วันอังคาร, ธันวาคม 30, 2557

ชัดขึ้น "อำนาจของใคร".. ??



“..ผมได้พูดกับนายกฯลุงตู่ เป็นการส่วนตัวว่า เราออกมาแล้ว เราคงจะถอยไม่ได้จะต้อง เดินหน้าไป อย่างองอาจ และกล้าหาญ เดินหน้าไปอย่างสุภาพบุรุษ และเดินไปข้างหน้า อย่างที่เป็นคนไทยโดยสายเลือด และต้องเดินหน้าไปเพื่อลูกหลานของเรา

อีกทั้งเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะแสดงให้เห็นว่า พวกเราจะไม่ทอดทิ้งพี่น้องของเราให้ทุกยากลำบากได้ ผมรู้ว่าทุกคนเหนื่อย และเหนื่อยด้วยกันทั้งนั้น แต่ทุกคนเหนื่อยเพื่อชาติ เพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคนไทยทุกคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้เราหายเหนื่อย และมีกำลังใจที่จะต่อสู้ทุกสิ่งทุกอย่าง

ผมใคร่ขอให้พี่น้องทหารเหล่าทัพต่างๆ ช่วยเป็นกำลังใจกับท่านนายกฯ และคณะรัฐบาล ที่ทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง ฉะนั้นเราจึงเป็นมิตรกัน และเป็นเพื่อนร่วมตายกัน ก็ต้องช่วยดูแลซึ่งกันและกัน..”

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
รัฐบุรุษ และ ปธ.องคนมตรี
กล่าวอวยพร หัวหน้า คสช. และครม.
บ้านสี่เสา เทเวศร์
29 ธ.ค.57

...


.. นายกฯไม่ต้องเป็นส.ส.ก็ได้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคก็ได้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เราลองผิดลองถูกมาหลายรอบจนน่าจะรู้ดีรู้ชอบ สุดท้าย ฯพณฯ ผู้มีอำนาจ ก็กลับไป ลองผิด อีกรอบ...

22 ปีก่อนคนไทยเอาเลือดเนื้อชีวิตเข้าแลก เพื่อขับไล่นายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน บทเรียนครั้งนั้นแทบจะมั่นใจได้เลยว่า ปิดตายนายกฯคนนอก แต่ที่ย้อนยุคถอยหลัง วันนี้ นึกถึงดวงวิญญาณ วีรชนพฤษภา"35 กันบ้างไหม...

สภาผู้แทนฯเคยเหม็นคาวกับส.ส.อิสระ รับเงินทองในห้องน้ำก่อนลงมติ ใครเป็นใครรับรู้ รับทราบกันทั่ว ทำไมรัฐธรรมนูญใหม่ยังอยากย้อนยุค กลับไปหา ส.ส.ขายตัว ที่พร้อมโหวตตามเงินทอง ผลประโยชน์ บางยุคบางสมัยจำยอมต้องลงมติตาม กระบอกปืน...

ส.ว. จากลากตั้ง ยืนยันในตัวเองว่า ไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาจากอำนาจพิเศษ ที่พิเศษเฉพาะกลุ่มเฉพาะพวก ยิ่งรัฐธรรมนูญใหม่กางแบเพิ่มอำนาจส.ว.มากกว่าเดิม อำนาจพิเศษ ก็ยิ่งเหนือหัวประชาชน

สรุปแล้ว รัฐประหารไม่เสียของ ส่วนจะ ของใคร คงไม่ต้องอธิบายความ...

by..@สันตะวา

...



ชัดขึ้น "อำนาจของใคร".. ??

โครงสร้างอำนาจการเมืองที่ต้องออกแบบกันใหม่หลังความวุ่นวายจนจบที่กองทัพทำรัฐประหารเริ่มเห็นรูปเห็นร่างในส่วนที่สำคัญแล้ว

หนึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมาจากการเลือกตั้ง

สอง ที่มาของ ส.ส.คือ หนึ่งเขตพื้นที่ 250 คน ปาร์ตี้ลิสต์หรือสัดส่วน 200 คน เกิดจากหลักคิดที่ต้องการทำให้พรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดไม่สามารถครองอำนาจอย่างเด็ดขาดได้

สาม ที่มาของส.ว.ทั้งหมดไม่มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง กำหนดให้เป็นการสรรหาจาก 5 กลุ่ม แม้จะไม่ตัดขาดจากประชาชนส่วนใหญ่เสียทั้งหมด เพราะมีบางส่วนที่เชื่อมโยงอยู่กับการสรรหาของกลุ่มอาชีพ แต่หมายความว่าไม่เกิน 200 คนที่จะมาเป็นวุฒิสภานี้ หากจะใช้อำนาจเข้ากำหนดตัวบุคคลก็เป็นเรื่องเป็นไปได้ไม่ยาก

