วันเสาร์, มกราคม 24, 2558

เจาะข่าวตื้น 144 : ไม่มีเจ๊ปูวส์แล้ว !! เลือกตั้งไทยสไตล์เยอรมัน ฉลุย !!


https://www.youtube.com/watch?x-yt-cl=84503534&v=E8U4CDwyhDU&feature=player_embedded&x-yt-ts=1421914688

Published on Jan 23, 2015
ขอต้อนรับเข้าสู่เจาะข่าวตื้น 144 ที่ไม่มีนายกฯ ชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรอบที่สาม กับเรื่องดูถูกสติปัญญาของ "การเลือกตั้งระบบเยอรมัน" ว่าระบบที่ว่านี้ดีอย่างไร มีต้นกำเนิดมาจากไหน และเกร็ดตื้นๆ ที่ไม่เกินเจ็ดบรรทัดเกี่ยวกับ "เผด็จการรัฐสภา" นะฮ้าว์ฟฟ
ooo

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์: จะเอาตามอย่างใคร ก็ควรต้องรู้จักให้ดีเสียก่อน


วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

ตามที่ ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ หนึ่งในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบจัดทำรัฐธรรมนูญ ได้เสนอสูตรการเลือกตั้งของประเทศเยอรมนีเพื่อเป็นข้อพิจารณาในการปฏิรูปการเลือกตั้งในประเทศไทย จัดเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจมากทีเดียว เพราะการเลือกตั้งของเยอรมนีเป็นสูตรการเลือกตั้งที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อป้องกันพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างชนะพรรคการเมืองอื่นๆมากเกินไป เนื่องจากมีอคติเกรงว่าจะเกิดมีเผด็จการรัฐสภาอย่างที่เคยเกิดมาแล้วในเยอรมนีช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองที่นายอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงมากที่สุด (แต่ยังไม่มีเสียงข้างมากในรัฐสภา) นำประเทศเข้าสู่สงครามและนำความหายนะสู่เยอรมนีในที่สุด จึงเกิดมีร่างกฎหมายเลือกตั้งเพื่อให้หลายพรรคการเมืองมีโอกาสที่จะมีสมาชิกเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎรในรัฐสภาทำให้ประเทศเยอรมนีจำเป็นต้องมีรัฐบาลผสมทุกครั้งไป เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ

วิธีการเลือกตั้งแบบเยอรมนีก็คือ ทุกคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกจะถูกนับไว้ทั้งหมด ไม่มีการเสียเปล่า เพราะกำหนดให้ ส.ส.ในรัฐสภามี 500 คน โดยแบ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 250 คน ส.ส.แบบเขต 250 คน ใช้การเลือกตั้งครั้งเดียว มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว หรือเรียกว่าระบบเลือกตั้งแบบผสม (Mixed Electoral Systems) คิดคะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อกับระบบเขตเอามารวมกัน เพื่อให้คะแนนบัญชีรายชื่อที่ประชาชนเลือกเป็นตัวแทน เป็นการตัดสินว่าพรรคนั้นควรจะมีที่นั่งในสภากี่คน เช่น การเลือกตั้งแบบเขต ในพื้นที่เขตหนึ่ง มีประชากร 10,000 คน มีผู้สมัคร 3 คน คือ นาย ก. นาย ข. และนาย ค. ในขณะที่นาย ก.ชนะการเลือกตั้งได้ 4,000 คะแนน นาย ข.ได้ 3,000 คะแนน และนาย ค.ได้ 3,000 คะแนน

ทำให้นาย ก.ได้เป็น ส.ส.ในเขตนั้น เพราะถือว่าเป็นผู้ได้รับคะแนนสูงสุด เป็นผู้ชนะ หากเป็นการเลือกตั้งแบบไทยที่ใช้กันมา ถือว่าการเลือกตั้งเป็นที่สิ้นสุด ผู้มีคะแนนมากที่สุดคือผู้ชนะ ส่วนคะแนนที่เหลือจะเสียเปล่าไป ทั้งๆ ที่หากรวมแล้วจะเห็นว่าคะแนนของผู้แพ้รวมกันมีถึง 6,000 คะแนน เท่ากับว่าคะแนนของผู้แพ้มีมากกว่าผู้ชนะ และอาจทำให้มองได้ว่าผู้ชนะการเลือกตั้งไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งหมด แต่เป็นเพียงคะแนนที่มากกว่ากันเท่านั้น

หากพรรคที่นาย ก.สังกัดชนะการเลือกตั้งทุกเขตทั่วประเทศแบบเดียวกับนาย ก.แล้ว คะแนนเสียงส่วนใหญ่ที่ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันจริงๆ ก็จะเสียเปล่า การเลือกตั้งแบบเยอรมนีจึงมีการนำคะแนนทุกคะแนนเสียงจากทั่วประเทศมารวมกัน และนำคะแนนของแต่ละพรรคคำนวณออกมาเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ และนำมากำหนดเป็นสัดส่วนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งแบบเยอรมนีมีการนำทุกคะแนนของประชาชนมานับด้วย ไม่มีการลงคะแนนเสียงเสียเปล่า และยังเป็นการช่วยให้พรรคเล็กๆ มีโอกาสได้เข้ามามีที่นั่งในรัฐสภา ทำหน้าที่ใช้สิทธิใช้เสียงของบรรดาประชาชนที่เลือกตั้งพวกเขาได้ด้วย โดยทางเยอรมนีกำหนดคะแนนเสียงขั้นต่ำไว้ 5% เท่ากับว่าพรรคที่ได้คะแนนทั้งประเทศไม่ถึง 5% ก็จะไม่มีคะแนนบัญชีรายชื่อ คือจะไม่มีสมาชิกของพรรคการเมืองนั้นนั่งในรัฐสภา ดังนั้น ในรัฐสภาของเยอรมนีภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองจึงมีการถ่วงดุลอำนาจเป็นรัฐบาลผสมมาโดยตลอด เพราะพรรคที่คะแนนสูงสุดแทบที่จะไม่มีทางจะได้คะแนนเสียงทั่วประเทศเกินกึ่งหนึ่งเลย

