วันพุธ, มีนาคม 15, 2560

เปิด 11 แฟ้มกรณีทุจริตข้ามชาติ ความคืบหน้าคดีไปถึงไหน





เปิด 11 แฟ้มกรณีทุจริตข้ามชาติ ความคืบหน้าคดีไปถึงไหน

14 มีนาคม 2017
ที่มา Thai Publica


“ทุจริต/คอร์รัปชัน” เป็นรากของปัญหาที่เราเผชิญมายาวนาน แม้จะมีการพยายามตรากฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตตั้งแต่ ร.ศ. 127 หรือปี พ.ศ. 2451 ผ่านประมวลกฎหมายลักษณะอาญา หรือการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิบัติราชการตามมติประชาชน (ก.ป.ช.) เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ ในปี 2494 จนถึงปี 2540 ที่มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขึ้น รวมทั้งการแก้ไขกฏหมาย แก้กฏระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ แต่ทุกวันนี้ข่าวคราวการเปิดโปงการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงมีให้เห็นอยู่เนืองๆ

เช่นเดียวกับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) ชี้ว่าคอร์รัปชันค่อนข้างสูงมาตั้งแต่ปี 2538 แม้จะมีการตั้งเป้าว่าจะทำคะแนนให้ได้ร้อยละ 50 และมีคะแนนติดอันดับ 1 ใน 50 ภายในปี 2560 และรัฐบาลก็ประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างชัดเจน แต่รายงานค่า CPI ประจำปี 2559 ที่ผ่านมา คะแนนที่ไทยได้กลับถอยลงมาที่ 35 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 101 จากที่เคยได้ 38 คะแนน อยู่อันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศ ในปี 2558 คะแนนที่ลดลงได้บ่งชี้สถานะของไทยเป็นอย่างดี

กรณีโด่งดังการติดสินบนข้ามชาติของบริษัทโรลส์-รอยซ์ โดยบริษัทได้ยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 671 ล้านปอนด์ (28,871 ล้านบาท) เพื่อยุติคดีกับทางการอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และบราซิล หลังสำนักงานต่อต้านการทุจริต (Serious Fraud Office: SFO) ของอังกฤษพบว่าบริษัทได้มีการละเมิดกฎหมายติดสินบนในไทย จีน อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ไนจีเรีย ล่าสุด คณะกรรมการป.ป.ช.เปิดเผยว่าได้แสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินบนข้ามชาติ โรลส์รอยซ์ กรณีขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน ให้กับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และขายเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตเลียม จำกัด (มหาชน) นั้นมีเหตุอันควรสงสัยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2547-2548ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER พร้อมเครื่องยนต์สำหรับติดตั้งกับเครื่องบินดังกล่าวและการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500/600 จำนวน 6 ลำ เพิ่มเติม รวม 7 เครื่อง จากบริษัทโรลส์รอยซ์ (คำสั่งซื้อครั้งที่ 3) ซึ่งมีหน้าที่ทำและจัดการเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบินและเครื่องยนต์ดังกล่าว ร่วมกันใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้บริษัทโรลส์รอยซ์ ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินให้แก่บริษัทการบินไทย

หากย้อนในช่วงที่ผ่านมา มีคดีเก่าๆ ที่เป็นผลจากกฎหมายว่าด้วยการกระทำอันเป็นการทุจริตข้ามชาติ (Foreign Corrupt Practices Act: FCPA) ของสหรัฐอเมริกา มีการซัดทอดมายังเจ้าหน้าที่ของไทยหลายคดี ล่าสุดคือ คดีที่บริษัทลูกในประเทศไทยของ ไทโค อินเตอร์เนชั่นแนล (มีการดำเนินคดีในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2555) บริษัทจัดจำหน่ายระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์ได้จ่ายสินบนเพื่อให้ได้ทำสัญญาติดตั้งกล้องวงจรปิดซีซีทีวีในรัฐสภาไทย ในระหว่างปี 2547-2548 โดยในใบแจ้งชำระเงินได้ระบุว่าเป็นค่า “ปรับปรุงสถานที่” แต่ไม่ได้มีการดำเนินการตามที่ระบุแต่อย่างใด