ที่สำคัญคืออำนาจของ ส.ว.ลงลึกไปถึงจุดที่ชี้เป็นชี้ตายต่อนักการเมืองได้ทุกระดับ หากเอาความแตกต่างทางความคิดที่ว่าประชาธิปไตยควรจะยืนอยู่ในจุดใดมาเป็นตัววิเคราะห์ ความคิดหนึ่งเห็นว่าอำนาจของประชาชนเป็นใหญ่ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่เท่าเทียมกัน

กับอีกความคิดหนึ่งว่าประชาชนไทยยังไม่พร้อมที่จะมีสิทธิที่เท่าเทียมกันเพราะจะทำให้เกิดการเมืองที่ไม่มีคุณภาพคนกลุ่มหนึ่งอาศัยการใช้สิทธิที่ไม่ฉลาดและเห็นแก่ผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ของประชาชน เข้ามามีอำนาจและแสวงหาประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อส่วนรวมได้ จึงต้องเปิดทางให้คนกลุ่มที่มีคุณภาพมีสิทธิที่จะจัดการกับอำนาจรัฐได้มากกว่า

ผลการวิเคราะห์คงจะออกมาในทางแนวความคิดที่สองประสบความสำเร็จในการชักนำกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญให้คล้อยตามได้มากกว่า

เราจะมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ขณะที่ส.ส.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนถูกทำให้กระจัดกระจาย ไม่มีเอกภาพ ทว่าอีกทางหนึ่งให้อำนาจอย่างเต็มที่กับ ส.ว. ที่แม้จะใช้ศัพท์มาจากการสรรหา แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่ต่างอะไรกับ "มาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ"

นั่นหมายความว่า โครงสร้างอำนาจรัฐแบบใหม่ที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญสรุปออกมานี้ เป็นโครงสร้างที่เข้ามามีอำนาจโยงใยกับประชาชนน้อยขึ้นจากเดิมมาก อำนาจของผู้ที่ไม่ได้มาจากการเชื่อมโยงกับประชาชนมีมากขึ้น

เป็นอำนาจที่ถูกกำหนดโดยกลุ่มคนที่สถาปนาตัวเองเป็นคนมีคุณภาพคุณธรรมคนดี มีความรู้ความสามารถเหนือกว่าคนอื่น ว่าไปแล้วไม่ต่างอะไรกับ "ประชาธิปไตยครึ่งใบในอดีต" กับการพัฒนาประชาธิปไตยไทยที่ทำกันมายาวนาน 80 ปี ที่สุดวันนี้สภาพการเมืองการปกครองไม่ใช่แค่ไปไม่ถึงไหน แต่เป็นการถอยหลังกลับ

เหมือนกับจะต้องยอมรับกันว่า ประชาชนไทยยังไม่มีสำนึกประชาธิปไตยที่จะมอบอำนาจให้ปกครองกันเอง เหล่านี้คือเรื่องราวที่กำลังจะเป็นไป

ความน่าสนใจอยู่ที่นักการเมืองที่อวดอ้างความเป็นนักประชาธิปไตยทั้งหลายจะเลือกทำอย่างไรกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นยอมรับและใช้การพลิกแพลงเพื่ออยู่ในโครงสร้างอำนาจแบบนี้หรือเป็นปากเป็นเสียงเพื่อรักษาสิทธิที่เท่าเทียมให้กับประชาชนส่วนใหญ่

เช่นเดียวกับประชาชน จะยอมรับความด้อยคุณภาพ ไร้สำนึกประชาธิปไตยของตัวเองจนต้องถูกรอนสิทธิไปให้คนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิมีเสียงในการกำหนดอำนาจรัฐได้มากกว่าหรือไม่

ยังไม่มีใครสรุปได้ว่านักการเมืองและประชาชนส่วนใหญ่คิดอะไรกับเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ และที่สำคัญคือเมื่อคิดแล้ว จะพูดจะทำอะไร อย่างไร

ความแตกต่างทางความคิดในเรื่องสิทธิการมีส่วนร่วมในอำนาจจัดการประเทศ วันนี้ได้ข้อสรุปในขั้นกรรมาธิการแล้วว่า คุณภาพของคนกลุ่มหนึ่งเหนือกว่าจนต้องกำหนดให้มีสิทธิมากกว่าคนส่วนใหญ่

จะยอมรับโครงสร้างอำนาจเช่นนี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ชวนติดตามด้วยความระทึก!!

by..@สุชาติ ศรีสุวรรณ
...

ที่มา จเด็ด สิบทิศ