วันจันทร์, เมษายน 17, 2560

รายงานพิเศษ BBC Thai : ชัยเกษม นิติสิริ "นักการเมืองคนสุดท้าย" ที่มีโอกาสสนทนา-ตอบโต้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวงเจรจาหาข้อยุติแบบสันติวิธี แต่ถูกรัฐประหาร มัดมือคลุมหัว ถอดสมการปรองดอง ทวงคำ “ขอโทษ” จาก คสช.




รายงานพิเศษ : ชัยเกษม ถอดสมการปรองดอง ทวงคำ “ขอโทษ” จาก คสช.


โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวอิสระ บีบีซีไทย

ชมคลิปข่าวได้ที่
http://www.bbc.com/thai/thailand-39612734


เกือบ 3 ปีก่อน..นายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คือ "นักการเมืองคนสุดท้าย" ที่มีโอกาสสนทนา-ตอบโต้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวงเจรจาคู่ขัดแย้ง 7 ฝ่ายเพื่อหาทางออกจากวิกฤตทางการเมือง

คือเจ้าของวาทะ "ถึงนาทีนี้ไม่ลาออก"

พอสิ้นเสียงของนายชัยเกษม ก็มีคำประกาศ "ยึดอำนาจ" จากหัวโต๊ะที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ขณะนั้น) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

อีกครั้ง.. เมื่อทหารเชิญแกนนำพรรคเพื่อไทยไปพูดคุยเพื่อหาทางสร้างความปรองดอง ภายในศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 นายชัยเกษมกับพวกไปตามคำเชิญ พร้อมส่งคำตอบ 3 ข้อ จากคำถามทั้งหมด 10 ข้อ ให้คณะกรรมการอำนวยการเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ ที่มีปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ก่อนออกมา "ตลบหลัง" ทหารในเวลาต่อมา

"เมื่อทหารเป็นคู่ขัดแย้ง จะปล่อยให้ทหารเป็นผู้กำหนดเกมไม่ได้" ชัยเกษมบอกกับบีบีซีไทยถึงสาเหตุที่พรรคต้นสังกัดของเขาออกมาเรียกร้องให้ "ยกเลิกคณะกรรมการปรองดอง" ที่อยู่ภายใต้อำนาจการครอบงำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วตั้ง "คณะกรรมการอิสระ" ขึ้นทำหน้าที่แทน เพราะในสายตาของพรรคการเมืองใหญ่ไม่เคยวางใจทหาร เนื่องจากเป็นผู้โค่นอำนาจ "รัฐบาลเสียงข้างมาก" ครั้งล่าสุด



กระทรวงกลาโหมคำบรรยายภาพแกนนำพรรคเพื่อไทย ระหว่างเข้าร่วมพูดคุยแนวทางปรองดองที่ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2560


"ผมนี่ติดข้องอยู่ในใจมานานแล้วว่าทหารเชิญรัฐบาล (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ไปคุยกับฝ่ายต่างๆ พอมีคำตอบที่ไม่พอใจ ซึ่งผมคิดว่าทหารเขาเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว เขาก็ประกาศปฏิวัติ แล้วจับผู้ที่ไปประชุมในที่ประชุม และเวลาควบคุมตัวไป ท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นี่นะฮะ ผมฟัง ได้ยินกับหูนะครับ ท่านก็ออกมาพูดอยู่เป็นครั้งคราวว่ามีที่ไหนกันที่จะเอาผ้าคลุมหัว มัดมือ มันมีแต่ในหนังฝรั่งเท่านั้น แต่ว่าในวันนั้น ในรถคันผม โดนทุกคน"

ถือเป็นความรู้สึกขัดแย้ง-ขุ่นข้องหมองใจของนายชัยเกษมตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เขาจึงเรียกหา "คำอธิบาย" และ "คำขอโทษ"

"ถ้ามีการพูดคุยหาสาเหตุกันให้เรียบร้อยว่าตกลงมันเกิดอะไรขึ้น ท่านขอโทษคำเดียว โอ้ว! ไม่รู้ ลูกน้องท่านไปทำ เป็นเรื่องที่ท่านเข้าใจผิด และก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นอย่างนี้ ก็ยังพออภัยกันได้ นี่ก็คือลักษณะของการปรองดอง" นายชัยเกษมกล่าว

เขาเห็นว่า "การขอโทษเป็นเรื่องเล็กที่สุด เพราะปรองดองไม่ใช่แค่กายภาพ ต้องดูจิตใจคนที่เกี่ยวข้องด้วย"

อย่างไรก็ตาม พล.ต. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ปฏิเสธจะพูดถึงฉาก "มัดมือ-คลุมหัว" นักการเมืองหลังผ่านนาที "ทุบโต๊ะยึดอำนาจ" โดยบอกกับบีบีซีไทยเพียงว่า "ยินดีรับฟังทุกเรื่อง แต่อยากให้ทุกฝ่ายเดินไปข้างหน้า เพราะไม่ต้องการให้สังคมไทยจมจ่อมอยู่กับความขัดแย้งในอดีต"

แม้แกนนำพรรคเพื่อไทยชี้ว่า "หากทหารเป็นผู้กำหนดเกม ในขณะที่มีอำนาจอยู่ จะเกิดการปรองดองไม่ได้" แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน นักการเมืองทุกค่ายทำได้แค่เล่นตามเกมทหาร สวนทางกับการทำการเมืองสไตล์นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มักบอกลูกพรรคว่า "ผู้ชนะคือผู้กำหนดเกม"?

