วันศุกร์, กันยายน 26, 2557

“แม่น้ำห้าสาย” กับคนที่กำลัง “ชักแม่น้ำทั้งห้า"


ที่มา FB ส.ผาน้ำย้อย

ในภาวะที่คนไทยมีความหวังว่าแม่น้ำห้าสายที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กำลังจะทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ตามที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปรียบเทียบ และระบุถึงผลลัพธ์ว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับไม่มีสัญญาณที่เด่นชัดมากพอที่จะเป็นหลักประกันได้ว่า

“แม่น้ำห้าสาย” จะไหลได้อย่างอิสระ ตรงกันข้ามกลับมีปรากฏการณ์บ่งชี้ว่า “แม่น้ำห้าสาย” นั้น มีคนที่กำลัง “ชักแม่น้ำทั้งห้า” อยู่

แม่น้ำสายที่หนึ่งซึ่งก่อกำเนิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. นั้นปรากฏชัดเจนว่า ไม่ได้มีความหลากหลายทางวิชาชีพ แต่เป็นแค่สภาคนกันเองที่ทำให้เวทีของฝ่ายนิติบัญญัติ กลายสภาพเป็นแค่มือไม้ของรัฐบาลและถูกฝ่ายเหนือปฏิบัติเสมือนกับเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา มากกว่าการให้ความเคารพในสถานะของฝ่ายนิติบัญญัติตามระบบถ่วงดุลของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จึงมิอาจคาดหวังเรื่องการตรวจสอบเพราะการอภิปรายที่ผ่านมาได้ประจาน สนช. ชุดปัจจุบันแล้วว่า เป็นได้แค่ “พวกยอวาที” เท่านั้น

แม่น้ำสายที่สองคือ คณะรัฐมนตรี ก็เต็มไปด้วยการควบตำแหน่งของข้าราชการประจำที่มานั่งแท่นเป็นรัฐมนตรีเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่ง จนเกิดปัญหาถึงขั้นสภามหาวิทยาลัยมหิดล มีมติให้ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องตัดสินใจเลือกว่าจะต้องดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น ขณะเดียวกันทิศทางการปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่ได้เป็นไปในลักษณะของการทำงานเป็นทีม แต่มีการยก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวชูโรงส่วนรัฐมนตรีคนอื่นก็มีหน้าที่เป็นแค่เพียงผู้ตามเท่านั้น

แม่น้ำสายที่สาม คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่คุยคำโตกันไว้ว่าจะเป็นอิสระก็มีข่าวฉาวเรื่องการล็อคสเปคตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะระดับจังหวัด จนกระทั่งมีการแก้เกมเพิ่มปริมาณผู้สมัครเพื่อสร้างภาพว่าจำนวนที่มากจะทำให้ไม่สามารถล็อกสเปกได้ ทั้งๆ ที่เรื่องของจำนวนไม่สามารถนำมาเป็นผลลัพธ์ได้ว่าการคัดเลือก สปช. จะเป็นไปโดยอิสระ ไม่มีการล็อกสเปกจริงหรือไม่

เนื่องจากคนที่คัดเลือกคือคณะกรรมการสรรหาจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจ และคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดส่วนใหญ่ก็คือข้าราชการที่ คสช. สามารถควบคุมได้ ไม่แตกต่างจากคณะกรรมการสรรหาระดับประเทศที่แต่งตั้งโดย คสช. เช่นเดียวกัน

ที่ประหลาดไปกว่านั้นคือ ประธานคณะกรรมการสรรหาสองคนคือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ มีชัย ฤชุพันธุ์ ยังถ่างขาทำหน้าที่เป็น คสช. อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย จึงเท่ากับว่าเป็นคน “ชงเอง กินเอง” อย่างชัดเจน เพราะคณะกรรมการสรรหาส่งให้ คสช. เลือก ในขณะที่คณะกรรมการสรรหานั้นก็เป็น คสช. ด้วย

การวางระบบเช่นนี้ทำให้เห็นถึงทิศทางที่ไม่ชัดเจนจนไม่สามารถมั่นใจได้ว่า การวางกติกาที่ไม่พร่ามัวจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศได้อย่างไร

