วันเสาร์, สิงหาคม 29, 2558

7 ข้อที่ชี้ว่า”ทักษิโณมิกส์”ของสมคิดยุคคสช.จะล้มเหลว?




โดย พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ
ที่มา Siam Intelligence
วันที่: 28/08/2015

หลังจากมีการเปลี่ยนตัวทีมเศรษฐกิจของคสช.ชนิดที่เรียกว่า “ยกกระบะเซลส์” เปลี่ยนมือจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ผมเคยทำนายไปแล้วว่าไม่น่าจะรอด (ดู ที่นี่)มาสู่ยุคของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตคีย์แมนทางเศรษฐกิจผู้มีส่วนขับเคลื่อน “ทักษิโณมิกส์” (Thaksinomics) หรือการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบทักษิณ เพียงไม่กี่วันที่เข้ามรับตำแหน่งดร.สมคิด ก็ขุดนโยบายที่แทบจะย้อนเวลากลับไปสู่ยุคทักษิณอีกครั้ง จน Nikkei Review ถึงกับขนานนามว่า “นี่อาจจะเป็นการกลับไปสู่ยุคทักษิโณมิกส์อีกครั้ง” เรามาดูว่าเพราะเหตุใดการกลับไปใช้นโยบายแบบเดิม อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเดิม

“ทักษิโณมิกส์” คืออะไร ทำไมผู้คนถึงโหยหา?

หลายๆคนที่เกิดมาในช่วงของความขัดแย้งในทศวรรษที่ผ่านมา อาจลืมไปว่าเราเคยมีภาคเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและแข็งแกร่งแบบนี้มาก่อน หรือแม้กระทั่งผู้ที่ขับไล่ทักษิณในยุคพันธมิตรรอบ 2551 ม็อบแช่แข็งประเทศไทย หรือกปปส. ที่ยังไม่จบมหาวิทยาลัยอาจไม่รู้จักคำนี้ เช่นเดียวกับไม่รู้จักคำว่า Dual track หรือ “จากรากหญ้าสู่รากแก้ว” เกิดมาก็ได้แต่เฮตามเพื่อขับไล่ “ระบอบทักษิณ”ไปเสียแล้ว อยากจะขอปูพื้นฐานถึงคำนี้ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของ”ระบอบทักษิณ”ที่คุณเกลียด แต่คุณกลับเชียร์คสช.ที่กำลังกลับไปใช้นโยบายแบบนี้

คำว่า “ทักษิโณมิกส์”นั้น ถูกขนานนามโดยอดีตประธานาธิบดีแห่งฟิลิปปินส์ กลอเรีย อาราโย ในงานประชุมความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพยิ่งใหญ่ในปี 2003 เป็นการเน้นการกระตุ้นการใช่จ่ายภาครัฐและมุ่งกระตุ้นภาคการส่งออกและภาคเศรษฐกิจ โดยหัวใจอยู่ที่การดำเนิน “เศรษฐกิจแบบ 2แนวทาง” (Dual Track Policy) ซึ่งจุดแรกคือไปกระตุ้นที่ภาคการส่งออก การลงทุนต่างประเทศ และโอกาสใหม่ๆเช่นการท่องเที่ยว และอีกด้านอันเป็นเอกลักษณ์ก็คือ การมุ่งอัดฉีดเงินไปที่ระดับรากหญ้าที่มาของคำว่า “สร้างงาน สร้างรายได้” นโยบายที่หลายคนรู้ตักดีก็เช่น กองทุนหมู่บ้าน ส่งเสริมผู้ประกอบการSME โครงการพักการชำระหนี้เกษตรกรและริเริ่มสินค้า OTOP และสัมฤทธิ์ผลเห็นได้ชัดก็คือเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวเติบโตอย่างก้าวกระโดดในบางปี GDP เติบโตเกิน5% โดยคีย์แมนสำคัญคนหนึ่งก็คือดร.สมคิดที่เคยนั่งทั้งกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ (ช่วงเวลาดังกล่าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกเศรษฐกิจเป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย)

วิเคราะห์ “ทักษิโณมิกส์” ภาค 2 ทำไมอาจจะแป้กได้?

