วันอังคาร, ธันวาคม 30, 2557

ขุดสนามหลวง แปลงเป็นไน้ท์บาร์ซ่า :ไอเดียจ๊าบ ดร.โสภณ


เสนอขุดสนามหลวง แปลงเป็นไนท์บาร์ซาร์ 

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

             เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2558 นายกรัฐมนตรีได้ไปเปิดเส้นทางจักรยานเกาะรัตนโกสินทร์ 'โสภณ' มั่นใจว่าโครงการจักรยานและการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์เป็นแค่ปาหี่ ไม่มีผลดีต่อส่วนรวม พร้อมเสนอแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เห็นต่างจากแนวทางการพัฒนากรุงเทพมหานครที่กรุงเทพมหานครโดยพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการอยู่ โดยเห็นว่าการทำเลนจักรยานจะไม่ได้ผลหากคนส่วนใหญ่ยังใช้รถยนต์  ควรขุดสนามหลวงทำที่จอดรถใต้ดิน พร้อมกับแปลงสนามหลวงให้เป็นไนท์ปาร์ซาร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้เป็นที่เลื่องลือ

โครงการจักรยานแบบปาหี่

            ทุกวันนี้โครงการจักรยานของกรุงเทพมหานครเป็นแค่ปาหี่ที่ไม่คุ้มค่า มีผู้ใช้จำกัด แน่นอนว่าย่อมมีผู้ใช้ที่ชอบอยู่จำนวนหนึ่ง แต่น้อยมาก  สิ่งที่ทำมาจึงได้ไม่คุ้มเสีย เกะกะ และไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติจริง เป็นแค่โครงการแบบผักชีโรยหน้า ทำให้ผ่านๆ ไป โดยจะสร้างผลเสียในระยะยาว เช่น ค่าบำรุงรักษา และกลายเป็นสิ่งเกะกะบนบาทวิถี

            ยิ่งโครงการจักรยานบนเกาะรัตนโกสินทร์ ก็คงจะมีนักท่องเที่ยวใช้ได้แค่จำนวนหนึ่ง  การลงทุนไปมากมาย (แต่ไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นเงินเท่าไหร่ ซึ่งกรุงเทพมหานครคงไม่อยากจะเปิดเผยถึงต้นทุนการดำเนินการ เพราะเป็นความสูญเปล่า) อาจไม่คุ้มค่า เพราะโครงการจักรยานที่แท้ จะต้องรณรงค์ให้ประชาชนในท้องถิ่นร่ว่มใจกันขี่จักรยาน และมีระบบการป้องกันภัยที่ดี
Prime Minister Prayut Chan-o-cha, front left, avoids a fallen cyclist as he takes a trip through Koh Rattanakosin in inner Bangkok to mark the reopening of bike lanes after their recent repairs. (Photo by Pornprom Satrabhaya, the Bangkok Post)
โครงการจักรยานที่ 'โสภณ' เสนอ

            แต่ท่านเชื่อไหมการแปลงกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองจักรยานทำได้ทันที คุ้มค่า มีความเป็นไปได้ทางการเงิน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ฯลฯ แต่ที่ผ่านมาไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง เริ่มต้นเพียงทำจักรยานให้เช่าให้แพร่หลาย และสนับสนุนการใช้สอยจริงในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน ไม่ใช่เน้นเพื่อนักท่องเที่ยว โดยการให้มีจุดเช่า/คืนประมาณ 1,000 จุดทั่วเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน-กลาง และส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้การใช้จักรยานเป็นจริงได้

            หากแต่ละจุดมีจักรยานให้เช่า 40 คัน รวม 40,000 คัน ถ้าซื้อมาคัน ละ 3,000 บาท (ราคาซื้อเป็นจำนวนมาก) ก็เป็นเงินเพียง 160 ล้านบาท ค่าสถานที่และจัดการอีกประมาณ 1 เท่าตัว จะเห็นได้ว่าโครงการนี้สำเร็จได้ด้วยเงินเพียงไม่เกิน 400 ล้านบาท ยิ่งหากมีการส่งเสริมการใช้จักรยานให้เช่าขี่ไปทำงานหรือไปติดต่อธุระใด ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรจักรยานบนท้องถนนได้ ก็จะทำให้การขี่จักรยานยิ่งปลอดภัยขึ้น

