วันศุกร์, สิงหาคม 21, 2558

“สุรชาติ บำรุงสุข” ชี้ระเบิดราชประสงค์เป็นสัญญาณเตือนภัยให้เตรียมรับมือปัญหาทุกด้านไม่เฉพาะการก่อการร้าย



ที่มา BBC Thai

“สุรชาติ บำรุงสุข” ชี้ระเบิดราชประสงค์เป็นสัญญาณเตือนภัยให้เตรียมรับมือปัญหาทุกด้านไม่เฉพาะการก่อการร้ายเพราะเมืองคือแนวรบใหม่ ทั้งยังต้องป้องกันตัวเองด้วยนโยบายต่างประเทศที่สร้างมิตรกับมหาอำนาจทั้งตะวันตกและตะวันออก ระบุในการเมืองระหว่างประเทศต้องใช้สติไม่ใช่อารมณ์

นักวิชาการด้านความมั่นคงและด้านการต่างประเทศจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ว่า เหตุการณ์วางระเบิดที่ราชประสงค์เมื่อ 17 ส.ค.ที่ผ่านมาน่าจะนับได้ว่าเป็นการก่อเหตุรุนแรงหนที่ใหญ่ที่สุดที่กรุงเทพฯเคยมี แต่ทว่าไม่ใช่หนแรก เหตุการณ์โจมตีในกรุงเทพฯที่เคยเกิดและเป็นครั้งที่สำคัญคือการวางระเบิดในเมืองถึง 8 จุดในช่วงของการฉลองปีใหม่เมื่อปี 2549 แต่ครั้งนั้นเจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ได้หมด ในวันนี้ระเบิดที่ราชประสงค์นับเป็นเครื่องเตือนใจถึงความเป็นพื้นที่ที่เปราะบางของเมือง เพราะการก่อเหตุรุนแรงในสมัยใหม่นั้นกลุ่มก่อเหตุมักย้ายมาทำในเมืองเนื่องจากจะได้รับความสนใจมากกว่าการก่อเหตุในชนบทซึ่งเป็นรูปแบบในสมัยสงครามคอมมิวนิสต์หรือสงครามเย็น

สุรชาติชี้ว่าในปัจจุบันเมืองใหญ่ไม่ว่าในที่ใดได้กลายเป็นแนวรบด้านความมั่นคงรวมทั้งปัญหาอีกหลายอย่างตั้งแต่เรื่องของการจราจล ภัยธรรมชาติ และการก่อการร้าย ผู้บริหารต้องทำให้เมืองสามารถป้องกันตัวเองเพราะแนวโน้มเมืองจะกลายเป็นพื้นที่เช่นนี้มากขึ้น เนื่องจากได้กลายเป็นพื้นที่รองรับความขัดแย้งอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่เหตุการณ์ 11 ก.ย. 2544 หรือที่เรียกกันว่า 9/11 เขายกตัวอย่างว่าในหลายประเทศในตะวันตกที่เผชิญภัยเช่นนี้มาแล้ว และต่างต้องวางแผนรับมือยามวิกฤติ เช่นกรุงลอนดอนเคยมีปัญหาการก่อเหตุจากกลุ่มไอร์อาร์เอ และหนหลังสุดคือการวางระเบิดรถไฟใต้ดิน ต้องวางแผนรองรับในยามเกิดเหตุซึ่งมีหลายด้าน เช่นเรื่องของการขนส่ง การจัดการสถานที่สาธารณะต่างๆ บวกกับการจัดการกับปัญหาข่าวลือซึ่งเขาเรียกมันว่าอาฟเตอร์ชอคจะที่ติดตามมาเหมือนเป็นระลอกคลื่น ซึ่งหากเป็นพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ที่มีประสบการณ์รับมือมานานนับสิบปี เจ้าหน้าที่และคนทั่วไปรู้ว่าจะทำอย่างไร ในขณะที่กรุงเทพฯอยู่ในสถานการณ์ปกติมานาน การก่อการร้ายเป็นสิ่งที่จะกระตุ้นอารมณ์ของคนเนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัว สิ่งที่จะตามมาคือความตื่นตระหนก การจัดการในปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นในกรณีระเบิดราชประสงค์ต้องมีข้อมูล

“มันต้องการเวลาอีกสักช่วงในการรวบรวมหลักฐานเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปว่าอะไรเป็นต้นเหตุ ปัจจัยภายนอกหรือภายใน ความน่ากลัววันนี้อยู่ที่ว่าภาครัฐใจร้อนและด่วนสรุปไปนิด ผมคิดว่าวันนี้ สิ่งที่เราอยากเห็นการคือการให้ข้อมูลแต่ไม่ใช่การชี้นำในขณะที่พยานหลักฐานไม่มี แล้วสุดท้ายมีการฉวยประโยชน์ทางการเมือง ผมว่าอันนี้มันเป็นอันตราย ทำให้เราไปปิดบังมูลเหตุที่แท้จริงหากไม่ใช่อย่างที่กล่าวอ้างกัน คิดว่าเรื่องนี้สังคมไทยต้องตั้งสติ”