การที่ คสช. อุตส่าห์แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 เพื่อเปิดทางให้ผู้ที่เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองอย่างดร.สมคิด แห่ง “บ้านเลขที่111” คดียุบพรรคไทยรักไทยปี 2550 กลับมาสู่ตำแหน่งรองนายกเศรษฐกิจอีกครั้ง แปลได้ว่าเข้าตาจนและไม่พึงพอใจกับการบริหารงานโดยเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจแบบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ที่เน้นภาพใหญ่แบบแมคโคร ระมัดระวัง เทอะทะ และล่าช้า ถือว่าเป็นเดิมพันที่สูง และแน่นอนการที่ดร.สมคิดจะกลับไปใช้ “ทักษิโณมิกส์”อีกครั้งนั้นไม่ง่าย เพราะ….

1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกต่างกันสุดขั้ว

จะว่าไปรัฐบาลทักษิณนั้นอยู่ในยุคที่โชคดีส่วนหนึ่งคือการก้าวขึ้นสู่อำนาจในยุคหลังมิลเลนเนียมใหม่ๆ อะไรเกิดขึ้นบ้างในขณะนั้น? ความก้าวหน้าของวิทยาการเทคโนโลยีเชิงไอทีและคมนาคมที่นำพาความเจริญมาสู่โลก สหภาพยุโรปพึ่งเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบ”เงินสกุลเดียว” (Single currency) ที่เนื้อหอมสุดๆ ประเทศจีนกับการค่อยๆเปิดประเทศสู่ทุนนิยมกับโอกาสใหม่ๆทางการลงทุน และสหรัฐอเมริกากำลังถลุงเงินไปกับ “สงครามต้านการก่อการร้าย”

แล้วหันไปมองตอนนี้สิ!? ตลาดเทคโนโลยีเริ่มถึงทางตันเมื่ออัตราการซื้อหรือเปลี่ยนแก็ดเจ็ทต่างๆ เริ่มชะลอตัวหลายบริษัทไอทีเริ่มประสบปัญหา สหภาพยุโรปเกือบจะล่มไปพร้อมกับวิกฤตกรีซที่เป็นบทเรียนว่าประเทศที่ขนาดจีดีพีแตกต่างกันลิบลับไม่ควรใช้เงินสกุลเดียวกัน จีนกำลังสร้างความปั่นป่วนให้โลกเมื่อเศรษฐกิจเริ่มชลออัตราการขยายตัว และสหรัฐอเมริกาที่เริ่มลดบทบาททางการทหารในหลายๆพื้นที่

2. สมคิดคนเดียวทำอะไรไม่ได้ หากไม่มีดรีมทีมที่ดี

ถึงแม้รอบนี้ ดร. สมคิดจะเข้ามาพร้อมกับทีมงานที่ไว้ใจ เช่น ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ ศิษย์รักจากศศินทร์ นาย อุตตม สาวนายน รมว.ไอซีที อดีตอธิการบดีม.กรุงเทพและอดีตผู้ช่วยสมคิดสมัยเป็นรมว.คลังยุคทักษิณ และนาย อภิศักดิ์ ตันติวรงศ์ รมว.คลัง เพื่อนเตรียมอุดมฯของสมคิดที่สมคิดดันให้เป็นผู้บริหารธนาคารกรุงไทยสมัยทักษิณ (อีกคนที่สมคิดดันก่อนหน้าคือ วิโรจน์ นวลแข อดีตผู้บริหารกรุงไทยที่พึ่งถูกพิพากษาจำคุก) ถึงแม้อาจจะฟังดูดีกว่าเหล่าบรรดา “เทคโนแครตตกยุค”ของหม่อมอุ๋ย แต่เรียกได้ว่ายังห่างชั้นกับยุครัฐบาลทักษิณ

หากเทียบกับยุคทักษิณ1ที่มี พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นประธานที่ปรึกษาด้านนโยบาย วราเทพ รัตนากร เป็น รมช.คลัง ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร อดีตที่ปรึกษาของธนาคารโลกเป็นรมช.พาณิชย์ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เคยบริหารอุตสาหกรรมพันล้านเป็นรมว.อุตสาหกรรม หรือทักษิณ2 ที่เสริมทีมด้วย ทนง พิทยะ ผู้บริหารธนาคารทหารไทยเป็นรมว.คลังเมื่อตอน ดร.สมคิดถูกสลับไปนั่งเป็น รมว.พาณิชย์ เรียกได้ว่าชื่อชั้นยังห่างกันเยอะมาก