แม่น้ำสายที่สี่ คือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะมาจาก สปช. ที่ คสช. เลือก 20 คน มาจาก สนช. ที่ คสช. แต่งตั้ง 5 คน มาจาก ครม. ที่ คสช. เลือก 5 คน มาจาก คสช. อีก 5 คน โดย คสช. ยังมีบทบาทในการเสนอบุคคลที่จะเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯด้วย

แม่น้ำสายที่ห้า คือ การคงอยู่ของ คสช. ที่มีอำนาจจากมาตรา 44 อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยสามฝ่ายทั้งบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ

จะเห็นได้ว่า คสช. คือ ผู้ที่ “ชักแม่น้ำทั้งห้า” ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่การปฏิรูปประเทศ แต่หากพิเคราะห์ถึงหลักคิดจากการบริหารประเทศที่ผ่านมายังไม่พบว่า คสช. ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางใด เพราะในขณะที่กำหนดว่าคนที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองต้องไม่เข้ารับตำแหน่งทางการเมือง แต่ คสช. ตั้งคนที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองมาช่วยงาน ทั้งสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และวิเศษ จูภิบาล อดีตผีบ้านเลขที่ 111 ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากคดีทุจริตเลือกตั้งจนมีการยุบพรรคไทยรักไทย

ในขณะที่ คสช. บอกว่าจะปฏิรูปพลังงาน กลับออกนโยบายแยกกิจการท่อก๊าซให้ ปตท. ถือหุ้น 100% โดยไม่รอผลสรุปจากการพิจารณาของสภาปฏิรูปฯว่าจะมีการกำหนดทิศทางการปฏิรูปพลังงานอย่างไร อีกทั้งยังเดินหน้าที่จะขยับราคาก๊าซ และไม่มีการยกเลิกกองทุนน้ำมันที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่าขัดกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นบทพิสูจน์สำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่า คสช. มีกึ๋นมากพอที่จะเข้ามาปฏิรูปพลังงาน หรือว่าจะกลายเป็นแค่หุ่นเชิดจากข้าราชการระดับสูงและกลุ่มทุนพลังงานใช้อำนาจรัฐปกป้องทุนเท่านั้น

ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ดำเนินการตามมติผู้ตรวจการแผ่นดินด้วยการยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2547 หรือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะขัดกฎหมายและทำให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคเสียประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ไม่เป็นธรรม ลงวันที่ 28 พ.ค. 2557 มาถึงวันนี้ก็เกือบสี่เดือนแล้ว แต่ คสช. ไม่ขยับทำอะไรเลย

นอกจากไม่ดำเนินการให้สถานะกองทุนน้ำมันถูกกฎหมายแล้ว ยังมีการใช้กองทุนน้ำมันที่ขัดกฎหมายเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. 6 ครั้ง โดยล่าสุดในวันที่ 21 สิงหาคม 2557 มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซล

จะเห็นได้ว่าหลังจาก คสช. รับทราบมติผู้ตรวจการแผ่นดินที่ระบุว่ากองทุนน้ำมันไม่มีกฎหมายรองรับและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อน้ำมันในราคาที่ไม่เป็นธรรมไปแล้ว ก็ไม่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่เคยชี้แจงต่อสาธารณะว่าหลักคิดของ คสช. ในเรื่องนี้คืออะไร

เมื่อ คสช. ไม่ขยับ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ต้องเดินหน้าด้วยการส่งเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 มาตรา 14(1) บัญญัติไว้ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อ ศาลปกครองได้ เมื่อเห็นว่ามีกรณี กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของบุคคลตามมาตรา 13(1) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองโดยไม่ชักช้า เพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัย

กรณีกองทุนน้ำมันผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่าขัดกฎหมายและเสนอความเห็นให้ คสช. ดำเนินการแก้ไขแต่ผ่านมาเกือบสี่เดือนก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ต้องส่งให้ศาลปกครองพิจารณายกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ในขณะเดียวกัน ต้องร้อง ป.ป.ช. ให้ไต่สวนเอาผิดกับ ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง ฐานละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่จนก่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนควบคู่ไปด้วย

