วันพุธ, ธันวาคม 24, 2557

มานีมีเเชร์ ใครใคร ก็มี สิทธิ์

....

ปชป.ยื่นฟัน “สุดา” ผิด ม.112 ฐานแต่งดำไว้อาลัยคดี ปรส.ในเดือนมหามงคล



ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

ทีมกฎหมายประชาธิปัตย์เผยยื่นเรื่องผู้ช่วย รมว.กลาโหมให้ฟัน “สุดา เสื้อแดง” อ้างผิด ม.112 ฐานแต่งดำไว้อาลัยคดี ปรส.ในเดือนมหามงคล เตรียมเล่นหมิ่นประมาทใส่ร้ายพรรคว่าขายชาติ แฉ ตร.ไม่ฟ้องลูกเด็กเพื่อไทยนามสกุล “วลัยเสถียร” ทั้งๆ ที่หมิ่นสถาบันร้ายแรง ด้าน “ศิริโชค” แจง 10 ความจริง โวยนโยบายตั้งแต่สมัย “ชวลิต”

วันนี้ (23 ธ.ค.) นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการดำเนินคดีต่อ น.ส.สุดา รังกุพันธ์ นักวิชาการเสื้อแดง กรณีลงข้อความและภาพในเฟซบุ๊ก สุดา รังกุพันธุ์ ว่าแต่งดำเดือนธันวาฯ ไว้อาลัยคดี ปรส. ทั้งที่เดือนธันวาคมเป็นเดือนมหามงคลที่คนไทยจะแต่งสีเหลืองเพื่อถวายพระพร ถือว่าเป็นการกระทำที่จาบจ้วงล่วงละเมิด ผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงได้ยื่นเรื่องต่อ พล.อ.รุ่งโรจน์ จำรัสโรมรัน ผู้ช่วย รมว.กลาโหม ให้ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดตามมาตรา 112 อย่างจริงจังตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมีกรณีของบุตรชายนักการเมืองพรรคเพื่อไทย นามสกุลวลัยเสถียร ที่มีการล่วงละเมิดสถาบันเบื้องสูงอย่างร้ายแรง แต่ตำรวจมีคำสั่งไม่ฟ้อง จึงยื่นเรื่องให้ดำเนินการด้วย

นายวิรัตน์กล่าวด้วยว่า ในส่วนของ น.ส.สุดา นอกจากทำผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะฟ้องดำเนินคดีหมิ่นประมาทด้วย เนื่องจากข้อความที่นางสาวสุดา โพสต์ยังมีการกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ขายชาติทำให้เกิดความเสียหายกรณี ปรส. เป็นการใส่ร้ายอย่างน่าละอายเพราะพรรคที่ทำให้เกิดความเสียหายคือรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แต่รัฐบาลประชาธิปัตย์เข้าไปแก้ไข

ด้านนายศิริโชค โสภา อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเด็น ปรส.เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยและนักวิชาการเสื้อแดงใช้เป็นประเด็นโจมตีให้พรรคเกิดความเสียหายมาโดยตลอด จึงมีความจำเป็นต้องฟ้องดำเนินคดี และขอชี้แจงความจริง 10 ประการเกี่ยวกับ ปรส. ดังนี้ 

1. วิกฤตเศรษฐกิจเกิดในสมัย พล.อ.ชวลิต ที่มีการดำเนินนโยบายการเงินการคลังผิดพลาด ปล่อยให้นักการเมืองนำหลักทรัพย์ที่ไม่มีมูลค่าไปกู้เงิน เช่น กรณีธนาคารบีบีซี และมีการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปแทรกแซงเงินบาทจนหมดตัวก่อนลอยตัวค่าเงินบาท

2. การลาออกของ พล.อ.ชวลิต ไม่ใช่การรับผิดชอบ แต่เป็นการทิ้งปัญหาเพราะคิดว่าประเทศไทยไปไม่รอด อีกทั้งก่อนลาออกยังได้ลงนามสัญญาทาสกับกองทุนไอเอ็มเอฟจนทำให้รัฐบาลต่อมาต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ต้น 

3. องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. เกิดในสมัย พล.อ.ชวลิต มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นรองนายกรัฐมนตรี มีการแยกสถาบันการเงินที่มีปัญหาออกจากสถาบันการเงินที่ยังสามารถดำเนินการได้ด้วยการระงับสถาบันการเงินที่มีปัญหา 16 แห่งเป็นการชั่วคราวในวันที่ 26 มิถุนายน 2540 และตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจ คือ คณะกรรมการกำกับควบ หรือโอนกิจการของสถาบันการเงิน (คคส.) ในวันที่ 3 ก.ค. 2540 เพื่อกำกับดูแลการควบหรือรวมกิจการ กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำแผนฟื้นฟูสถาบันการเงิน ต่อมารัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยังระงับการดำเนินกิจการของสถาบันการเงินเพิ่มเติมอีก 42 แห่ง ในวันที่ 2 สิงหาคม 2540 รวมทั้งหมด 58 แห่ง โดยกำหนดให้มีการยื่นแผนฟื้นฟูให้ คคส.ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2540

4. รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ประกาศใช้พระราชกำหนด 6 ฉบับ โดยหนึ่งในนั้น คือ พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินการทั้ง 58 แห่ง มีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 ตุลาคม 2540

5. ตามข้อจำกัดที่รัฐบาล พล.อ.ชวลิตทำสัญญากับไอเอ็มเอฟ ทำให้ ปรส.ต้องพิจารณาแผนการฟื้นฟูให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พ.ย. 2540 และประกาศผลการพิจารณาในวันที่ 7 ธันวาคม 2540 ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าบริหารประเทศในวันที่ 14 พ.ย. 2540 อีกทั้ง ปรส.เป็นองค์กรอิสระที่รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ โดยการบริหารของ ปรส.ในขณะนั้นมีสถาบันการเงิน 2 แห่งจาก 58 แห่งได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการตามแผนฟื้นฟู โดยหนึ่งในนั้นคือ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) มีภรรยาของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นเจ้าของ นอกจากนี้ ในปี 2556 ป.ป.ช.ยังมีการชี้มูลความผิดผู้บริหาร ปรส.ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท เกียรตินาคินด้วย

6. ยอดหนี้ที่ ปรส.เข้าไปสะสางมีเจ้าหนี้รวม 93,656 ราย มูลค่า 873,973.81 ล้านบาท เป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ประมาณ 769,284.83 ล้านบาท 

7. จากยอดหนี้ 769,284.83 ล้านบาท เป็นหนี้สินทรัพย์ไม่ใช่เป็นทรัพย์สินซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากการลอยตัวค่าเงินบาทจึงทำให้ยอดหนี้เพิ่มขึ้นตามค่าเงินบาทที่อ่อนลงจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 50 บาทต่อดอลลาร์ 

8. หลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันมีมูลค่าลดลงจากวิกฤตเศรษฐกิจ และยังมีปัญหาว่าหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันในขณะนั้นเป็นหลักทรัพย์มีการประเมินราคาสูงเกินความเป็นจริง

9. ยอดสินทรัพย์ที่มีการประมูลขาย คือ 748,091.78 ล้านบาท ได้เงิน 264,093.99 ล้านบาท และมีสินทรัพย์จำนวน 120,868.05 ล้านบาท เป็นหนี้ที่ต้องบังคับคดีตามคำพิพากษาไม่สามารถนำไปประมูลขายได้ ดังนั้นจึงไม่มีการประมูลขายทรัพย์สินมูลค่า 873,973.81 ล้านบาท และได้เงินคืนเพียง 190,000 ล้านบาท ตามที่มีการปลุกระดมให้เกิดความเข้าใจผิด 

10 กรณีอ้างว่าคดี ปรส.หมดอายุความเดือนพฤศจิกายนเป็นเรื่องเท็จ เพราะปัจจุบัน ป.ป.ช.ได้ชี้แจงแล้วว่าไม่มีคดีค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. โดยมีการสั่งฟ้องไปแล้วสองคดี คือ เรื่องการวางหลักประกันการประมูลหนี้ ที่ฟ้องผู้บริหาร ปรส. ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องอยู่ในชั้นการพิจารณาคดีของศาลฎีกา และกรณีกล่าวหานายมนตรี เจนวิทย์การ เลขาฯ ปรส.กับพวก เอื้อประโยชน์บริษัทเกียรตินาคินจนทำให้รัฐได้รับความเสียหายซึ่งอยู่ในขั้นตอนการฟ้องร้องดำเนินคดี

นายศิริโชคกล่าวว่า จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่าคนที่บริหารจนเกิดความเสียหายคือรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาเงินกู้ไอเอ็มเอฟ และมีการตั้ง ปรส.เพื่อบริหารแผนฟื้นฟูสถาบันการเงิน โดยมีการออกกฎหมายให้เป็นหน่วยงานอิสระที่รัฐบาลแทรกแซงไม่ได้ อีกทั้งยังต้องปฏิบัติตามแผนของไอเอ็มเอฟตามพันธะสัญญาที่รัฐบาล พล.อ.ชวลิตไปลงนามด้วย พรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ใช่ผู้ทำให้เกิดความเสียหาย แต่เข้ามาแก้วิกฤตประเทศ ในขณะเดียวกันก็มีข้อมูลชัดเจนว่าคนที่ได้ประโยชน์จากการบริหารของ ปรส.คือ บริษัท เกียรตินาคิน ที่มีภรรยานายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นเจ้าของ