3. รัฐมนตรีสายโควตาทหารและนายทุนที่ไม่สามารถจัดการได้

ถึงแม้สมคิดจะได้บริหารถึง 7 กระทรวง อันได้แก่ กท.คลัง กท.อุตสาหกรรม กท.เกษตรฯ กท.คมนาคม กท.วิทยาศาสตร์ฯ กท.พาณิชย์ และที่เซอร์ไพรส์คือได้ กท.การต่างประเทศมาด้วย แต่ต้องความเข้าใจว่ารัฐบาลชุดนี้เข้ามาด้วย”อำนาจพิเศษ”ดังนั้นจึงมีโควตาของทหารค่อนข้างมาก ซึ่งทักษะการบริหารเศรษฐกิจนั้นอาจจะไม่คล่องตัวมากนัก ลองย้อนไปดูรายนามคณะรัฐมนตรีประยุทธ์ 3 ที่มีโควตารัฐมนตรีทหารเพิ่มขึ้นจาก 14เป็น16 ตำแหน่ง และผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของดร.สมคิดได้แก่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ มาเป็นรมว.เกษตรฯ

ส่วนกระทรวงเศรษฐกิจที่พึงได้พึงบริหารอื่นๆ เช่น กระทรวงแรงงานก็ยังเป็นรัฐมนตรีสายทหารอย่าง พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหมรอเกษียณ และอีกคนที่เป็นรัฐมนตรีทหารใหม่ป้ายแดงอย่าง พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ก็มานั่งรมว.พลังงาน ยังไม่นับกระทรวงการท่องเที่ยวฯที่ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร นายทุนกปปส.นั่งเป็นเจ้ากระทรวงที่ผุดไอเดียแปลกๆออกมาเสมอ ทำให้ดร.สมคิดไม่สามารถบริหารสั่งการได้ถนัดนัก

4.วิกฤตทั้งบนฟ้า-ในน้ำ-บนบก

เรียกได้ว่าไทยตอนนี้ไทยประสบปัญหารอบด้านทั้ง”บนฟ้า” เมื่อไทยเจอคาดโทษจากมาตรฐานการบินของ ICAO ที่ทำให้ธุรกิจและภาพลักษณ์ของสายการบินในไทยตกต่ำส่อเค้าส่งผลกระทบในภาคการท่องเที่ยว “บนบก”เองหลังจากผ่านวิกฤตภัยแล้งไปได้อย่างจวนเจียนก็เจอเหตุระเบิดราชประสงค์สะเทือนภาคการท่องเที่ยวอีกหนึ่งรายได้หลักของ “ทักษิโณมิกส์” ส่วน”ในน้ำ”นี่มาพร้อมกับปมค้ามนุษย์ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาลดเกรดให้ไทยตกไปอยู่ใน Tier3 และอาจพิจารณาลดความช่วยเหลือในด้านที่ไม่ใช่มนุษยธรรม และสหภาพยุโรปก็เตรียมประเมิน IUU ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งถ้าหากไม่ผ่านเกณฑ์ก็อาจจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อภาคการส่งออกไทยที่ติดลบอย่างต่อเนื่องมาตลอดปี ไม่ใช่โจทย์ง่ายเลยของดร.สมคิดและทีมงาน

5. ตลาดภายในซบเซาไปหมดแล้ว

ระยะเวลา 1ปีที่ผ่านมาผลกระทบทางเศรษฐกิจเริ่มออกฤทธิ์ ทั้งเรื่องการเลิกจ้าง การเตรียมจัดเก็บภาษีใหม่ๆของรัฐบาล การย้ายฐานผลิตจากการไม่เชื่อมั่นในภาครัฐ ผลกระทบภาคส่งออกและท่องเที่ยว ที่ต่อให้ใช้มาตรา44 ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ดร.สมคิด จะงัดมาตรการอัดฉีดไปยังรากหญ้าก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถฟื้นตลาดภายในได้หรือไม่ ภาคการเกษตรบอบช้ำจากภัยแล้งและมาตรการดูแลสินค้าเกษตรแบบทิ้งขว้างฉบับม.ร.ว.ปรีดิยาธร ภาคอุตสาหกรรมมีบริษัทเลิกจดทะเบียนการค้าสูงขึ้นเป็นอย่างมากในปีนี้ ไม่นับรวมกับการปิดตัวและย้ายฐานการผลิตในหลายๆนิคม ภาคการส่งออกถูกกีดกันจากการสอบตกมาตรฐานนานาชาติ ภาคการเงินผันผวนหนักจากสงครามค่าเงิน ก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ดร.สมคิดกำลังจะทำจะเป็นการ “รดน้ำให้หญ้าที่ตายไปแล้วเพื่อรอเป็นปุ๋ย”หรือไม่?