ว่าไปแล้วผู้เขียนเองก็ออกจะชอบๆ ระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมนีอยู่เหมือนกัน แต่ต้องขอตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้สักเล็กน้อย เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาก่อนที่จะตกลงออกมาเป็นกฎหมาย โดยมีข้อมูลคลาดเคลื่อนไปบ้าง ดังนี้

ข้อเท็จจริงนั้น พรรคนาซีของฮิตเลอร์ไม่เคยได้รับเลือกตั้งโดยได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของรัฐสภาเยอรมนีเลยนะครับ เมื่อฮิตเลอร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เขาต้องร่วมกับพรรคประชาชนแห่งชาติของเยอรมนี โดยพรรคนาซีได้ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเพียง 3 ตำแหน่ง จากจำนวนคณะรัฐมนตรี 31 ตำแหน่ง โดยฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี แฮร์มันน์ เกอริง เป็นรัฐมนตรีลอย และวิลเฮล์ม ฟริค เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย การที่ฮิตเลอร์ได้ก้าวขึ้นเป็นจอมเผด็จการได้นั้นมิใช่จากการเลือกตั้ง หากแต่เป็นการกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม แล้วก็ยุบพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามและขัดขวางพรรคการเมืองอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับเขาไม่ให้เข้าประชุมในรัฐสภาโดยใช้กองกำลังอันธพาลของพรรค เรียกว่าพวกเชิ้ตสีน้ำตาลแบบพวกการ์ดของพวกเดินขบวนเมื่อปีที่แล้วนั่นแหละครับ ส่วนการที่ฮิตเลอร์สามารถรวบอำนาจเบ็ดเสร็จได้ก็โดยที่ประธานาธิบดีฟอน ฮินเดนแบร์ก วีรบุรุษของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งสองสิ้นชีวิตในตำแหน่ง แล้วฮิตเลอร์ก็ฉวยโอกาสในช่วงที่ผู้คนยังไม่ทันตั้งตัว รวมเอาตำแหน่งประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีเข้าด้วยกันอย่างหน้าตาเฉย ดังนั้น พรรคนาซีจึงไม่เคยได้รับคะแนนเสียงข้างมากในรัฐสภาเลยครับ เสร็จแล้วฮิตเลอร์ก็ทำการกวาดล้างบรรดานายทหารในกองทัพเยอรมนี ดังนี้

ต้นปี พ.ศ.2481 ฮิตเลอร์บีบให้รัฐมนตรีสงคราม จอมพลแวร์แนร์ ฟอน บลอมแบร์ก ลาออก เมื่อสำนวนสอบสวนของตำรวจพบว่า ภรรยาใหม่ของบลอมแบร์กเคยมีประวัติเป็นโสเภณี และฮิตเลอร์ได้ปลดผู้บัญชาการกองทัพบก พลเอก แวร์แนร์ ฟอน ฟริทช์ โดยสร้างข้อกล่าวหาว่าเขามีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย เนื่องจากคนทั้งสองนี้คัดค้านข้อเสนอของฮิตเลอร์ที่ให้ทั้งคู่เตรียมกองทัพบกให้พร้อมเข้าสู่สงครามภายใน พ.ศ.2481 ฮิตเลอร์ใช้กรณีนี้ที่เรียกว่า กรณีอื้อฉาวบลอมแบร์ก-ฟริทซ์ เพื่อรวมการควบคุมกองทัพโดยฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแทนบลอมแบร์ก ดังนั้น จึงสามารถบังคับบัญชากองทัพได้โดยตรง ฮิตเลอร์แต่งตั้งให้พลเอก วิลเฮล์ม ไคเทล แห่งกองบัญชาการทหารสูงสุด หรือ OKW เป็นรัฐมนตรีสงคราม ในวันเดียวกันนั้น ฮิตเลอร์สั่งปลดนายทหารออกจากตำแหน่งพลเอก 16 นาย และอีก 44 นายถูกย้าย โดยสาเหตุเพียงเพราะถูกสงสัยว่าไม่นิยมพรรคนาซีพอ เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2481 พลเอกอื่นอีก 12 นายก็ถูกปลดออกจากราชการ

เพราะฉะนั้นเยอรมนีไม่เคยมีเผด็จการทางรัฐสภาเลย เนื่องจากยังไม่เคยมีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมีเสียงข้างมากในรัฐสภาเลยนะครับ ต้องมีรัฐบาลผสมมาโดยตลอด สาเหตุที่ฮิตเลอร์สามารถขึ้นมาเป็นจอมเผด็จการได้น่าจะเป็นเพราะกองทัพเยอรมนีไม่เคยมีขนบในการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลเสียมากกว่าจึงปล่อยให้นักการเมืองแบบฮิตเลอร์แอบอ้างตนเองเป็นองค์อธิปัตย์เอาง่ายๆ ต่างหาก