แต่ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ทำ ประชาชนก็คงต้องไปยื่น ป.ป.ช. เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นการเมืองที่จ้องเอาผิดใคร แต่เป็นบทพิสูจน์การทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย คือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กับ คสช.
ooo

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 คืออะไร เปรียบกับแม่น้ำห้าสาย


ที่มา http://www.bloggang.com

รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้เป็นเหมือนกับต้นทางของสายแม่น้ำอีก 5 สายโดย

สายที่ 1 และเป็นสิ่งแรกที่จะเกิดขึ้น คือการเกิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเป็นสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ มีสมาชิกไม่เกิน 220 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งขึ้นตามคำแนะนำของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เป็นผู้เลือกสรรแล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูล สมาชิกทั้ง 220 คนนี้ไม่มีการรับสมัครจึงเป็นเรื่องที่หัวหน้า คสช.จะพิจารณาโดยอาศัยฐานข้อมูลหลายอย่างที่ตอนนี้มีการทำฐานข้อมูลเรียบร้อยแล้วซึ่งครอบคลุมทุกสาขาอาชีพทุกจังหวัดพื้นที่และภูมิภาคครอบคลุมทุกเพศทุกวัย คุณสมบัติสำคัญของคนที่จะเป็นสมาชิก สนช.ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 40 ปี มีสัญชาติไทย ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองเป็นเวลา 3 ปี คำว่า “ตำแหน่งในพรรคการเมือง” หมายความถึงตำแหน่งหัวหน้า รองหัวหน้าพรรค กรรมการบริหาร ผู้บริหารพรรค แต่ไม่รวมถึงสมาชิกพรรค


แม่น้ำ สายที่ 2 คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีไม่เกิน 35 คน ได้รับการแต่งตั้งจากบุคคลใดก็ได้ เป็นข้าราชการประจำก็ได้ เป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจก็ได้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติ ซึ่งใช้เวลาสั้นประมาณเพียง 1 ปี จึงสมควรเปิดทางให้บุคคลผู้มีความ

รู้ความสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองควบคู่กันไปเป็นรายกรณี ซึ่งก็เป็นไปตามปกติที่เคยปฏิบัติเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวทุกครั้งในอดีตที่ผ่านมา อำนาจหน้าที่คณะรัฐมนตรีแต่เดิม ซึ่งเป็นแบบฉบับที่เคยรู้จักกันมาตลอด มีประการเดียวคือ การบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบันนี้อยู่ในระหว่างเวลาที่ไม่ปกติและต้องการที่จะป้องกันขจัดสิ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเสียของหรือสูญเปล่าจึงได้กำหนดเป็นครั้งแรกให้ ครม.มีอำนาจเพิ่มขึ้นอีก 2 อย่าง นอกเหนือจากการบริหารราชการแผ่นดิน คืออำนาจหน้าที่ในการดำเนินการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าคณะรัฐมนตรีจะดำริเองหรือมีข้อเสนอมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือมาจากวงการใดก็ตาม ซึ่งสามารถเชื้อเชิญเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทยทั้งสิ้น ไม่ได้จำกัดว่าเป็นอำนาจของผู้ใด แต่เรากำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่คณะรัฐมนตรีโดยถือว่าเป็นคนละส่วนกับการบริหารราชการแผ่นดิน อำนาจที่ 3 ที่เพิ่มให้และเป็นหน้าที่ด้วยนอกเหนือจากการบริหารราชการแผ่นดินการดำเนินการปฏิรูปคือ การสร้างความสามัคคีปรองดองและสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยถือว่าเป็นพันธกิจที่ ครม.ต้องปฏิบัติ

ลำธาร หรือแม่น้ำหรือแคว สายที่ 3 ที่แยกออกไปคือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งวันนี้หลายคนเริ่มเรียกแล้วว่า สปช.มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน มาจากการสรรหาแบ่งมาจากจังหวัดต่าง ๆ 77 จังหวัดโดยสรรหากันมาซึ่งจะมีคณะกรรมการสรรหาคณะละ 1 ชุดใน 1 จังหวัด แล้วก็มองหาคนที่มีความเหมาะสมเข้ามาเป็นผู้แทนจังหวัดโดยเลือกเข้ามาจังหวัดละ 5 คน และให้ คสช.เลือก 1

ใน 5 จะไม่เลือกบุคคลอื่นนอกจาก 5 คนที่ส่งมาไม่ได้ อีก 173 คนเพื่อจะรวมกันให้เป็น 250 คนจะกระจายกันมาจากทั่วประเทศ ไม่ผูกพันกับจังหวัดหรือว่าพื้นที่ใด แต่ผูกพันอยู่กับด้านต่าง ๆ 11 ด้าน มีคณะกรรมการสรรหาประจำด้าน ด้านละ 1 ชุด ตัวคนที่เป็นกรรมการสรรหาจะไม่มีโอกาสได้รับเลือกเป็นสปช.ด้วย คือต้องไม่มีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องการสรรหาสมาชิก 173 คนจากทั่วประเทศให้ใช้วิธีการเสนอชื่อกันเข้ามา ห้ามสมัครเอง แต่ต้องมีองค์กร มีนิติบุคคล มีสมาคม มีมหาวิทยาลัย มีสถาบันการศึกษา แม้กระทั่งวัดก็เปิดโอกาสให้เสนอชื่อเข้ามา องค์กรละ 2 คน และกรรมการสรรหา

จะเลือกเฟ้นให้ได้แต่ละด้านด้านละไม่เกิน 50 คน รวมแล้วคงจะได้ประมาณ 50 คนมี 11 ด้านก็ได้รายชื่อ 550 คน ส่งไปที่ คสช. ที่จะเลือกเอาจากแต่ละด้านให้เหลือ 173 คนไปรวมกับ 77 คน จาก 77 จังหวัด เป็น 250 คน

อำนาจหน้าที่ของ สปช.ข้อที่ 1 ก็คือการเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ มีคนสงสัยว่าเสนอแล้วเอาไปทำอะไร คำตอบคือเสนอแล้ว สามารถปฏิบัติได้เลยโดยไม่ต้องรอกฎบัตรกฎหมายมารองรับก็ให้ส่งไปยังรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือบอกไปที่ คสช.ก็จะรับไปดำเนินการตามนั้น ถ้าเรื่องใดต้องมีกฎหมายรองรับจะขอให้สมาชิกสภาปฏิรูปนั่นเอง เพื่อยกร่างกฎหมาย และนำไปเสนอต่อ สนช.อำนาจหน้าที่ ข้อที่ 2 คือการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีคณะกรรมาธิการไปยกร่างจัดทำขึ้น

แม่น้ำ สายที่ 4 คือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี 36 คน มาจากสมาชิก สปช.เสนอ 20 คน มาจาก สนช.เสนอ 5 คน มาจาก ครม.เสนอ 5 คน และมาจาก คสช.เสนอ 5 คน แต่ คสช.จะเสนอคนไปเป็นประธาน