ทั้งนี้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวภายหลังรับรายงานสรุปเบื้องต้นว่า มีการจัดซื้อจัดจ้างกล้องซีซีทีวีจำนวน 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการประมูลตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างปกติ ไม่มีอะไรผิดปกติตามที่เป็นข้อกล่าวหา แต่จะทำการตั้งกรรมการตรวจสอบภายในต่อไป

อย่างไรก็ตาม คดีการจัดซื้อกล้องวงจรปิดนี้เป็นเรื่องของการใช้งบประมาณแผ่นดิน ถือเป็นคดีไม่มีอายุความ และสามารถดำเนินคดีบุคคลที่เกี่ยวข้องย้อนหลังได้ แม้ว่าปัจจุบันจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว

นอกเหนือจาก 2 คดีข้างต้น หากย้อนดูคดีทุจริตข้ามชาติที่เกิดขึ้น ยังมีอีก 8 คดีด้วยกัน โดยแบ่งเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย FCPA 6 คดี (สำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย FAPA มี 4 คดีที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้เคยนำเสนอไปแล้วตามข่าว “4 คดีดังติดสินบนข้ามชาติ สหรัฐฯ) และคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าวอีก 2 คดี ได้แก่

สินบนเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ

คดีนี้ ปี 2553 ศาลสหรัฐฯ และเอฟบีไอ ได้ดำเนินคดีตามกฎหมาย FCPA ของสหรัฐฯ กับนายเจอรัลด์และนางแพทริเซีย กรีน ในข้อหาให้สินบนกับนางจุฑามาศ ศิริวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และพวก มูลค่ารวม 60 ล้านบาท โดย 2 นักธุรกิจชาวอเมริกันถูกศาลสหรัฐอเมริกาพิพากษาให้มีความผิดและถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน จากนั้นจะถูกกักบริเวณในบ้านอีก 6 เดือน และต้องจ่ายค่าชดใช้ 250,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 8 ล้านบาท)

ด้านนางจุฑามาศ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 และในวันที่ 7 สิงหาคม 2558 อัยการสูงสุดได้มีความเห็นสั่งฟ้อง นางจุฑามาศ และจิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว ตามมติของคณะทำงานร่วม ต่อศาลอาญา ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 97 ต่อมา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดพร้อมและไต่สวนพยาน โดยความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานต่อเนื่อง โดยศาลกำหนดวันไต่สวนพยานโจทก์และจำเลย รวม 12 นัด เริ่มไต่สวนพยานโจทก์นัดแรก 24 พฤษภาคม 2559 และจะสิ้นสุดการไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายวันที่ 10 สิงหาคม 2559 แต่ปัจจุบันคดียังอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดี ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการถูกพิจารณาคดีของศาลสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน

สินบนยาสูบ

คดีบริษัท อลิอันซ์วัน (Aliance One) ติดสินบนพนักงานโรงงานยาสูบของไทยในช่วงปี 2543–2547 เป็นเงินมูลค่ากว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 60 ล้านบาท) โดยแลกเปลี่ยนกับสัญญาซื้อขายมูลค่าราว 18.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 540 ล้านบาท) ในช่วงของรัฐบาลนายชวน หลีกภัยซึ่งในปี 2543 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่ดูแลรับผิดชอบโรงงานยาสูบคือ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ในขณะที่ระหว่างปี 2544-2547 แม้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่ดูแลโรงงานยาสูบอย่างต่อเนื่องคือ นายวราเทพ รัตนากร

โดยอลิอันซ์วันถูกตัดสินว่ามีความผิดในปี 2543 ได้ยินยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 9.45 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 282 ล้านบาท) และจ่ายเงินคืนรายได้จากผลกำไรเป็นเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 300 ล้านบาท)

หลังจากที่ทางการไทยได้ประสานไปยังกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ดำเนินการไต่สวน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้ว่า นายสุชน วัฒนพงษ์วานิช ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงงานยาสูบในช่วงนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในเบื้องต้น มีเหตุอันควรสงสัยนายสุชนว่ามีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ จึงมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 ระบุว่ากรณีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน สอบปากคำพยานบุคคล

เครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX 9000


เป็นคดีที่บริษัทจีอีอินวิชั่น (GE InVision) กับกรณีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างปรับเปลี่ยนระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารและเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX 9000 สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 26 เครื่อง มูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท

ปี 2547 บริษัทดังกล่าวถูกตรวจสอบจาก ก.ล.ต. สหรัฐฯ ตามกฎหมาย FCPA โดยพบว่าบริษัทมีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของประเทศจีนและฟิลิปปินส์ และมีการเตรียมที่จะจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ไทยด้วย ซึ่งบริษัทฯ ถูกปรับเป็นเงิน 800,000 เหรียญสหรัฐ (24 ล้านบาท) และยอมสารภาพแลกกับการไม่ถูกฟ้องคดี

คดีดังกล่าวมีนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 30 คน ได้แก่ อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม และกลุ่มคณะกรรมการและพนักงานบริษัทการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) คณะกรรมการและพนักงานบริษัทการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) และกลุ่มกิจการร่วมค้า ITO ซึ่งเป็นนิติบุคคลภาคเอกชน รวมทั้งสิ้น 25 ราย

ในปี 2555 ป.ป.ช. ได้มีมติไม่ชี้มูลพร้อมจำหน่ายคดี หลังจากที่คณะทำงานร่วมของ ป.ป.ช และ อสส. ได้ทำเรื่องไปถึงกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ส่งเอกสารต่างๆ ในการสอบสวนคดีดังกล่าว ซึ่งหนังสือตอบกลับยืนยันว่า ไม่พบการให้สินบนหรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ ทำให้ ป.ป.ช. เห็นว่าพยานหลักฐานไม่ชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 25 ราย รวมถึง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กระทำผิดจริง

สินบนภาษีนำเข้าสุรา


ผู้บริการระดับสูงของบริษัท ดิอาจีโอ พีแอลซี (Diageo) ได้ยอมรับว่ามีการจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินเดีย เกาหลีใต้ และไทย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการนำเข้าในแต่ละประเทศและจ่ายค่าปรับกว่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ (560 ล้านบาท) เพื่อยุติคดีละเมิดกฎหมาย FCPA โดยบริษัท ชมอนเด้ หรือชื่อใหม่ว่า ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) บริษัทลูกของดิอาจิโอฯ ได้จ่ายเงินสินบนประมาณ 600,000 เหรียญสหรัฐ (21 ล้านบาท) ระหว่างปี 2547-2551 แก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงคนหนึ่งที่เป็นอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร

คดีดังกล่าว ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนไว้ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2554 ซึ่งระบุผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีไว้เพียงว่าเป็น “ข้าราชการการเมือง” และมีการรับเรื่องอีกครั้งในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2555 โดยครั้งนี้ได้ระบุตัวผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายประพล มิลินทจินดา ข้าราชการการเมือง นายพันธ์เลิศ ใบหยก ข้าราชการการเมืองนายชัยยันต์ โปษยานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง นายวัฒนา ยูถะสุนทร เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรกระทรวงการคลัง ปัจจุบันความคืบหน้าล่าสุดตามข้อมูลวันที่ 26 กันยายน 2559 คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน





4 คดี FCPA ที่ยังไม่พบการดำเนินการในไทย

เมื่อตรวจสอบเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ในการบังคับใช้กฎหมาย FCPA ยังพบกรณีที่มี่ชื่อประเทศไทยเกี่ยวข้องกับการรับสินบนจากบริษัทข้ามชาติอีก 4 กรณี ในช่วงปี 2557 และ 2559

