร เพียงแต่ในระดับรัฐบาลเช่นสหรัฐ ที่ยังพอมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนอยู่บ้าง และยังอรุ่มอร่วยสูง ไม่ขวานผ่าซากเหมือนสภาอียู ก็ต้องค่อยๆ แยง ค่อยๆ นวดไป และการที่ทูตคนใหม่จะหารายละเอียดความจริงจากชาวบ้าน จะช่วยให้นาบได้ถนัดขึ้น ถ้าขืนคณะตะหานยังอ้อยอิ่งครอบงำปกครองกันไม่สิ้นสุด

จึงเป็นพันธะของฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องให้ข้อมูลความจริงต่อบรรดาประเทศพัฒนาทางประชาธิปไตยทั้งหลายให้คณะทหารรู้ว่า โกหกภายในกะลาครอบได้ แต่โกหกคนทั้งโลกไม่ได้

โดยเฉพาะในเรื่องว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง การฉ้อโกงในระบบจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ รวมไปทั้งการเลินเล่อ ปล่อยให้มีการทุจริตเกิดขึ้น อย่างเช่นกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด จีที ๒๐๐ ที่กองทัพบกในสมัย พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการ จัดซื้อในราคาอันละ ๑.๓ ล้านบาท




รัฐบาลไทยซื้อแท่ง จีที ๒๐๐ มา ๑,๕๐๐ อัน ผลาญงบประมาณทั้งสิ้นไปกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท แต่ปรากฏว่าจีที ๒๐๐ เป็นเพียงแท่งตรวจหาลูกกอล์ฟธรรมดา ราคาท้องตลาดอย่างดีก็แค่ ๖๐๐ กว่าบาท

เมื่อปีที่แล้วสองสามีภรรยาผู้นำแท่งตรวจหาลูกกอล์ฟมาดัดแปลงแล้วอ้างว่าเป็นเครื่องตรวจระเบิดเริด Alpha 6 จัดจำหน่ายให้แก่รัฐบาลต่างชาติหลายแห่งรวมทั้งไทย ถูกตัดสินในอังกฤษให้จำคุกฐานฉ้อโกง

นักธุรกิจอีกสองคนชื่อ เจมส์ แม็คคอมิก กับแกรี่ โบลตัน ก็ถูกตัดสินจำคุกต่างกรรมต่างวาระในข้อหาหลอกลวงขายแท่งตรวจระเบิดจากการดัดแปลงของสองสามีภรรยา แซมมวล และโจน ทรี ให้แก่รัฐบาลไทย

(http://www.bbc.com/news/uk-29477894)

การนี้ กานดา นาคน้อย อาจารย์เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยคอนเน็คติกัต เขียนไว้บนหน้าเฟชบุ๊คอ้างถึงรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Washington Times เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่ระบุถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“the army deploys them against Islamist rebels despite a U.S. Embassy warning that the devices are as useless as ‘a toy’.”

(http://www.washingtontimes.com/…/security-forces-30-milli…/…)

“ข่าว (เก่า) ชิ้นนี้บอกว่ากองทัพไทยยังคงซื้อ GT200 เพิ่มเติมมากกว่า 1,500 เครื่องและมีมูลค่าราวๆ 1,000 ล้านบาทแม้ว่าสถานทูตสหรัฐฯแจ้งเตือนแล้วว่ามันคือเครื่องปลอมๆ การจัดซื้อก่อนสถานทูตสหรัฐฯเตือนก็พอแก้ตัวได้ว่าฝ่ายตรวจอาวุธทำงานไม่รอบคอบ ไม่ใช่ว่าอาวุธไม่มีประสิทธิภาพแต่ใช้งานไม่ได้เลยต่างหาก

แต่ที่แน่ๆ การจัดซื้อหลังสถานทูตสหรัฐฯเตือนแล้วนั้นแสดงเจตนาทุจริตนะ ถ้าปปช.อ้างว่าต้องหา ‘เจตนา’ทุจริต ก็สามารถตรวจสอบการจัดซื้อหลังจากที่สถานทูตสหรัฐฯ เตือนแล้ว” ดร. กานดา เน้น

จะเห็นว่าสถานทูตสหรัฐอยู่ในฐานะให้คำแนะนำแก่รัฐบาลไทยได้ด้วยการที่ผ่านทาง Strategic Commands สำนักเพ็นตากอนเคยเป็นพี่เอื้อยของคณะทหารไทย (เช่นเดียวกับทหารอียิปต์) อีกทั้งปัจจุบันมีการซ้อมรบ Cobra Gold ร่วมกับกองทัพไทย อันเป็นที่มาของ nourishments ต่างๆ ทางทหาร (เพิ่งยับยั้งไปหลังจากการรัฐประหาร)

ทว่า ปปช. โดยประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อกล่าวหา “จัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที ๒๐๐ โดยมิชอบ” นายวิชัย วิวิตเสวี กลับบอกว่า

“การไต่สวนคดีนี้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากเป็นเรื่องลึกลับ แน่นอนว่าประสิทธิภาพของจีที ๒๐๐ ไม่ได้คุณภาพ แต่การจะวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือไม่ยังต้องการอะไรมากกว่าเรื่องของประสิทธิภาพ

เพราะเรื่องการตัดสินใจและเจตนาการจัดซื้อของเจ้าหน้าที่พิสูจน์ลำบาก ส่วนการแสวงหาพยานหลักฐานก็มีข้อขัดข้องทางเทคนิค โดยเฉพาะการขอความร่วมมือไปยังบริษัทที่จำหน่ายในประเทศอังกฤษก็ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลต่อ ป.ป.ช.”

(http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1444984036)

ถ้าเป็นในประเทศตะวันตก เขาจะบอกว่า “Duh, the info news is there, what else do you need for an exhibit?”

นี่ยังไม่จับประเด็นบัญชีเงินฝากเมียน้องนายกฯ ที่บังเอิญเป็นเงินจากงบฯ กองทัพภาค ๓ มีคนยื่นข้อกังขาไว้กับ ปปช. กลับได้รับการชี้แจงว่า เงินน่ะมีจริง แต่เจ้าของบัญชีไม่จงใจแจ้งทรัพย์สินเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงนะ ตะเอง