6. การกระจายอำนาจและรัฐธรรมนูญที่ดีหายไป

สองสิ่งนี้ค่อนข้างเป็นปัจจัยบวกในสมัยของรัฐบาลทักษิณเมื่อเกิดมาในยุคหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ถือว่าดีที่สุดในบรรดารัฐธรรมนูญฉบับหลังๆทั้งการมีส่วนร่วม และการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจนั้นทำให้กลไกและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในยุคนั้นทรงประสิทธิภาพ ถึงแม้จะถูกค่อนขอดว่าเปิดทางให้กับผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นไปลงเลือกตั้ง อบจ.อบต. แต่ก็เป็นยุคที่ความเจริญลงไปถึงท้องถิ่นมาก ไม่รวมศูนย์อยู่ส่วนกลาง หลายคนมองว่าสิ่งที่ทักษิณทำดีที่สุดคือ “นโยบาย30บาทรักษาทุกโรค” แต่ในมุมมองส่วนตัว “การปฏิรูประบบราชการ” ต่างหากคือผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ใครจำภาพตอนไปติดต่ออำเภอ สถานีตำรวจก่อนยุค2540ได้บ้าง ว่าเต็มไปด้วยอิทธิพลของข้าราชการ การคอรัปชั่น และการรวมศูนย์แค่ไหน และนี่คือสิ่งที่คสช.นำกลับมาในการสร้างรัฐข้าราชการอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่นับรวมถึงการใช้ประกาศ คสช. ระงับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ดังนั้นการดำเนินการนโยบายต่างๆไม่สามารถส่งตรงไปถึงประชาชนอย่างทั่วถึงได้แน่นอน

7. ประชาธิปไตยและความชอบธรรมในสายตาต่างชาติ

ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกฯ จะย้ำบ่อยครั้งว่ารัฐบาลนี้มาด้วยวิธีพิเศษไม่ได้หวังให้ประชาชนมานิยม และสัมภาษณ์ออกสื่อต่างชาติว่ากำลังจะนำประเทศกลับสู่ “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ภายในประเทศอาจจะสามารถปราบปรามและสกัดกั้นผู้เห็นต่างด้วยจากกฎอัยการศึกก็ดี จากมาตรา44ก็ดี แต่ต้องยอมรับว่าโลกยุคปัจจุบันเราอยู่คนเดียวไม่ได้ การไม่คบค้าสมาคมหรือมาตรการการกดดันทางอ้อมของหลายประเทศทำให้ไทยตกที่นั่งลำบากและแน่นอนส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ต่อให้ทีมเศรษฐกิจพยายามจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีโลก แต่หากภาคการเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตยก็มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนแน่ๆ
นี่คือบรรดาโจทย์ที่ดร.สมคิดต้องเจอ ซึ่งมาตรการทางเศรษฐกิจแบบ “ทักษิโณมิกส์” ก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จใดๆ เมื่อบริบทที่แตกต่างกันไป ผลลัพธ์ก็อาจจะต่างกันไปด้วย เหมือนกับหนังที่ภาคแรกดี แต่พอนำมาสร้างภาคต่อในบริบทที่แตกต่าง ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปหนังเรื่องนั้นก็อาจจะกลายเป็นแค่ “หนังตกยุค”ก็เป็นได้ ขอให้กำลังใจทีมเศรษฐกิจดร.สมคิดได้พิสูจน์ตัวเอง แล้วค่อยย้อนกลับมาดูว่าการวิเคราะห์ว่าครั้งนี้จะตรงเหมือนที่เคยวิเคราะห์บทสรุปของทีมเศรษฐกิจ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ที่อุดมด้วยเทคโนแครตตกยุคว่า “เหมือนเอาช่างซ่อมพิมพ์ดีดมาซ่อมไอแพด”หรือไม่ ติดตามชมด้วยใจระทึก…