วันเสาร์, พฤษภาคม 23, 2558

ตามติด (ต่อ) นี่ก็ 'โดนแล้ว' อีกราย


อานนท์ นำภา :13.30 นักศึกษากลุ่ม YPD ถูกรวบตัวไป สน.ชนะสงคราม

วันนี้ ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) มีการจัดเสวนาที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เนื่องในวันครบรอบ 1 ปีการรัฐประหาร ในหัวข้อ "22-22:สิทธิชุมชน เสรีภาพ การศึกษา​" โดยมีแถลงการณ์ YPD 1 ปีคณะรัฐประหาร ตามแนบไฟล์ที่ส่งมานี้

โดยเบื้องต้น ตำรวจสน.ชนะสงครามได้แจ้งผ่านแกนนำ YPD ว่าทาง คสช. ไม่ให้จัดงาน แต่กลุ่ม YPD ยืนยันการจัดงานในวันนี้ และเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา คสช. ได้นำทหารกว่า 30 นาย นำกำลังเข้ามาที่มูลนิธิ 14 ตุลา แจ้งให้ปิดสำนักงาน เพื่อไม่ให้กลุ่ม YPD เข้ามาจัดงาน ต่อมาเมื่อกลุ่มนักศึกษาและ YPD เข้ามาเตรียมจัดงานในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวไปที่ สน.ชนะสงคราม



            หนึ่งปีมาแล้วศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย(YPD.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่องคัดค้านรัฐประหาร ต่อต้านการกระทำอันไม่เป็นประชาธิปไตย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อแสดงจุดยืน   “ ต่อต้านการกระทำอันไม่เป็นประชาธิปไตย  โดยขอเรียกร้องให้มีการคืนอำนาจอธิปไตยกลับคืนสู่ประชาชนโดยเร็ว  เพราะการรัฐประหารเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่จะทำลายสังคมประชาธิปไตยในระยะยาว   ทั้งนี้ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย(YPD.)และเพื่อนเครือข่ายนักศึกษาทั้งในไทยและต่างประเทศได้เฝ้าระวังและจับตา ติดตาม ตรวจสอบ รวมถึงเคลื่อนไหวคัดค้านการใช้อำนาจของ  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทางศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย(YPD.) จึงขอประณามพฤติกรรมการใช้อำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา  ดังต่อไปนี้
1. แต่งตั้งทหารและบริวารพวกพ้องมาดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆและกระทำการโดยไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชน จากข้อเท็จจริงที่มีการแต่งตั้งข้าราชการทหารจำนวนมากเป็นรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรัฐประหารก็ได้รับเลือกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตนแต่งตั้ง มาเลือกตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้งมีการตั้งคนในครอบครัวเป็นผู้ช่วยผู้ปฏิบัติงานด้านนิติบัญญัติทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฎิรูปแห่งชาติ  ซ้ำร้ายเหล่าผู้ปล้นอำนาจเหล่านี้ยังไม่เคยแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะชนเลยตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา
2. สภานิติบัญญัติที่ตั้งขึ้นโดยอำนาจของคณะรัฐประหารออก กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ที่ แท้จริงของประชาชน จากข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น
            -กรณีร่างพระราชบัญญัติการประมง ที่ชาวประมงขนาดเล็กเสียผลประโยชน์ เนื่องการรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของชาวประมงพื้นบ้านก็น้อยเกินไป
            -กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติแร่ ทั้งที่เครือข่ายได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ได้ออกมาคัดค้าน
            -กรณีศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) ยืนหนังสือพร้อมรายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่
            -กรณีเครือข่ายประกันสังคมเพื่อคนทำงาน 14 องค์กร เรียกร้องชะลอลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม
            -กรณีร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะเนื่องจากเนื้อหาบางมาตราลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน และไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นต้น
  3. ลิดรอน เสรีภาพ  อิสรภาพ  การแสดงออกของประชาชน สื่อมวลชน และ ละเมิดสิทธิชุมชน ปรากฎมีการใช้คำสั่งห้ามจัดการเสวนาทางวิชาการ การพูดในที่สาธารณะมากมาย  รวมทั้งมีการใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการเรียกประชาชนไปปรับทัศนคติ ดำเนินการจับกุม และดำเนินคดีในศาลทหาร   ออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 64/2557โดยอ้างการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า พร้อมด้วยคำสั่งที่66/2557 ที่กล่าวว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน ละเมิดสิทธิการทำมาหากินของชาวบ้านคนยากคนจนไปทั่วทั้งประเทศ เกิดการเข้าตัดฟันและทำลายพืชผลอาสินของชาวบ้านคนจน มากกว่าจะปราบปรามนายทุนซึ่งเป็นผู้บุกรุกทำลายป่าตัวจริง
4. แปรรูประบบการศึกษาอย่างน่าไม่อายโดยปรากฏข้อเท็จจริงคือ  ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว  ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ  ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา  โดยมีสมาชิกสภา นิติบัญญัติหลายท่านที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการ แปรรูปนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นนั่งผู้พิจารณาอยู่ด้วย
5.รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างภายใต้อำนาจรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีหลายมาตราในร่างที่เป็นข้อกังขา ว่าจะลดทอนอำนาจของประชาชน ยุบรวมองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน  อีกทั้งยังไม่แน่นอนว่าจะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

            การขับเคลื่อนและรักษาระบอบประชาธิปไตย ยกระดับคุณภาพของประชาธิปไตย สร้างพลเมืองที่มีจิตสำนึกในระบอบประชาธิปไตยนั้นแน่นอนว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากคณะผู้ปกครองคณะใดคณะหนึ่ง ฝ่ายใดฝ่านหนึ่ง  หากแต่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน  ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจก็เช่นกัน ที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากประชาชนที่ทุกกลุ่มที่ร่วมกันเข้ามาปกป้องสิทธิทางเศรษฐกิจของตนเอง และใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ 
 
            เราจะสร้างสังคมประชาธิปไตยไม่ได้เลย หากขาด สิทธิเสรีภาพ อิสรภาพ ความยุติธรรม และความสมานฉันท์ ที่สำคัญพวกเราเชื่อมั่นว่า ความสงบสุขของสังคมมิได้เกิดจาก การไม่มีการต่อต้าน หากแต่ความสงบสุขของสังคมเกิดจาก ความเท่าเทียม ความยุติธรรมทั้งทางอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง

                                                                เพื่อประชาธิปไตยและความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ 
                                                     ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย(YPD.)
                                                                                  22 พฤษภาคม 2558