วันอังคาร, พฤษภาคม 16, 2560

แอนดรูว์ บิ๊กส์ ไม่แน่ใจสังคมไทยต้องการให้เด็กรู้จักคิดสร้างสรรค์ วิจารณ์ วิพากษ์

โรงเรียนเปิดเทอมเป็นวันที่สองในไตแลนเดีย เรื่องสำคัญที่กำลังเป็นความเครียดแห่งชาติ ไม่ใช่ลุ้นกันว่าปีนี้จะมีเด็กคนไหนค้นพบวิธียับยั้งไวรัสคอมพิวเตอร์ตบทรัพย์ ‘WannaCry’ ได้ไหม ถ้ามันออกมาโจมตีอีกรอบ

หากแต่เป็นความกังวลรวมหมู่ของผู้ปกครอง เรื่องรถติดตอนเช้าสำหรับชาวกรุง (เทพยดา) เรื่องหาเงินไปไถ่แท้ปเล็ตที่ไปตึ๊งโรงจำนำเอาตังค์มาใช้ซื้อชุดนักเรียนกับเครื่องเขียนใหม่ให้ลูก สำหรับบ้านนอกคอกนา

ส่วนว่าความฝันที่ปีนี้เด็กไทยจะได้ติดอันดับอาเซียนทางการศึกษา ทัดหน้าเทียมตาเด็กมาเลย์ เวียตนาม หรือไม่ อย่าหวัง ดังที่ว้อยซ์ทีวีเขาทำกร้าฟฟิคเอาไว้ ‘๕ ความจริงน่าตกใจ ในระบบการศึกษาไทย’

ผลสอบ PISA* แพ้ประเทศทรินิแดดและโทเพโกในอาฟริกา นั่นขนาดใช้งบประมาณการศึกษาเด็กต่อหัวถึง ๒๓ เปอร์เซ็นต์เท่าอังกฤษแล้วนะ ยังอยู่ใต้อังกฤษ ๓๙ อันดับ

(*PISA เป็นโครงการประเมินผลการศึกษานานาชาติ จัดทำโดย Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนที่จะใช้ความรู้และทักษะเพื่อเผชิญกับโลก ในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน ย่อมาจาก Programme for International Student Assessment)

ทั้งที่ยูเนสโกแนะว่าไม่ควรให้เด็กเรียนเกิน ๘๐๐ ชั่วโมง แต่ไทยแม่งยัดเยียดให้ตั้ง ๑,๒๐๐ ชั่วโมง แล้วยังได้อันดับ ๕๕ เด็กฮ่องกงเรียนแค่ ๗๙๐ ชั่วโมง ไม่ถึง ๘๐๐ ดันเสือกได้ที่ ๙

สุดท้าย โปแลนด์ปฏิรูปการศึกษามา ๑๑ ปี ตอนนี้คะแนนพิซ่าเพิ่มขึ้น ๔๘ ไทยก็ใช้เวลาปฏิรูป ๑๑ ปีเท่ากันไม่น้อยหน้า ได้คะแนนพิซ่าเพิ่มเหมือนกัน ๓ คะแนน

อย่างนี้นี่เล่า มิน่า ผู้นำรัฐบาลไทยถึงได้เป็นอย่างที่เห็น ยักคิ้วหลิ่วตาเก่งอีกต่างหาก

ไหงเป็นหยั่งงั้น อย่าได้ถามสลิ่มล่ะ เดี๋ยวโดนเขาด่าสาด ไปดูฝรั่งพูดไทย (เขาได้ปริญญาตรีภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยได้รางวัล ‘เพชรสยาม’ ใช้ภาษาไทยดีเด่น) เขียนคอมเม้นต์ไว้ดีกว่า

แอนดรูว์ บิ๊กส์ อาจารย์สอนภาษาอังกฤษทางทีวี ‘English Minute’ ทางช่อง ๓ เจ้าของบทความประจำใน ‘บรั๊นช์ แม็กกาซีน’ ของบางกอกโพสต์

เขาเขียนเรื่อง ‘ไดโนเสาร์ต้องสู้ความจริง’ เมื่อวันก่อนควรต้องอ่าน โดยเฉพาะลุงตูบ

(ขอบคุณ Pipob Udomittipong ที่ให้ลายแทง http://www.bangkokpost.com/…/dinosaurs-must-confront-reality)

“อันนี้ดีจริง ๆ เรื่องการศึกษาเราแข่งขันสู้ใครไม่ได้ เพราะเรามัวแต่เงื้อง่าราคาแพง ติดอยู่กับวิธีการสอนแบบ ‘ครูถูกร้อยเปอร์เซ็นต์’ “เด็กเป็นเพียงผ้าขาวที่ซึมซับรับน้ำลายครู ท่องจำโลด” พิภพแนะ

บทความเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาของคุณบิ๊กส์เริ่มต้นด้วยงานออกร้านทางการศึกษา ‘เอ็ดเท็กซ์’ ที่ศูนย์สิริกิติ์ ได้ข้อสรุปว่า

ประเทศไตแลนเดียนี้ ถ้าจะให้พ้นจากการเป็นกะลาแลนด์ ต้องเน้นระบบการศึกษาที่มีทั้ง ‘การคิดสร้างสรรค์และนวรรตกรรมยุคใหม่’ (‘innovative and technological’)

แอนดรูว์บอกว่าก็ดีนะ แต่มันมีช้างตัวใหญ่ขวางอยู่กลางสนามหน้าบ้าน อันทำให้ไตแลนเดียไม่รับเอา ‘การคิดสร้างสรรค์และนวรรตกรรมยุคใหม่’

เพราะระบบการศึกษาของเราตรงข้ามกับสองอย่างนั้น เราติดแน่นเหนียวกับ ‘ประเพณีและการนบนอบ’ เสียแล้วนี่

หลักสูตรบอกว่าให้เน้นการศึกษาที่เด็กเป็นหลักสำคัญ แต่ในความเป็นจริงทางปฏิบัติ “ยังติดชนักประเพณีโบราณนับร้อยปีที่ครูเป็นผู้ ‘สั่ง’ สอน ส่วนเด็กจะไม่กล้าปริปากพูดอะไรถ้าไม่ได้ย้ำถาม”

แอนดรูว์ยังกล่าวถึงผลการสอบโอ-เน็ตปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วหน่อยหนึ่ง ปีที่แล้วตกทั้ง ๕ วิชา ปีนี้ได้วิชาภาษาไทยมาหนึ่งอย่าง ซึ่งก็คะแนนเกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์เล็กน้อย นอกนั้นที่เหลืออีกสี่วิชาตกหมด
“ข้อวิพากษ์หนักหน่วงต่อระบบการศึกษาของไทยอย่างหนึ่ง อยู่ที่การไม่ยอมเน้นวิธีคิดแบบวิจารณ์ (หรือ critical thinking)...

แต่กลับกดดันให้ใช้วิธีท่องจำเป็นสรณะ ตัวอย่างเช่น นักเรียนต้องแม่นยำในเรื่องชื่อของกษัตริย์ในยุคอยุธยาตอนปลาย ลงรายละเอียดไปถึงรัชกาลและรัชสมัย นั่นละ

ขณะเดียวกันเด็กนักเรียนจะต้องจำให้ขึ้นใจใน ‘ค่านิยม ๑๒ ประการ' ซึ่งรวมถึงการรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ (ข้อ ๑) และเคารพนบนอบผู้ใหญ่ (ข้อ ๗)

การคิดสร้างสรรค์จะเกิดได้ นักเรียนไทยจะต้องสามารถวิจารณ์ วิเคราะห์ และประเมินผล แต่ไม่แน่ใจนะว่าสังคมไทยต้องการให้เด็กทำในสิ่งเหล่านี้

การคิดแบบวิจารณ์เป็นเรื่องของการท้าทายวิถีปฏิบัติซ้ำซาก มันเกี่ยวกับการค้นหาความจริง แยกแยะและย่อยส่วน จากนั้นนำเข้ามาประกอบกันใหม่ แล้วจึงพิจารณาหาคุณค่าของมัน”

แอนดรูว์ยกตัวอย่างการคิดสร้างสรรค์จากกรณีของนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ว่า “พอมีนักเรียนเริ่มทำด้วยการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างท้าทาย สังคมก็พากันโถมใส่เขาดั่งหินผาถล่มทับ...
เขา (เนติวิทย์) ทำให้พวกรอยัลลิสต์และอนุรักษ์นิยมพากันคันคะเยอ รวมทั้งทั่นนายกฯ โจมตีเขาว่าทำลายประเพณี

เนติวิทย์ตอกกลับว่านายกฯ นั่นแหละเป็นตัวทำลายประเพณีประชาธิปไตยของไทยเมื่อสามปีที่แล้ว ทั่นมีสิทธิอะไรจะมากล่าวหาเขาอย่างนั้น

ชอบหรือไม่ชอบเขาก็ตาม เนติวิทย์ได้ไปแล้วคำชมเชยในความกล้าหาญ”

แอนดรูว์ปิดท้ายบทความของเขาด้วยความเป็นเนติวิทย์ว่า “มันอาจจะฟังดูปวดร้าว (สำหรับสลิ่ม) สักเพียงใด
เด็กแบบเนติวิทย์นี่แหละจะช่วยกระพือดันให้ประเทศไทยไปข้างหน้า เข้าสู่ยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ได้”