วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 26, 2557

คำให้การของนายสก็อต มาร์เซียล รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงเกี่ยวกับรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้


Source:  bangkok.usembassy.gov

Thailand: A Democracy at Risk

June 24, 2014

Scot Marciel
Principal Deputy Assistant Secretary, Bureau of East Asian and Pacific Affairs
Testimony Before the House Committee on Foreign Affairs Subcommittee on Asia and the Pacific
Washington, DC

ประเทศไทย: ประชาธิปไตยในภาวะเสี่ยง

24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คำให้การของนายสก็อต มาร์เซียล รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต่อคณะอนุกรรมาธิการการต่างประเทศด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ
กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

เรียน ท่านประธานชาบอทและสมาชิกคณะอนุกรรมาธิการฯ

ขอขอบคุณที่เปิดโอกาสให้ผมเข้าพบในวันนี้เพื่อแถลงเกี่ยวกับรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้

ความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกา-ไทย

ปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้จัดงานเพื่อระลึกวาระครบรอบ 180 ปี แห่งมิตรสัมพันธ์กับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าพันธมิตรตามสนธิสัญญาของสหรัฐฯ ในเอเชีย ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่ง และความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับไทยทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกด้านการบังคับใช้กฎหมาย ด้านการไม่แพร่ขยายอาวุธ และด้านความมั่นคง ก็ดำเนินไปอย่างดีเยี่ยมมาตลอด กองทัพของสหรัฐฯ เข้าร่วมในการฝึกซ้อมร่วมทางทหารที่สำคัญอย่างหลากหลายทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกซ้อมทางทหารคอบร้าโกลด์ ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมร่วมทางทหารประจำปีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีกองกำลังจาก 27 ประเทศเข้าร่วม เช่น สหรัฐฯ ไทย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ตลอดจนประเทศผู้สังเกตการณ์อีกหลายประเทศ การฝึกซ้อมร่วมเช่นนี้มอบโอกาสอันมีค่าสำหรับกองทัพสหรัฐฯ ในการพัฒนาความสัมพันธ์ที่สำคัญ อีกทั้งเพิ่มพูนการประสานงานและความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงการตอบสนองต่อวิกฤตด้านมนุษยธรรม

ประเทศไทยมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในประเด็นและเป้าหมายด้านมนุษยธรรมมามาเป็นเวลาหลายปี โดยได้ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยหลายแสนคนช่วงหลังสงครามเวียดนาม และทุกวันนี้ยังคงเป็นที่พักพิงของผู้ลี้ภัย 140,000 คน ซึ่งรวมถึงชนกลุ่มน้อยที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองและต้องเผชิญกับปัญหาหรือถูกเบียดเบียนในส่วนอื่นของภูมิภาค ประเทศไทยดำรงบทบาทที่สร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาอย่างยาวนาน ทั้งในฐานะสมาชิกอาเซียนและเอเปค ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ทำงานร่วมกับชาวไทยอย่างใกล้ชิดในการตอบสนองต่อภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในภูมิภาค อาทิเช่น เหตุการณ์ที่พม่าซึ่งประเทศเพื่อนบ้านของไทยประสบภัยจากพายุไซโคลนครั้งร้ายแรงเมื่อพ.ศ. 2551 นอกจากนี้ สหรัฐฯ และไทยยังร่วมงานกันอย่างใกล้ชิดในด้านสุขภาพซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของความร่วมมือระดับทวิภาคีที่ประสบความสำเร็จของทั้งสองประเทศ ผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานที่สำคัญ อาทิ ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร ไทย-สหรัฐฯ ในความร่วมมือนี้ ประเทศไทยได้ช่วยพัฒนาวัคซีนสำหรับเชื้อเอชไอวี/เอดส์เพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าให้ผลจริงจากการวิจัยในมนุษย์

ทางด้านการค้า สหรัฐฯ คือคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับสามของไทยด้วยมูลค่าการค้าระหว่างกันมากกว่า 3หมื่น 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งยังเป็นประเทศที่เข้าลงทุนในไทยมากเป็นอันดับสามด้วยมูลค่าการลงทุนโดยตรงสะสมมากกว่า 1หมื่น 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย และหอการค้าอเมริกันในประเทศไทยได้เป็นตัวแทนของกว่า 800 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในเกือบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ ทั้งยังคงเป็นหนึ่งในสถานทูตสหรัฐฯ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียด้วยพนักงานชาวไทยและชาวอเมริกันกว่า 3,000 คนจากหน่วยงานต่างๆ มากกว่า 60 หน่วย สหรัฐฯ และไทยดำเนินความสัมพันธ์ระดับประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยมีอาสาสมัครหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยมากกว่า 5,000 คน เข้ามาปฏิบัติงานที่ได้รับผลสำเร็จลุล่วงในประเทศไทยตลอด 52 ปีที่ผ่านมา

ด้วยเหตุผลทั้งหมดข้างต้น สหรัฐฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์กับประเทศไทยและต่อประชาชนชาวไทย ตลอดหลายปีมานี้ สหรัฐฯ ยินดีที่ได้เห็นประเทศไทยสร้างความเจริญรุ่งเรืองและพัฒนาประชาธิปไตย จนนับว่าเป็นความสำเร็จของภูมิภาคในหลากหลายด้าน ทั้งยังเป็นคู่ความร่วมมือใกล้ชิดของสหรัฐฯ ในประเด็นความสนใจร่วมกันต่างๆ เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย การลักลอบค้าสัตว์ป่า อาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางพลังงาน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สถานการณ์ทางการเมืองและรัฐประหารในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องผจญกับการถกเถียงโต้แย้งว่าด้วยการเมืองภายในประเทศ ซึ่งไม่เพียงทวีความแตกแยกในชั้นการเมืองเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงสังคมโดยรวมอีกด้วย หากจะให้บรรยายการโต้เถียงที่ซับซ้อนนี้คงต้องใช้เวลามากเกินกว่าที่เรามีในวันนี้ แต่โดยพื้นฐานแล้ว นี่เป็นเรื่องระหว่างฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งมีแนวทางทางการเมืองและการปกครองที่สร้างอิทธิพลอย่างมาก ทว่าก็ทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดการแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย การถกเถียงโต้แย้งนี้ยังสะท้อนปัญหาความขัดแย้งที่ร้าวลึกมากยิ่งขึ้นระหว่างฝ่ายต่างๆ ในสังคมบนพื้นฐานของทั้งสถานภาพทางสังคมเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การเมืองไทยเต็มไปด้วยการถกเถียงโต้แย้ง การชุมนุมประท้วง หรือแม้กระทั่งความรุนแรงในบางครั้ง ระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่ประชันกันแย่งชิงอิทธิพลทางการเมือง ความแตกแยกเช่นนี้นำไปสู่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อพ.ศ. 2549 และอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว

รัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงสิ้นสุดการต่อสู้ดิ้นรนทางการเมืองอย่างร้อนแรงกว่าหกเดือนระหว่างกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนนำมาซึ่งการชุมนุมนานหลายเดือนบนท้องถนนของกรุงเทพมหานครรวมถึงการเข้ายึดอาคารสถานที่ราชการ ความพยายามประนีประนอมไม่ประสบผลสำเร็จ และในวันที่ 22 พฤษภาคม กองทัพก็ได้ก่อรัฐประหาร บรรดาผู้นำกองทัพให้เหตุผลว่า รัฐประหารครั้งนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง ยุติภาวะอัมพาตทางการเมือง และสร้างเงื่อนไขปัจจัยสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ตลอดช่วงทศวรรษแห่งความปั่นป่วนนี้ โดยเฉพาะระหว่างช่วงหกเดือนอันวุ่นวายที่เพิ่งผ่านมา จุดยืนของสหรัฐฯ คือหลีกเลี่ยงการเลือกข้างในการชิงชัยทางการเมืองภายในของประเทศไทย ขณะที่ยังคงเน้นย้ำสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยและยึดมั่นในความสัมพันธ์กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง สหรัฐฯ แสดงความไม่เห็นด้วยต่อรัฐประหารหรือการกระทำนอกรัฐธรรมนูญอื่นๆ ในหลายโอกาสทั้งที่เปิดเผยและไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณะ สหรัฐฯ ได้เน้นย้ำว่า วิถีทางประชาธิปไตยหนึ่งเดียวที่จะแก้ไขปัญหาได้คือการให้ประชาชนเลือกผู้นำและนโยบายที่พวกเขาพึงพอใจผ่านการเลือกตั้ง สหรัฐฯ สื่อสารดังกล่าวโดยตรงไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการไทยมาโดยตลอดผ่านเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย รวมถึงระหว่างการเยือนไทยโดยเจ้าหน้าอาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตลอดจนผ่านช่องทางการทหารทั้งระดับสูงและระดับปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดรัฐประหาร เราได้แสดงการตอบโต้ทันทีตามหลักการของเราด้วยการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซง เริ่มด้วยคำแถลงของรัฐมนตรีแคร์รีเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งเราได้กล่าวตำหนิการทำรัฐประหารมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน ให้ประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยตลอดจนการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ เราได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ของไทยว่า เราเข้าใจดีถึงความอึดอัดใจกับปัญหาการเมืองที่มีมายาวนาน แต่ได้เน้นว่า การทำรัฐประหารนั้นนอกจากจะไม่ใช่การแก้ไขปัญหาแล้ว ยังเป็นการก้าวถอยหลังด้วยซ้ำไป

ในช่วงแรก เรายังมีความหวังว่า การรัฐประหารครั้งนี้จะคล้ายกับรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 กล่าวคือ ฝ่ายทหารจะโอนถ่ายอำนาจสู่รัฐบาลพลเรือนอย่างรวดเร็วและเดินหน้าจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเที่ยงธรรม อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมานี้ได้บ่งชี้ว่า คณะรัฐประหารครั้งนี้นอกจากจะดำเนินการปราบปรามมากกว่าครั้งก่อนแล้ว ยังมีแนวโน้มว่าจะอยู่ในอำนาจนานกว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสั่งให้เข้ารายงานตัว กักกันและคุกคามนักการเมือง นักวิชาการ ผู้สื่อข่าว ผู้แสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ต และผู้ประท้วงอย่างสงบหลายร้อยคน คสช. ยังคงตรวจสอบสื่อในประเทศและอินเทอร์เน็ต และในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คสช. ได้สั่งปิดกั้นสื่อต่างประเทศเช่นกัน การกระทำของฝ่ายทหารได้สร้างความวิตกแก่ชนกลุ่มน้อยและแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย อาทิเช่น รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่า มีชาวกัมพูชาเกือบ 200,000 คนได้เดินทางออกนอกประเทศไทยด้วยความหวาดกลัวว่า คสช. จะดำเนินการปราบปรามแรงงานที่ไม่มีเอกสาร

รัฐบาลทหารได้กล่าวว่า จะจัดตั้งคณะรัฐบาลชั่วคราวภายในเดือนกันยายน และได้กำหนดเวลาอย่างไม่ชัดเจนนักว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในเวลาประมาณ 15 เดือน วัตถุประสงค์ในช่วงการบริหารประเทศภายใต้กฎอัยการศึกตามที่คสช. ได้ระบุไว้คือ ลดความขัดแย้งและการแบ่งฝ่ายในสังคมเพื่อแผ้วทางให้เกิดบรรยากาศทางการเมืองที่กลมเกลียวกันกว่านี้เมื่อรัฐบาลพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศ ในระหว่างนี้ คณะรัฐบาลทหารได้เริ่มดำเนินการโยกย้ายข้าราชการที่พิจารณาเห็นว่าจงรักภักดีกับรัฐบาลชุดก่อน คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ 56 แห่งซึ่งรวมถึงประธานคณะกรรมการ (ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการแต่งตั้งโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร) ถูกกระตุ้นให้ลาออกเพื่อเปิดทางให้บุคคลที่ฝ่ายทหารเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน ขณะนี้ กำลังมีการเสนอให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและครอบคลุมในภาคพลังงานและแรงงาน ตลอดจนการพิจารณาข้อจำกัดด้านการลงทุนจากต่างประเทศในบางภาคอุตสาหกรรมเช่น โทรคมนาคม

อย่างไรก็ดี เรามองไม่เห็นว่าการรัฐประหารและการดำเนินการปราบปรามที่ตามมาจะก่อให้เกิดการปรองดองและสมานฉันท์ทางการเมืองที่จำเป็นยิ่งสำหรับประเทศไทย เราไม่เชื่อว่า การสมานฉันท์ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้จากความหวาดกลัวหรือการกดขี่ ประเด็นเบื้องหลังต่างๆ ตลอดจนความเห็นแตกต่างทางการเมืองที่ฝังรากลึกมานานอันเป็นสาเหตุแห่งความแตกแยกนี้จะสามารถแก้ไขได้โดยประชาชนและผ่านกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น เรามีความรู้สึกเหมือนคนไทยส่วนใหญ่ คือ ต้องการเห็นไทยก้าวไปสู่อุดมการณ์ประชาธิปไตยของประเทศ เสริมสร้างสถาบันประชาธิปไตยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และกลับสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งได้อย่างสันติ

ปกป้องผลประโยชน์ของเราและพิทักษ์ประชาธิปไตย

ผลประโยชน์ของเรารวมถึงการรักษาความสงบและประชาธิปไตยในประเทศไทย ตลอดจนคงความร่วมมือที่สำคัญระหว่างสหรัฐฯ กับไทยในระยะยาว เรายังคงมุ่งมั่นที่จะเห็นประชาชนไทยอยู่ดีมีสุขและประเทศไทยกลับไปสู่ตำแหน่งผู้นำในภูมิภาค และเราเชื่อว่า หนทางที่ดีที่สุดในการบรรลุซึ่งเป้าหมายดังกล่าวคือการกลับไปสู่การปกครองที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

การรัฐประหารและการดำเนินการปราบปรามที่ตามมาทำให้เราไม่สามารถคงพันธไมตรีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ให้เป็นไป “ตามปกติ” ได้ เราได้ระงับการช่วยเหลือด้านความมั่นคงมูลค่ากว่า 4 ล้าน 7 แสนเหรียญสหรัฐตามที่กฎหมายเราระบุไว้ นอกจากนี้ เรายังได้ยกเลิกการเยือนประเทศของเจ้าหน้าที่ระดับสูง การฝึกซ้อมทางทหาร และการฝึกอบรมกับทหารและตำรวจหลายโครงการ อาทิเช่น เราได้ประสานกับกระทรวงกลาโหมยกเลิกการฝึกซ้อม CARAT (Cooperation Afloat Readiness and Training) ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมระดับทวิภาคีของกองทัพเรือซึ่งกำลังดำเนินการฝึกอยู่เมื่อเกิดรัฐประหาร และได้ยกเลิกการฝึกซ้อมหนุมานการ์เดียน (Hanuman Guardian) ของกองทัพบกซึ่งเป็นการฝึกซ้อมระดับทวิภาคีที่ได้วางแผนไว้แล้ว ขณะนี้ เรายังคงทบทวนพิจารณาโครงการและความร่วมมืออื่นๆ และจะพิจารณาหามาตรการอื่นนอกเหนือจากนี้ตามสถานการณ์ ประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศได้แสดงทัศนะในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ เราหวังว่า สารจากประชาคมโลกที่เด่นชัดนี้รวมทั้งแรงกดดันจากภายในประเทศไทยเองจะทำให้คณะรัฐประการลดการปราบปรามลงและประเทศไทยจะกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว

ในขณะเดียวกัน เราก็ตระหนักดีถึงผลประโยชน์ตามหลักยุทธศาสตร์ระยะยาวของสหรัฐฯ เรายังคงรักษามิตรภาพที่ยืนยงของเรากับคนไทยและกับประเทศไทยซึ่งรวมถึงฝ่ายทหารด้วย สิ่งท้าทายที่สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญคือ การแสดงอย่างชัดเจนว่า เราสนับสนุนให้ประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยเร็ว และในขณะเดียวกัน เราต้องดำเนินการเพื่อประกันว่า เราจะสามารถรักษาและเสริมความแข็งแกร่งให้แก่มิตรภาพที่สำคัญและพันธมิตรด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ นี้ได้ในระยะยาว

ในการก้าวไปข้างหน้า สิ่งสำคัญคือการถ่ายโอนอำนาจไปสู่การปกครองโดยพลเรือนอย่างครอบคลุม โปร่งใส ทันกาลและนำไปสู่ประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและเที่ยงธรรมอันจะสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย เมื่อประเทศไทยกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว เราหวังและตั้งใจอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ จะยังคงเป็นประเทศคู่ความร่วมมือที่สำคัญในเอเชียอีกนานต่อไปหลายทศวรรษ

สรุป

สุดท้ายนี้ ผมขอกล่าวสรุปประเด็นสุดท้ายว่า เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวประสบผลสัมฤทธิ์นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐสภาจากทั้งสองพรรคจะให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งและยืนนานแก่ความพยายามของเราในการผลักดันให้ประเทศไทยกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยรวมถึงความพยายามของเราในการรักษามิตรภาพและผลประโยชน์ระยะยาวของเรา

ขอบคุณครับที่เชิญผมให้มาแถลงประเด็นสำคัญนี้