โดยในปี 2555 ต่อเนื่องจากกรณีกล้อง CCTV รัฐสภาข้างต้น บริษัทไทโค ตามข้อมูลที่มีการให้การต่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยังพบว่ามีกรณีที่บริษัทลูกของไทโคในไทยได้ติดสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในอีก 2 กรณี คือ กรณีแรกมีการจ่ายสินบนอีก 3 ครั้ง ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการดีไซน์และสำรวจเมืองพัทยา ซึ่งเป็นการจ่ายโดยไม่พบหลักฐานว่ามีการสำรวจจริง ตามข้อมูลกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่า การจ่ายสินบนเหล่านี้ทำให้เอดีที ประเทศไทย ได้รับกำไรจากโครงการต่างๆ เป็นมูลค่าราว 473,262 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 16 ล้านบาท)

นอกจากนี้ยังพบว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน ได้มีการติดสินบนผ่านบริษัทลูกในประเทศไทยอีกแห่งหนึ่ง โดยได้จ่ายเงินให้กับที่ปรึกษารายหนึ่ง มูลค่า 292,286 เหรียญสหรัฐ (ราว 10 ล้านบาท) ในโครงการ NBIT ของสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งทำให้บริษัทลูกในประเทศไทยนั้นได้กำไรจากโครงการดังกล่าว เป็นเงิน 879,258 เหรียญสหรัฐ (ราว 30 ล้านบาท)

ปี 2557 บริษัท ไบโอ-ราด แลบบอราทอรี่ส์ ที่ประกอบกิจการด้านเภสัชภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ ได้ยอมเผยข้อมูลและจ่ายค่าปรับให้แก่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ มูลค่า 14.35 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 502 ล้านบาท) รวมถึงจ่ายค่าปรับอีก 40.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,424 ล้านบาท) ให้แก่ ก.ล.ต. สหรัฐฯ เพื่อแลกกับการไม่ถูกฟ้องคดีในการทำผิดกฎหมาย FCPA จากกรณีที่บริษัทลูกในรัสเซียได้ปลอมแปลงเอกสาร ทำบัญชีรายจ่ายเท็จ และจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขรัสเซีย โดยการสารภาพในครั้งนั้นได้มีการกล่าวอ้างว่ามีการดำเนินการรูปแบบดังกล่าวในประเทศเวียดนาม และไทยด้วยเช่นกัน

และในปี 2559 บริษัท เจเนอรัล เคเบิล ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสายเคเบิลรายใหญ่ระดับโลก ยอมเปิดเผยข้อมูลการติดสินบนเจ้าที่รัฐในเอเชียและแอฟริกา รวมทั้งยอมจ่ายเงินค่าปรับ จำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 700 ล้านบาท) ให้กับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และจ่ายอีกกว่า 75 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2,625 ล้านบาท) แก่ ก.ล.ต. สหรัฐฯ โดยบริษัท เจเนอรัล เคเบิล เปิดเผยข้อมูลว่าได้ทำการจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ในประเทศต่างๆ มาเป็นกว่า 12 ปี ซึ่งพบว่ามีรายชื่อประเทศไทยรวมอยู่ในรายชื่อประเทศต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐรับสินบนจากบริษัทดังกล่าวด้วย

ตามรายงานของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่า บริษัท เจเนอรัล เคเบิล มีบริษัทลูกในไทย คือ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ PDLT ซึ่งดำเนินธุรกิจให้แก่ เจเนอรัล เคเบิล ในบังกลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งมีหลักฐานการติดสินบนมูลค่าหลายล้านเหรียฐสหรัฐในบังกลาเทศและอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยเอง PDLT ได้เปิดเผยว่า เพียงในช่วงปี 2555-2556 บริษัทจ่ายสินบนรวมกว่า 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

คดีเรือ-รถดับเพลิง กทม.

คดีนี้ไม่เกี่ยวกับกฎหมาย FCPA เนื่องจากเป็นบริษัทสัญชาติออสเตรีย คือบริษัท สไตเออร์–เดมเลอร์–พุค (Styer–Daimler–Puch) เป็นกรณีการฮั้วประมูลรถดับเพลิง กทม. หรือรู้จักกันในชื่อคดีเรือ-รถดับเพลิง กทม. แต่เป็นคดีที่มีการดำเนินการร่วมทศวรรษ

โดย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระหว่างเดือนตุลาคม 2548 ซึ่งเมื่อมีการรัฐประหารคดีดังกล่าวได้ถูกโอนย้ายไปยังคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) พร้อมกันนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็มีการรับเรื่องดังกล่าวเข้าเป็นคดีพิเศษและมีการตรวจสอบ และในเดือนกรกฎาคม 2549 การสอบสวนพบว่ามีการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงแพงเกินจริงกว่า 3,000 ล้านบาท ดีเอสไอได้มีมติให้ส่งสำนวนคดีชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 คน ให้ ป.ช.ช. ดำเนินการต่อ

ป.ป.ช. ได้มีการชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 และเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนักการเมือง บริษัทเอกชน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงรวมทั้งสิ้น 6 คนคือ นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ พล.ต.ต. อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร บริษัท สไตเออร์–เดมเลอร์–พุค และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ปัจจุบันศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 จำคุกนายประชา จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 12 ปี และจำคุก พล.ต.ต. อธิลักษณ์ จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 10 ปี แต่ทั้งคู่ได้หลบหนีไปตั้งแต่วันนัดฟังคำพิพากษา (คดีมีอายุความ 15 ปีสำหรับเจ้าหน้าที่ในการติดตามจับ) และองค์คณะมีมติเสียงข้างมากให้ยกฟ้องนายโภคิน จำเลยที่ 1, นายวัฒนา จำเลยที่ 3 และนายอภิรักษ์ จำเลยที่ 6 ส่วนบริษัทสไตเออร์ฯ คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศมีผลตัดสินเมื่อปลายปี 2557 ให้บริษัทจ่ายเงิน 20.49 ล้านยูโร และให้ กทม. รับสินค้าทั้งหมด

ไม้ล้างป่าช้า GT200

กรณีของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดถือเป็นกรณีการจัดซื้อที่โด่งดังที่สุด เพราะเป็นกรณีที่หน่วยงานรัฐไทยถึง 15 หน่วยงาน โดยเฉพาะกองทัพ เสียค่าโง่รวมกันคิดเป็นเงินกว่า 1,134 ล้านบาท ในการจัดซื้อ GT200 และ Alpha 6 รวม 1,398 เครื่อง โดยราคาเฉลี่ยต่อเครื่องของแต่ละหน่วยงานที่ทำการจัดซื้อมีตั้งแต่ 400,000 บาทต่อเครื่อง ไปจนถึงราคาสูงสุด 1.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่กองทัพเรือทำสัญญาจัดซื้อ ทั้งนี้ การดำเนินคดีในต่างประเทศกับผู้ผลิตและจัดจำหน่าย นายแกรี โบลตัน ศาลอังกฤษตัดสินจำคุกเขาในข้อหาฉ้อโกง เป็นเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2556

ส่วนการดำเนินการในประเทศไทยผ่านไปกว่า 8 ปีนับแต่เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตจากประชาชนในปี 2552 และนำไปสู่การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในปี 2553 คดีดังกล่าวได้ถูกส่งไปยัง ป.ป.ช. ตั้งแต่ปี 2553-2557 ใน 4 ข้อกล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ ได้แก่

เรื่องร้องเรียนดำเลขที่ 53411012 รับเรื่องตั้งแต่ปี 2553 ผู้ถูกกล่าวหาคือ พล.ท. ชวลิต จารุจินดา ผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม และพวก รวม 9 คน กรณีทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจัดซื้อเครื่องตรวจจับและค้นหาวัตถุระเบิด ยี่ห้อ Coms Trac รุ่น Alpha 6 ของศูนย์รักษาความปลอดภัยฯ ในปีงบประมาณ 255-2552

เรื่องร้องเรียนดำเลขที่ 5540012050 รับเรื่องในปี 2555 ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่จังหวัดยะลา สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในกรณีจัดซื้อเครื่องมือตรวจหาวัตถุระเบิดแบบพกพาของจังหวัดยะลา ในปีงบประมาณ 2551-2552 โดยไม่ตรวจสอบราคา ที่ส่วนราชการอื่นเคยจัดซื้อ ทำให้จังหวัดยะลาต้องจัดซื้อเครื่องมือตรวจหาวัตถุระเบิดแบบพกพา Alpha 6 ในราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็นและไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย

เรื่องร้องเรียนดำเลขที่ 5540012051 รับเรื่องในปี 2555 ผู้ถูกกล่าวหาล้วนเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรถึง 40 นาย ในกรณีกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การณีจัดซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด GT 200 ของกรมสรรพาวุธทหารบก กองทัพบก ปีงบประมาณ 2550-2552

เรื่องร้องเรียนดำเลขที่ 5740011499 รับเรื่องในปี 2557 ผู้ถูกกล่าวหา คือ พล.อ.ต. พงศธร บัวทรัพย์ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารอากาศ กองทัพอากาศ (เกษียณอายุราชการ) กับพวก รวม 29 คน กรณีทุจริตในการจัดซื้ออุปกรณ์ตรวจค้นวัตถุระเบิด (THE MOLE PROGRAMMABLE SYSTEM) ของกรมสรรพาวุธทหารอากาศ ปีงบประมาณ 2548-2551

ปัจจุบัน คดีเกี่ยวกับ GT 200 ทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช.

คดีทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นในช่วงที่หน่วยงานรัฐต่างมีอิสระในการออกระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของตนเอง แม้จะมีความพยายามป้องกันการทุจริตโดยใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement: e-GP) จากระบบ e-auction จนถึง e-bidding และ e-market แต่เสียงจากวงในเห็นว่าระบบดังกล่าวก็ยังคงมีช่องโหว่ เนื่องจากการทุจริตสามารถเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดซื้อฯ ซึ่งหน่วยตรวจสอบยากที่จะพบ อาจเป็นการเปลี่ยนสัญญาหลังชนะการประมูล หรือการตกลงกันล่วงหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ร่วมประมูล

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะมีการใช้กฎหมายมาตรา 44 เพื่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาครอบคลุม ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่มีราคาสูง และ พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชัดเจนว่ารัฐบาลจะไม่นำโทษปรับแบบสหรัฐฯ มาใช้ ประกอบกับการเริ่มนำสัญญาคุณธรรมหรือ Integrity Pact มาใช้ การแก้ไขกฎหมายถึง 76 ฉบับเพื่อเป็นกลไกเอาผิดผู้บริหาร และบรรดาผู้แทนนิติบุคคุลที่ทำการทุจริต และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบปรับระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใหม่ให้สอดรับกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม เช่นเดียวกับการแก้ไขกฎหมายวินัยราชการให้มีผลในการเอาผิดกับข้าราชการที่หวังทุจริตทิ้งทวนก่อนเกษียณอายุราชการ

ขณะที่รัฐเองพยายามปิดช่องการทุจริต คนโกงย่อมหาช่องทางหลบเลี่ยง เมื่อหลายประเทศทั่วโลกพยายามจับมือสร้างกลไกการปราบปรามการฟอกเงินอย่างจริงจัง การให้สินบนก็ปรับรูปแบบจากเงินเป็นสิทธิประโยชน์อื่นๆ ดังนั้น นอกจากระบบการป้องกัน ระบบการควบคุมและตรวจสอบผู้กระทำผิดเองก็มีความสำคัญ ดังคดีต่างๆ ที่ยกมาข้างต้น เฉลี่ยแล้วเวลาดำเนินการในการสืบหาข้อเท็จจริงไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี บางคดีที่ศาลตัดสินแล้วก็ยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ และบางคดีมีข้อมูลจากต่างประเทศแต่ไทยยังไม่มีการตรวจสอบใดๆ

ดังที่ ศ. ดร.อุดม รัฐอมฤต คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวไว้ว่า “คนไม่ได้กลัวกฎหมายเพราะบทลงโทษรุนแรง แต่คนกลัวและเลือกที่จะเคารพกฎหมายเพราะมีกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ดี เพราะเขาไม่อาจหาช่องทางหลบหนีความผิดได้” ดังนั้น ไม่ใช่เพียงกลไกป้องกันที่ขยับ แต่กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบก็ต้องขยับด้วยเช่นกัน