แกนนำพรรคเพื่อไทยแย้งทันควัน "นั่นคือเกมในระบอบประชาธิปไตย หมายความว่าได้รับอาณัติมาจากประชาชนแล้วว่าเป็นผู้จะดูแลปกครองประเทศ หรือกำหนดเกมในบ้านเมืองต่อไป แต่ถ้าเป็นเกมที่ได้อำนาจมาจากการปฏิวัติ มันคนละเรื่องกัน มันพูดกันไม่รู้เรื่องนะ 2 เกมนี้"

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อวิกฤตการเมืองรอบล่าสุด หนีไม่พ้น การขับเคลื่อนวาระปรองดองของรัฐบาลเพื่อไทยด้วยการใช้เสียงข้างมากในสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อปี 2556 ซึ่งถูกมองว่ามี "วาระซ่อนเร้น" ปูทางให้นายทักษิณกลับบ้านเกิด เป็นผลให้มวลชนที่เรียกตัวเองว่า "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (กปปส.) ออกมาชุมนุมประท้วง-เปิดปฏิบัติการ "ชัตดาวน์กรุงเทพฯ"

แต่เมื่อเกมปรองดองรอบนี้ นายพล คสช. เป็น "ผู้ตั้งโจทย์" จึงมีข้อความข้ามประเทศจากนายทักษิณว่า "โปรดตัดผมออกจากสมการปรองดอง"

สำทับด้วยคำยืนยันจากนายชัยเกษม "พรรคเพื่อไทยไม่เคยพูดเรื่องเอาคุณทักษิณกลับบ้านเลย"

BORJA SANCHEZ TRILLO/GETTY IMAGES
ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่นายชัยเกษมชี้ว่าต้องถอยฉากออกจากการเมืองไทย


"คุณทักษิณต้องพยายามถอยห่างจากการเมืองในประเทศไทย และท่านอยู่ห่างไกล ผมคิดว่าท่านคงไม่ได้คิดอยากจะกลับแล้ว เพราะท่านไปอยู่ต่างประเทศ ท่านก็ประสบความสำเร็จ และก็ไม่ได้คิดว่าท่านอยากจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ผมไม่คิดไปไกลขนาดนั้น ก็เป็นเรื่องที่พรรคต้องดูว่าต่อไปจะดำเนินกิจกรรมของพรรคไปได้แค่ไหนอย่างไร ภาพพจน์ต่างๆ ต้องมีการปรับเปลี่ยน"

"ฉะนั้นผมมองข้ามท่านทักษิณไปเลย ผมมองข้ามท่านทักษิณไปเลย" เขาย้ำ 2 ครั้ง



WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
ชัยเกษม นิติสิริ "นักการเมืองคนสุดท้าย" ที่มีโอกาสสนทนา-ตอบโต้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค.57


ก่อนตั้งคำถามกลับไปยังรัฐบาล คสช. ว่าเหตุใดถึงยังไม่ "ก้าวข้ามทักษิณ" เหตุใดจึง "ขุดคดีเก่ามาเอาเรื่องใหม่" อาศัยสิ่งที่รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย นายวิษณุ เครืองาม เรียกว่า "อภินิหารทางกฎหมาย" ไล่บี้เก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นเครือชินคอร์ป 17,629.58 ล้านบาท

"ความจริงถ้าคุณทักษิณหายไปจากระบบ มันดีกับทุกฝ่ายนะ นี่ไปรื้อไปขุดมา ความจริงท่านทักษิณน่าจะถอยออกไปแล้ว ก็เลยกลายเป็นตัวยืนอีก.. สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มองเห็นว่ามีความไม่ถูกต้องอยู่ หลายคนในพรรคก็ลุกขึ้นมาต่อสู้ให้กับท่าน ความจริงมันน่าจะจบไปแล้ว"




RUFUS COX/GETTY IMAGES
22 พ.ค.2557 ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจ นักการเมืองที่ร่วมโต๊ะถูกควบคุมตัวทันที


นายชัยเกษมเชื่อว่าเวลารัฐบาล คสช. ถึงเรื่องกระบวนการสร้างความปรองดอง โจทย์หลักคือ "การทำให้บ้านเมืองสงบก่อนเลือกตั้ง มากกว่าคิดถึงการสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง" นี่ทำให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็น "ผู้เล่นหลัก" ในสนามเลือกตั้งกลายเป็น "ตัวแปรสำคัญ" ใน "สมการปรองดอง" รอบนี้ แต่เขายังไม่แน่ใจว่าคำตอบที่ได้ จะเป็นคำตอบสำหรับสังคมไทยจริงหรือไม่

"ก็อยู่ที่ว่าท่านยังดึงดันที่จะทำตามแบบของท่านต่อไปหรือไม่ คือถ้าท่านดึงดันที่จะทำต่อไป ก็จะเป็นการปรองดองที่ได้มาซึ่งกระดาษที่เป็นสัญญาประชาคมที่ท่านต้องการ 1 ฉบับ"

นั่นคือ "คำตอบสุดท้าย" ของกระบวนการปรองดองฉบับรัฐบาล คสช. ตามที่ชัยเกษมคาดการณ์!!!

หมายเหตุ : ติดตามรายงานพิเศษชุด "พรรคการเมืองในเกมปรองดองลายพราง" ได้ตลอดเดือนเมษายน สัปดาห์หน้าพบกับ "THE FUTURE" อนาคตของ "ทายาทการเมืองพรรครัฐบาลตลอดกาล?" เมื่อต้องรับมรดกความขัดแย้งจากคนการเมืองรุ่นพ่อ เมื่อต้องรับหน้าที่แม่ทัพกรำศึกเลือกตั้งหลังผ่านม่านปรองดอง