วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 20, 2558

นักวิชาการสภาแอตแลนติก เรียกร้องสหรัฐฯ กดดันผู้นำเผด็จการในไทยหนักขึ้น




Source: The U.S. Needs to Get Tough on Thailand
The Diplomat

เรียบเรียงโดย ประชาไท
The U.S. Needs to Get Tough on Thailand, David A. Merkel, The Diplomat, 18-02-2015
http://thediplomat.com/2015/02/the-u-s-needs-to-get-tough-on-thailand/

David A. Merkel
นักวิชาการอาวุโสจากสภาแอตแลนติกและอดีตเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ระบุว่าความถดถอยของประชาธิปไตยในไทยอาจจะส่งผลต่อสหรัฐฯ เองในแง่ยุทธศาสตร์ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเสนอให้ระงับการดำเนินการทางทรัพย์สินและสั่งแบนวีซ่าเดินทางผู้นำเผด็จการในไทย

19 ก.พ. 2558 เดวิด เอ เมอร์เคิล นักวิชาการอาวุโสจากสภาแอตแลนติกซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ในหลายหน่วยงานของสหรัฐฯ คือกระทรวงต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และกรมการคลัง เขียนบทความใน The Diplomat เรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ ยกระดับการจัดการกับผู้นำเผด็จการทหารในไทยเพราะการทำให้ประชาธิปไตยถดถอยเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดีต่อยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงได้

เมอร์เคิลระบุถึงการพัฒนาถอยหลังของประเทศไทยหลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจโดยกองทัพที่มีการพยายามถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยอ้างเรื่องใช้นโยบายประชานิยมแบบผิดๆ เทียบได้กับข้ออ้างการพยายามถอดถอนผู้นำสหรัฐฯ ในเรื่องการให้เงินอัดฉีดการผลิตพลังงานจากเอธานอล โครงการใช้งบประมาณพัฒนาในเฉพาะบางพื้นที่ และโครงการส่งเสริมธุรกิจนม ซึ่งเป็นความพยายามสั่งแบนทางการเมืองกับผู้ที่ได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

บทความของเมอร์เคิลระบุว่าหลังจากรัฐประหาร ยังมีการให้ความสนใจกับไทยน้อยเกินไปแม้จะมีการประณามจากต่างประเทศ อาจจะเป็นเพราะมีเหตุการณ์ร้ายแรงกว่ากำลังเกิดขึ้นที่อื่น แต่การละเลยเช่นนี้ก็ทำให้เผด็จการทหารใช้อำนาจกดขี่ประชาชนต่อไปโดยไม่ถูกเอาผิด

เมอร์เคิลระบุว่าในครั้งนี้ ชนชั้นนำในกรุงเทพฯ มีความลำเอียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะชนชั้นนำเหล่านี้รู้สึกว่าพรรคเพื่อไทยและทักษิณได้รับความนิยมจากประชาชนไทยทั่วไปจนทำให้พวกเขามีอำนาจลดลง แต่แทนที่พวกเขาจะสร้างความนิยมให้ตัวเองเพิ่มขึ้นกลับใช้วิธีการที่โง่เขลาไปจนถึงการใช้ความรุนแรงเพื่อโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ในขณะที่สถาบันใหญ่ๆ อย่างศาลรัฐธรรมนูญ กองทัพ และองคมนตรี เคยชินกับการไม่ยอมปกป้องสิทธิของประชาชน

อดีตเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ระบุในบทความว่า รัฐบาลโอบามากล่าวถูกต้องในแง่ที่ภูมิภาคเอเชียมีความสำคัญมาก เขาจึงเสนอว่าควรมียุทธศาสตร์ในการปรับสมดุลอำนาจในเอเชีย และเพื่อไม่ให้เกิดความล้มเหลวแบบในกรณีการปรับสมดุลรัสเซีย พวกเขาควรจะทำตามข้อเสนอดังนี้ต่อกรณีไทย

บทความของเมอร์เคิลเสนอให้มีการจัดการด้วยการสั่งระงับการดำเนินการทางทรัพย์สิน (asset freeze) และสั่งแบนวีซ่าของกลุ่มผู้นำเผด็จการในไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลโอบามาให้ความสำคัญกับภาคพื้นเอเชียและกับหลักการ 'หนึ่งคนหนึ่งเสียง'

เมอร์เคิลระบุอีกว่า การที่สหรัฐฯ ไม่ตอบสนองต่อการลิดรอนเสรีภาพและการถดถอยของประชาธิปไตยในไทยอาจเป็นการส่งสัญญาณผิดๆ ให้กับทางการพม่าด้วย จากที่ก่อนหน้านี้พัฒนาการของพม่าถือเป็นความสำเร็จของนโยบายการต่างประเทศผลงานของประธานาธิบดีบารัค โอบามาและรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่อรัฐบาลประชาธิปไตยของมาเลเซียและอินโดนีเซียด้วย เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ถูกกดดันจากอำนาจของทั้งจีนและของกองทัพในประเทศเหล่านั้น นอกจากนี้การตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร กฎอัยการศึก การขาดเสถียรภาพและเศรษฐกิจที่ถดถอยจะส่งผลต่อตลาดการค้าของสหรัฐฯ เอง

มีบางคนกลัวว่าถ้าใช้มาตรการหนักข้อขึ้นกับเผด็จการไทยจะยิ่งทำให้ทางการไทยหันไปง้อจีนมากขึ้น แต่ผู้เขียนบทความตั้งข้อสังเกตว่าก่อนหน้านี้ทางการไทยเข้าหาทางการพม่าก่อนถึงจะเข้าหาจีน และทางการเวียดนามกับพม่าก็รู้สึกอึดอัดจากการถูกบีบคั้นจากจีนและพยายามเข้าหาสหรัฐฯ เพื่อป้องกันอิทธิพลจากจีนอยู่เช่นเดียวกัน

เมอร์เคิลวิเคราะห์อีกว่าเผด็จการทหารไทยดูท่าทางจะยังวางแผนอยู่ในอำนาจต่อไปและดูท่าทางจะไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งจนกว่าจะมีการสืบราชสันตติวงศ์ โดยพยายามกีดกันไม่ให้ทักษิณและพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมการเลือกตั้งจนกว่ากลุ่มชนชั้นนำไทยจะแน่ใจว่าตัวเองเป็นผู้ชนะ

บทความของเมอร์เคิลระบุว่า รัฐบาลโอบามาควรกดดันให้มีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและควรให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2558 โดยให้ผู้นำทางการเมืองและพรรคการเมืองทุกพรรคมีโอกาสเข้าร่วมได้เต็มที่ จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามข้อเสนอดังกล่าวนี้รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องไม่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตไปประจำในกรุงเทพฯ และระงับการตกลงยอมรับการเปลี่ยนแปลงตัวเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ คนใหม่ แทนคนเดิมที่เพิ่งออกจากตำแหน่งไป

เมอร์เคิลเสนออีกว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ควรพิจารณาปรับความสัมพันธ์ใหม่กับกองทัพไทย เพื่อให้ภารกิจสำคัญอย่างการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินหรือการต่อต้านการก่อการร้ายเดินหน้าไปได้โดยที่ไม่ทำให้เผด็จการทหารไทยฉวยโอกาสใช้ความร่วมมือนี้เป็นการขอความสนับสนุน โดยยังย้ำอีกว่า ต้องระงับการดำเนินการทางทรัพย์สินและสั่งแบนวีซ่ากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทย