วันศุกร์, พฤษภาคม 19, 2560

ความก้าวหน้าที่ต่างกันระหว่างเกาหลีใต้กับไทย....





ความก้าวหน้าต่างกันระหว่างเกาหลีใต้กับไทยคือ เกาหลีใต้มีการให้รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นรางวัลรำลึกถึงวีรกรรมของประชาชนผู้สละชีวิตต่อต้านรัฐประหารและพิทักษ์ไว้ซึ่งประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน


รางวัลดังกล่าวคือสิ่งช่วยเตือนความทรงจำของชาวเกาหลีใต้ว่า ประวัติศาสตร์อันเลวร้ายจะต้องไม่เกิดซ้ำรอย

แต่ไทยนอกจากจะไม่มีรางวัลเช่นนี้แล้ว การจัดกิจกรรมรำลึกถึงการเสียสละของประชาชนก็ยังทำไม่ได้


สุรพศ ทวีศักดิ์

.....

18 พฤษภาคม 23 เกิดหลัง 14 ตุลา 16 เพียง 7 ปี

ถือเป็นเหตุการณ์ร่วมสมัย ความฝัน ความหวังหนุ่มสาวที่เกาหลี และกรุงเทพฯไม่ต่างกัน คือฝันถึงการเปลี่ยนแปลงประเทศให้หลุดพ้นจากเผด็จการทหาร..14 ตุลา เกิดก่อน ...14 ตุลา น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เกาหลีไม่น้อย

ผ่านไป 4 ทศวรรษ หนุ่มสาวเกาหลีตอนนั้นยังรักษาคุณค่าที่เขาเคยศรัทธาไว้ได้ ในระดับศก. เกาหลีเพัฒนาเป็นประเทศทุนนิยมทันสมัย

หันมาดูเมืองไทย คนยุคนั้นกลายเป็นกำลังสำคัญของการรักษาอำนาจเผด็จการ พวกเขาจำนวนมากมีความรังเกียจทุนนิยม (ซึ่งขับโดยความโลภ) มากกว่าเผด็จการ (ซึ่งขับดันด้วยความดี "เผด็จการโดยธรรม")

อะไรเป็นสาเหตุให้หนุ่มสาวที่มีศรัทธาในสิ่งเดียวกัน พออายุพวกเขาเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว การจัดลำดับของคุณค่าถึงไม่เหมือนกัน

หนุ่มสาวเกาหลียังหลงผิดเมื่อตอนอายุมาก หรือหนุ่มสาวไทยหลงผิดขณะเป็นหนุ่มสาว?

Kit Sarisdisuk


ooo
รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน 18 พฤษภาคม 2560 : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์


วันที่ 17 พฤษภาคม 2560
มติชนออนไลน์

นครกวางจู (Gwangju) เป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของประเทศเกาหลีใต้ มีฐานะเป็นมหานครขึ้นโดยตรงกับกระทรวงมหาดไทย นครกวางจูเคยเป็นเมืองหลวงของจังหวัดจอลลาใต้ โดยพื้นที่ของนครกวางจูตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่เพาะปลูกของเขตจอลลา นครกวางจูมีชื่อเสียงเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของอาหารการกินแบบว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเกาหลีมาแต่ดั้งเดิม

นายพลชุน ดูฮวาน หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับของกองทัพบก ได้ร่วมมือกับ นายพลโรห์ แตวู แม่ทัพที่คุมกองกำลังด้านชายแดนเกาหลีเหนือ ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2522 ทำให้ประชาชนทั่วประเทศก่อความเคลื่อนไหวคัดค้าน นายพลชุน ดูฮวาน และนายพลโรห์ แตวู ต้องสั่งการให้กองทัพใช้กำลังปราบปรามประชาชนได้อย่างราบคาบ ยกเว้นอยู่ที่เดียว คือที่เมืองกวางจู ที่นักศึกษาและประชาชนร่วมมือกันต้านทานกองทัพได้อย่างเข้มแข็ง


โรห์ แตวู (ซ้าย) ชุน ดูฮวาน (ขวา)


นายพลชุน ดูฮวาน ประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2523 และส่งกำลังทหารกว่า 100,000 นาย เข้าปิดล้อมเมืองกวางจู ในวันที่ 18 พฤษภาคม แต่ชาวเมืองรวมทั้งตำรวจร่วมกันต่อต้าน ทั้งสองฝ่ายเริ่มยิงต่อสู้กันเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม จนฝ่ายทหารเข้ายึดเมืองกวางจูได้เมื่อเวลา 04.00 น.ของวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2523 จากรายงานของรัฐบาลระบุว่า มีผู้เสียชีวิตเป็นประชาชน 144 คน ทหาร 22 คน และตำรวจ 4 นาย มีผู้บาดเจ็บเป็นประชาชน 127 คน ทหาร 109 นาย ตำรวจ 144 นาย แต่จากรายงานของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตระบุว่า ชาวเมือง 230 คน เสียชีวิตระหว่างวันที่ 18 ถึง 27 พฤษภาคม พ.ศ.2523