คณะกรรมาธิการยกร่างด้วยอีก 1 คนจึงรวมเป็น 36 คนเรียกว่า คณะกรรมาธิการ

ยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะมีอำนาจมากซึ่งต้องอาศัยความรู้ความสามารถเป็นพิเศษและทำงานแข่งกับเวลาเพราะเราให้เวลาทำงานเพียง 120 วันหรือ 4 เดือนเท่านั้น สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จแต่มันต้องมีเวลาก่อนหน้าและหลังจากนั้น จึงใช้เวลายาวนานมากกว่า 4 เดือน แต่การยกร่างเป็นฉบับหนึ่งออกมาให้คนเห็นทั้งประเทศ 4 เดือน ต้องเสร็จ ถ้าไม่เสร็จก็ต้องมีบทลงโทษ คณะกรรมาธิการจะต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในทางการเมืองใน 3 ปีก่อนย้อนหลังคือ พยายามเอาคนปลอดจากการเมืองมาร่างและห้ามคนที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่าง ๆ นั่นแปลว่าคุมในเรื่องอดีตและคุมในเรื่องอนาคตด้วยว่าคณะกรรมาธิการยกร่าง 36 คนนี้ จะไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ในอนาคตต่อไปไม่ได้ภายใน 2 ปี ฉะนั้นคนที่จะเป็นกรรมาธิการยกร่างฯนั้น นอกจากมีความรู้ความสามารถ มีเวลา มีความคิดก็จะต้องเสียสละเป็นพิเศษที่จะมาทำหน้าที่นี้ เมื่อร่างเสร็จก็จะเอาไปให้ สปช.ให้ความเห็นชอบ แต่ก่อนหน้านั้นจะมีการขอแก้ไขหรือที่เรียกว่าแปรญัตติ ถ้ากรรมาธิการเห็นชอบก็แก้ตาม แต่ถ้ากรรมาธิการไม่เห็นชอบกรรมาธิการจะมีสิทธิเด็ดขาดในเรื่องนี้ที่จะปกป้องรักษาร่างรัฐธรรมนูญของตนไว้ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คณะกรรมาธิการยกร่างไปร่างตามใจชอบจนแหวกแนวเกินไปและพิสดาร โลดโผน หรือขาดอะไรบางอย่างที่ควรจะมี จนกระทั่งกล่าวหากันอีกว่า เสียของ หรือสูญเปล่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวจึงกำหนดกรอบด้วยว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องร่างภายใต้กรอบสำคัญ 4 ด้าน

แม่น้ำหรือลำธารสายสุดท้าย สายที่ 5 คือ คสช.ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ยังคงอยู่ต่อไป เพียงแต่อาจเพิ่มจำนวนขึ้นมาเป็นไม่เกิน 15 คน อำนาจหน้าที่นั้นมีเพียงแค่ 1.เสนอแนะให้รัฐมนตรีพิจารณาปฏิบัติในเรื่องใด ถ้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วจะไม่ทำก็ได้ 2.คือขอเชิญคณะรัฐมนตรีประชุมร่วมกันเพื่อหารือปัญหาสำคัญของประเทศ ถ้า คสช. ไม่เชิญไป คณะรัฐมนตรีจะเชิญมาก็ได้ ซึ่งเป็นแบบแผนปกติในรัฐธรรมนูญชั่วคราวทุกฉบับ ไม่มีที่ใดเลยในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ที่กำหนดให้ คสช.มีอำนาจปลดรัฐมนตรีหรือปลดนายกรัฐมนตรี ดังที่มีผู้ร่ำลือ ไม่มีที่ใดกำหนดให้ คสช. เป็นพี่เลี้ยง หรือ เปลือกหอย ให้แก่คณะรัฐมนตรี ไม่มีที่ใดกำหนดให้ คสช. มีอำนาจบังคับบัญชาคณะรัฐมนตรี หรือ ข้าราชการประจำใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ให้ คสช.มีอยู่เพื่อจะช่วยดูแลแบ่งเบาภาระคณะรัฐมนตรีในด้านความมั่นคงการรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อคณะรัฐมนตรีจะได้ทำงานบริหารแผ่นดินโดยไม่วอกแวกกับปัญหาที่อาจแทรกซ้อน สอดแทรกเข้ามาในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีนี้

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ คสช.มีอำนาจที่จะจัดการในเรื่องต่าง ๆ ได้ในกรณีเกิดความจำเป็นสุดขีด โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปหาวิธีการนอกรัฐธรรมนูญอื่นใดอีกจึงได้กำหนดไว้ในมาตรา 46 ให้ คสช.ใช้อำนาจพิเศษที่สื่อมวลชนบางท่านอ่านแล้วอาจเข้าใจผิดไปพาดหัวว่า คสช.มีอำนาจนิติบัญญัติบริหารตุลาการนั้นไม่เป็นความจริง มีแต่เพียงอำนาจพิเศษตามมาตรา 46 ว่าหากเกิดกรณีจำเป็นต้องใช้อำนาจเพื่อการสร้างสรรค์ไม่ใช่ใช้เพื่อกำราบปราบปรามอย่างเดียว คสช.อาจใช้อำนาจพิเศษนี้ได้แม้เป็นการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติบริหารตุลาการ อำนาจนี้คงไม่ได้ใช้บ่อยครั้งซึ่งคณะที่ยึดอำนาจในอดีตมีอำนาจนี้เกือบทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่ได้ปรากฏว่าได้ใช้ทุกยุคทุกสมัยและได้ใช้ในยามที่ไม่อาจใช้กระบวนการปกติได้เท่านั้นเพื่อจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ไปใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญอื่นใดอีกที่สำคัญคืออาจจะใช้เพื่อการสร้างสรรค์ ทำในสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

สุดท้ายอาจมีคำถามในใจหลายคนว่ารัฐธรรมนูญฉบับหน้า คือฉบับที่ 20 ที่จะไปร่างกันนั้น ร่างเสร็จแล้วจะเปิดให้ลงประชามติหรือไม่ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เขียนไว้ แต่ก็ไม่ได้ปิดทาง เป็นสิ่งที่สามารถที่จะไปพิจารณากันตามความจำเป็นในอนาคตได้ ข้อสำคัญก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ทำสิ่งซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวในอดีตไม่ได้เขียนไว้ แต่มีเขียนในครั้งนี้ข้อหนึ่งคือ เมื่อใดที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือฉบับที่ 19 ชั่วคราวนี้ มีปัญหาอย่างใดที่สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์แม้จะเป็นฉบับชั่วคราว ครม.และคสช.จะจับมือกันเสนอต่อ สนช.เพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมบางเรื่องที่บกพร่องอยู่หรือควรจะมีแม้จะเป็นฉบับชั่วคราวแต่สามารถแก้ไขได้ในอนาคตคือได้พยายามทำให้มีความยืดหยุ่นที่สุด

และสุดท้ายอะไรที่มีคำถามในใจขออนุญาตตอบก่อนที่จะมีการถามในตอนหลังว่าลำธาร 5 สาย จะอยู่ไปนานจนถึงเมื่อใด คำตอบตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันอยู่ไปจนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องเลิกแน่ สนช.นั้นจะอยู่ไปจนถึงวันที่มีการเลือกตั้งสภาชุดหน้าคือมี ส.ส.สมัยหน้าเมื่อใด สนช.ก็ไม่จำเป็นก็หมดไป ครม.จะอยู่ไปกระทั่งถึงเมื่อมี ครม.ชุดใหม่มารับไม้ส่งต่อ สปช.จะอยู่ไปถึงเมื่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้น และเขียนเกี่ยวกับ สปช.อย่างไรก็ให้เป็นไปตามอย่างนั้น รัฐธรรมนูญฉบับหน้าอาจเขียนให้สภาปฏิรูปอยู่ทำหน้าที่ปฏิรูปเรื่องที่ค้างคาอยู่ต่อไปก็ได้หรือว่าจะไม่ให้อยู่เพราะจะเวนคืนอำนาจนี้ให้เป็นของ ส.ส.ที่เข้ามาก็ได้ก็ฝากไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่เสร็จ และหมดไปเมื่อใดก็เมื่อร่างเสร็จลงพระปรมาภิไธยเสร็จประกาศใช้ คณะกรรมาธิการฯ ก็สิ้นไปเมื่อนั้น และ คสช.จะอยู่ไปจนถึงเมื่อใดโดยหลักเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งคงไม่เขียนเรื่อง คสช.เอาไว้ในฉบับใหม่อีก คสช.ก็จะหมดไปเมื่อนั้น ทั้งหมดนี้คือแผนและขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปภายในระยะเวลา 1 ปีบวกลบ ก็ขอกราบเรียนเพื่อความเข้าใจ

หมายเหตุ...เป็นเนื้อหาส่วนสำคัญที่ ดร.วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคสช.ชี้แจงรายละเอียดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 ก.ค.

ข้อมูลข่าวจาก เดลินิวส์