อย่างไรก็ตาม การป้องกันตัวเองในบางบริบทอาจต้องมองไกลไปกว่าเรื่องของการวางระบบในเมืองดังกล่าว เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งชี้ว่า ภัยต่อชุมชนใหญ่และเมืองอาจเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เช่นการที่อังกฤษเข้าร่วมสนับสนุนสหรัฐฯในการบุกอิรัก สุรชาติตอบคำถามนี้ว่า แนวความคิดเช่นนี้ทำให้มีความจำเป็นในการจัดวางความสัมพันธ์ในการเมืองระหว่างประเทศอย่างระมัดระวัง ซึ่งสำหรับเขาชี้ไทยเวลานี้มีคำถามเรื่องการกลับลำจากที่เป็นพันธมิตรกับตะวันตกจะหันมาหามหาอำนาจตะวันออก

สุรชาติระบุว่า ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่พัฒนามายาวนานตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองที่ผูกพันกับตะวันตกมาโดยตลอด ท่าทีระยะหลังคือการหันหลังให้ตะวันตก “ผู้นำไทยที่ทำรัฐประหารไปปักกิ่งบ่อย ก็อาจเพราะว่ามีโจทย์จากการที่ตะวันตกไม่รับผู้นำจากรัฐประหาร แต่ที่นายกรัฐมนตรีไปปักกิ่งสองครั้งเป็นเรื่องที่เริ่มถูกจับตามอง และเริ่มมีการพูดถึงโครงการสร้างทางรถไฟไทยจีน โครงการซื้อเรือดำน้ำ 3.6 พันล้าน และต่อมาคือเรื่องการส่งอุยกูร์กลับจีน สี่ประเด็นใหญ่นี้ถ้ามองจากภายนอกเข้ามาทำให้มีการตั้งคำถามว่า ไทยกำลังเปลี่ยนทิศทางด้านความมั่นคงไทยหรือไม่ ถ้าเปลี่ยน อะไรคือผลกระทบ”

นักวิชาการด้านความมั่นคงยกตัวอย่างบทเรียนในอดีตคือสงครามโลกครั้งที่สอง ในครั้งนั้นไทยมีความเสี่ยงว่าจะตกอยู่ในสถานะอย่างใดในส่วนที่เกี่ยวกับการทำสงคราม เนื่องจากผู้นำประเทศในยุคนั้นได้ประกาศสงครามกับพันธมิตรเมื่อ 25 ม.ค. 2485 “เมื่อสงครามสิ้นสุด มีคำถามว่าตะวันตกจะปฏิบัติต่อไทยในฐานะคนเข้าร่วมฝ่ายอักษะ หรือว่าจะปฏิบัติต่อไทยในฐานะประเทศที่ถูกอักษะยึดครอง ถ้าเป็นอันแรกกองทัพสัมพันธมิตรจะเข้ามาปลดอาวุธ และยึดครองไทยเหมือนที่ทำกับเยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น แต่สุดท้ายตะวันตกบอกว่าไทยถูกยึดครองจึงไม่ถูกแตะต้อง แต่ว่าข้อสรุปนี้ไม่ได้เกิดง่ายๆ” สุรชาติชี้ว่าการที่ไทยเป็นพันธมิตรญี่ป่น แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลงญี่ปุ่นเป็นผู้แพ้สงครามแต่ไทยกลับไม่ใช่ เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าเป็นความสามารถของผู้นำไทยในช่วงดังกล่าวที่พยายามแก้ไขปมปัญหาทำให้ไทยหลุดจากเงื่อนไขสงคราม

เขากล่าวอีกว่า การวางสถานะของประเทศในการเมืองระหว่างประเทศนับเป็นความท้าทายที่ปรากฏมานานมากแล้วโดยเฉพาะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เช่นเมื่อไทยเผชิญแรงกดดันจากฝรั่งเศส ในช่วงนั้นมีกลุ่มขุนนางสองกลุ่มที่มี “ชุดความคิด” ต่างกัน โดยกลุ่มหนึ่งเห็นว่าไทยสามารถรบกับฝรั่งเศสได้ แต่อีกกลุ่มเห็นตรงกันข้าม “และรัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินพระทัยว่าสยามในขณะนั้นไม่ควรจะต้องรบกับฝรั่งเศส นอกจากจะไม่รบกับฝรั่งเศสแล้วยังจะต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับฝรั่งเศสด้วย” และสรุปว่า “สยามผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาแล้ว เราไม่เคยใช้อารมณ์ตัดสิน ถ้าใช้อารมณ์เราจะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับเยอรมัน เพราะตอนนั้นขุนนางจำนวนมากจบการศึกษาจากปรัสเซีย” เขาว่า

“งานต่างประเทศละเอียดอ่อน ตัดสินด้วยอารมณ์ไม่ได้ การใช้อารมณ์ของคนชั้นกลางมันไม่เป็นประโยชน์ ในขณะที่ข้อเรียกร้องเช่นว่าวันนี้เราต้องเดินด้วยนโยบาย look east เพราะการคบมหาอำนาจอีกแห่งจะสร้างนโยบายถ่วงดุล อันนี้คงต้องทำความเข้าใจครับว่า รัฐเล็กๆทำนโยบายถ่วงดุลไม่ได้ การถ่วงดุลเป็นกิจกรรมการเมืองระหว่างประเทศของมหาอำนาจใหญ่ รัฐเล็กๆทำได้แค่ อยู่ในกระบวนที่ขับเคลื่อนด้วยมหาอำนาจใหญ่ ผมเชื่อว่าวันนี้ไทยต้องอยู่ทั้งสองฝ่ายโดยไม่มีข้อเลือก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นไทยสละความสัมพันธ์กับตะวันตกไม่ได้ แต่ก็ทอดทิ้งตะวันออกที่กำลังขยายตัวไม่ได้เช่นกัน”