            ในทางการเงิน ค่าเช่าจักรยานในแต่ละวัน (วันหนึ่งได้หลายเที่ยว) อาจเป็นเงินเพียง 20 บาท โดยมีกำไรสุทธิ 20% หรือเพียง 4 บาท เมื่อโครงการอยู่ตัวแล้วในแต่ละวันอาจมีผู้เช่าเพียง 30% ของรถทั้งหมด คือมีผู้เช่า 12,000 คันจากทั้งหมด 40,000 คัน ในปีหนึ่งก็จะมีรายได้สุทธิ  17.52 ล้านบาท หรือมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 4.4% ซึ่งแม้จะไม่สูงนัก แต่ก็ไม่ขาดทุน

            อันที่จริงกรุงเทพมหานครน่าขี่จักรยานที่สุดเพราะไม่มีเนินเขา ถ้าเรารณรงค์ให้เขตชั้นในๆ เป็นเขตส่งเสริมการใช้จักรยาน  การใช้จักรยานก็จะยิ่งเป็นจริงเพราะระยะทางแต่ละจุดไม่ไกลเกินไป ยิ่งเราส่งเสริมให้คนใช้จักรยานมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีคนขี่มาก ในเวลาไม่ช้าจะมีจักรยานในเขตใจกลางเมืองทั้ง 6 เขตนี้มากกว่ารถจักรยานหรือรถอื่นๆ เสียอีก  เมื่อถึงเวลานั้นฝุ่นควันในเมืองก็จะลดลงจนไม่เป็นปัญหาในการขี่จักรยานอีกต่อไป

            ยิ่งหากเรากระตุ้นด้วยการขอความร่วมมือจากดารา 'เซเลป' ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ฯลฯ ออกมาช่วยกันขี่จักรยานจากอาคารชุดหรือบ้านอยู่อาศัยใจกลางเมืองไปทำงานด้วยแล้ว จะยิ่งกระตุ้นให้คนขี่จักรยานมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเสริมด้วยการสร้างอาคารจอดรถในเขตรอบนอกเพื่อส่งเสริมให้คนจอดรถไว้นอกเมือง แล้วนั่งรถไฟฟ้าและเช่าจักรยานขี่ในเมืองมากยิ่ง และเมื่อโครงการสำเร็จ เราก็จะสามารถขยายเขตขี่จักรยานครอบคลุมได้มากยิ่งขึ้นอีก
จักรยานให้เช่าในโครงการ CitiBike ของมหานครนิวยอร์ค

การขุดสนามหลวง

            สนามหลวงควรได้รับการพัฒนาใต้ดินโดยก่อสร้างเป็นอาคารจอดรถขนาดใหญ่สำหรับรถโดยสารปรับอากาศที่เดินทางมาท่องเที่ยว  และสำหรับผู้มาติดต่อราชการต่าง ๆ ตลอดจนวิสาหกิจเอกชนในพื้นที่  นอกจากนั้นยังสามารถสร้างเป็นแหล่งเชื่อมต่อสำคัญของสายรถประจำทาง สถานีขนส่งสายใต้ และอาจเป็นศูนย์รวมระบบขนส่งมวลชนระบบรางในอนาคตอีกด้วย

            การพัฒนาเช่นนี้สามารถทำได้ง่ายและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยมาก 

สนามหลวงมีขนาดประมาณ 70 ไร่ หรือ 112,000 ตารางเมตร  หากใช้พื้นที่ก่อสร้างเพียง 60% โดยสร้างเป็นอาคาขนาด 4 ชั้น ก็จะมีพื้นที่รวมประมาณ 268,800 ตารางเมตร  ยิ่งหากทำอุโมงค์เชื่อมต่อกับทางยกระดับในบริเวณใกล้เคียง ก็ยิ่งจะทำให้สนามหลวงกลับมา "รับใช้ประชาชน" เป็นศูนย์กลางการเดินทาง และทำให้พื้นที่ใจกลางเมืองฟื้นคืนกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง

การแปลงสนามหลวงเป็นไนท์บาร์ซาร์

            เราควรเริ่มต้นให้ใช้พื้นที่บริเวณสนามหลวง และรอบกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีพื้นที่รวมกันประมาณประมาณ 60,000 ตารางเมตร ซึ่งคิดเฉพาะพื้นที่ในบริเวณทางเดินรอบสนามหลวงและพื้นที่บนทางเท้ารอบอาคารศาลยุติธรรม ตลอดจนถนนราชินีและถนนหน้าหับเผยข้างอาคารศาลฯ  หากนำพื้นที่ 50% มาใช้เพื่อกิจกรรมสันทนาการและไนท์บาซาร์ ก็จะกินพื้นที่ประมาณ 30,000 ตารางเมตร

            กรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าของพื้นที่สามารถจัดกิจกรรมตลาดได้ทุกวัน นำรายได้เข้ามาบำรุงเกาะรัตนโกสินทร์ได้เพิ่มเติม เช่น คืนหนึ่งหากมีพื้นที่เช่าประมาณ 20,000 ตารางเมตรในระยะเวลาเริ่มต้น คิดเป็นเงินตารางเมตรละ 100 บาทต่อคืน ก็จะได้เงินประมาณปีละ 720 ล้านบาท หากหักค่าใช้จ่ายเหลือเงินกำไรสุทธิ 20% เพื่อนำมาพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ให้มีความสง่างามเพิ่มเติม ก็จะได้เงินประมาณ 144 ล้านบาทต่อปี  ยิ่งหากการพัฒนานี้ขยายตัว ก็ยิ่งจะได้รายได้มาพัฒนากรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น  และด้วยการจัดการที่ดี มีการบำรุงรักษาสถานที่หลังจากการใช้สอย ก็จะทำให้ภูมิทัศน์ของเกาะรัตนโกสินทร์ ยังคงความสง่างามและจะยิ่งสง่างามยิ่งขึ้น หากมีได้เงินกำไรมาพัฒนาเพิ่มเติม

            กิจกรรมไนท์บาซาร์นี้ควรเปิดบริการในระหว่างเวลา 18:0024:00 น.  และควรมีกิจกรรมเสริมเช่น การล่องเรือรอบคลองหลอด  ลานการแสดงออกสำหรับคนหนุ่มสาวและศิลปิน เป็นต้น  และในอนาคตยังสามารถขยายไปยังถนนมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ และอื่น ๆ ในเกาะรัตนโกสินทร์ รวมทั้งถนนราชดำเนินในและถนนราชดำเนินกลาง จนกลายเป็นตลาดไนท์บาซาร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

            
ประโยชน์จากการนี้เปิดตลาดไนท์บาซาร์ ณ เกาะรัตนโกสินทร์ ได้แก่

1.      เป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ให้ประชาชนได้ชื่นชมอาคารสถานที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ในห้วงเวลาที่ไม่ร้อนเช่นเวลากลางวัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความหวงแหนในสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย

2.      เป็นการเปิดโอกาสให้วัยรุ่น เยาวชน คนหนุ่มสาว ศิลปิน ได้มีพื้นที่แสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ในพื้นที่ไนท์บาซาร์แห่งนี้ ซึ่งไม่ได้เน้นเพื่อการขายสินค้าแต่อย่างใด

3.      เป็นการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีพื้นที่ทำการค้าในราคาที่ยุติธรรมพร้อมการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐาน

4.      เป็นสถานที่ทางเลือกเพื่อการพักผ่อนที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในยามค่ำคืน ซึ่งจะทำให้พื้นที่นี้มีชีวิตชีวา ปลอดจากมิจฉาชีพ โดยทั้งนี้จะมีการจัดวางกำลังรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดี  บุตรหลานสามารถเดินทางมาได้อย่างปลอดภัย

5.      เป็นการทำให้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งนอกจากจะควรได้รับการยกย่องเชิดชูแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทั้งที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ประชาชนไทยโดยทั่วไปและนักท่องเที่ยว

6.      เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สะอาด ปลอดมลพิษ มีคุณภาพ ให้ชื่อเสียงของประเทศไทยเป็นที่ประจักษ์ในเชิงสากล โดยไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวประเภทการให้บริการทางเพศหรืออื่นใดที่ทำให้ชื่อเสียงของประเทศชาติมัวหมอง

         การที่จะพัฒนาเมือง พัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ หรือในพื้นที่เจาะจงเช่นสนามหลวงนั้น จะต้องมีแผนแม่บทที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่ใช่ทำโครงการแบบ "ผักชีโดยหน้า" ที่ "ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" ไปวันๆ