นายพลชุน ดูฮวาน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 2 สมัย ระหว่างปี พ.ศ.2523 ถึง พ.ศ.2531 ตามด้วยนายพลโรห์ แตวู ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีก 2 สมัย ระหว่างปี พ.ศ.2531 ถึง พ.ศ.2536 จนกระทั่งถึงสมัยของประธานาธิบดีพลเรือน นายคิม ยองซัม ได้ประกาศนโยบายปฏิรูปการเมือง และปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง และนำคดียึดอำนาจการปกครอง และคดีสังหารประชาชนที่กวางจู ขึ้นสู่ศาลในเดือนมีนาคม พ.ศ.2539



ศึกชิงเมืองกวางจู (พฤษภาคม 2523)


ศาลอาญาประจำกรุงโซล มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2539 ลงโทษประหารชีวิตนายพลชุน ดูฮวาน จำเลยที่หนึ่ง และจำคุก นายพลโรห์ แตวู จำเลยที่สอง 22 ปี 6 เดือน และจำคุกนายพลอื่นๆ อีก 13 คน แต่อดีตประธานาธิบดี คิม แดจุง ผู้เคยเป็นเหยื่อลอบสังหารโดยคำสั่งของนายพลชุน ดูฮวาน เมื่อได้รับเลือกเป็นว่าที่ประธานาธิบดีจึงได้ขอให้ประธานาธิบดีคิม ยองซัม ใช้อำนาจประธานาธิบดีประกาศนิรโทษกรรมให้กับนายพลชุน ดูฮวาน และนายพลโรห์ แตวู เป็นการแสดงความปรองดอง ทำให้คิม แดจุง ได้รับฉายาว่า “เนลสัน แมนเดลา แห่งเอเชีย”
บรรดาชาวเมืองกวางจูผู้ที่เชื่อว่า “ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกจดจำจะถูกซ้ำรอยเดิม-Unremembered history repeats itself” ได้ร่วมใจกันก่อตั้งมูลนิธิ “อนุสรณ์ 18 พฤษภาคม” ขึ้น โดยเหตุผลของการก่อตั้งคือเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน และเพื่อเตือนใจผู้คนรุ่นใหม่ให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโหดเหี้ยมของรัฐบาลทหารที่กระทำต่อประชาชนในเหตุการณ์ May18 หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “518”

มูลนิธิอนุสรณ์ 18 พฤษภาคม ไม่เพียงทำงานเชิงเตือนความทรงจำเท่านั้น แต่ทางมูลนิธิเห็นว่าเพื่อไม่ให้ชีวิตและเลือดเนื้อของเหล่าวีรชนสูญเปล่า พวกเขายังคงทำงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เผยแพร่ประวัติศาสตร์และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประชาธิปไตย มูลนิธิมีการจัดทำแบบเรียนประวัติศาสตร์ซึ่งเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ มีการทำหนังสือการ์ตูนเพื่อปลูกฝังเยาวชนตั้งแต่เล็กๆ มีหอจดหมายเหตุเพื่อรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 518 เป้าหมายของมูลนิธินี้ไม่ใช่แค่เพียงวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองอยู่ภายในประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น แต่พวกเขาวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในระดับนานาชาติด้วย พวกเขามีการจัดโครงการจำนวนมากเพื่อขยายจิตวิญญาณและการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตย 18 พฤษภาคม เช่น การสร้างหลักสูตรอบรมเพื่อนักวิชาการหรือนักวิจัยจากต่างประเทศ การนำนักกิจกรรมทางสังคมและภาคประชาสังคมจากหลายประเทศมาเรียนรู้ การเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ และการมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwangju Prize for Human Rights) ได้เริ่มขึ้นเมื่อ 18 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2543) ซึ่งเป็นการมอบรางวัลให้กับบุคคลหรือองค์กรที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ในอดีต เช่น นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา และนางออง ซาน ซูจี ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ควบกับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดีแห่งประเทศเมียนมา และ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากประเทศไทย เป็นต้น

แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยไม่รู้จักรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นรางวัลที่จะมอบให้กับไผ่ ดาวดิน ในวันที่ 18 พฤษภาคมที่จะถึงอีก 2-3 วันนี้ เป็นรางวัลที่มีเกียรติสูงยิ่ง รวมทั้งมีเงินรางวัลถึง 1,750,000 บาทอีกด้วย