วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 16, 2560

พินิจบทเรียนจากเกาหลีใต้-การเมืองบนท้องถนนเพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตย




การชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2559 (ที่มา: Teddy Cross/Flickr)

พินิจบทเรียนจากเกาหลีใต้-การเมืองบนท้องถนนเพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตย


Thu, 2017-02-16 19:34
ที่มา ประชาไท


กรณีชุมนุมใหญ่ที่เกาหลีใต้จนสภาลงมติถอดถอนผู้นำ สะท้อนว่าการเมืองบนท้องถนนไม่ได้ทำให้เกาหลีใต้ไปสู่ประชาธิปไตยช้าลง แต่เป็นวัฒนธรมการเมืองที่ขยายตัวไปตามพื้นที่ประชาธิปไตย ที่สำคัญภาพการชุมนุมในเกาหลีใต้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากฉากปะทะด้วยแก๊สน้ำตา-ระเบิดขวด มาเป็นขบวนการทางสังคมที่เลี่ยงการทะเลาะแข่งขันทางการเมืองแบบในอดีต แต่เลือกการเปิดกว้างให้ผู้คนร่วมแสดงความเห็นส่งสัญญาณความไม่พอใจผู้นำ จนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด

คิม ซุนชุล ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านเกาหลีศึกษาจาก มหาวิทยาลัยเอมอรี เขียนบทวิเคราะห์ลงใน Eest Asia Forum ถึงการประท้วงในเกาหลีใต้ที่เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีการชมนุมต่อต้านประธานาธิบดี พัก กึนเฮ จนกระทั่งเธอถูกถอดถอนออกจากการปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตามการประท้วงบนท้องถนนในเกาหลีใต้ไม่ใช่สิ่งที่ขัดต่อประชาธิปไตยในทางตรงกันข้ามเขามองว่าการประท้วงทางการเมืองในเกาหลีใต้มีส่วนในการส่งเสริมประชาธิปไตยเสมอมา

ในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้มีการประท้วงต่อต้านเผด็จการอยู่หลายครั้งไม่ว่าจะเป็นการลุกฮือในเดือนเมษายน 2503 ที่สามารถโค่นล้มรัฐบาลอี ซึงมัน ลงได้ แต่ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็มีอายุสั้น ในช่วงต่อมาเกาหลีใต้ก็ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารของพัก จุงฮี และช็อน ดูฮวัน แต่รัฐบาลเผด็จการเหล่านี้ก็ถูกประชาชนออกมาประท้วงอย่างไม่หยุดหย่อน จนกระทั่งในปี 2530 การประท้วงของประชาชนก็ทำให้ผู้นำเผด็จการต้องยอมให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง

บทวิเคราะห์ของคิม ซุนซุล พูดถึงเรื่องนี้ว่าการประท้วงในเกาหลีใต้ไม่ได้ทำให้การเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยช้าลง แต่การประท้วงบนท้องถนนในเกาหลีใต้กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไปตามการเติบโตของพื้นที่ประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา องค์กรประชาสังคม แม้กระทั่งพรรคการเมืองฝ่ายค้าน หรือ ส.ส. ต่างก็ออกมาประท้วงนโยบายของรัฐบาล ทำให้แม้กระทั่งสื่อจากต่างประเทศยังสรุปไว้ในปี 2551 ว่า "การประท้วงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเกาหลีใต้ไปแล้ว" เรื่องนี้รวมถึงการประท้วงจุดเทียนเพื่อตอบโต้เรื่องอื้อฉาวของรัฐบาลพัก กึนเฮด้วย

เคยมีการประท้วงด้วยวิธีการจุดเทียนในเกาหลีใต้เกิดขึ้นย้อนกลับไปได้ถึงปี 2545 หลังเกิดเหตุการณ์วัยรุ่นหญิง 2 คนถูกรถหุ้มเกราะของสหรัฐฯ ชนเสียชีวิตในช่วงที่มีการซ้อมรบ มีคนเสนอให้จุดเทียนรำลึกจนเรื่องนี้หมุนเวียนไปตามอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ต่างๆ หลังจากที่ข่าวทหารสหรัฐฯ ถูกตัดสินให้พ้นโทษจากกรณีนี้แพร่สะพัดไปทั่ว มีผู้คนจำนวนมากออกมาชุมนุมที่จัตุรัสกวางฮามุนเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิต หลังจากนั้นนักกิจกรรมก็นำเอาการจุดเทียนชุมนุมมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นความอยุติธรรม

หลังจากนั้นเป็นต้นมาการประท้วงในเกาหลีใต้ก็้จะมีการจุดเทียนชุมนุมซึ่ง คิม ซุนซุล มองว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ก่อนหน้านี้ภาพลักษณ์การประท้วงในเกาหลีใต้มักจะมีลักษณะของการปะทะกัน มีทั้งแก๊สน้ำตาและระเบิดขวด แต่การประท้วงจุดเทียนกลายเป็นพื้นที่ใหม่ที่ทำให้ผู้ประท้วงแสดงออกถึงเจตนาของตนเองออกมาอย่างจริงจังได้ผ่านวิธีการสันติ ซึ่งการประท้วง พัก กึนเฮ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาแม้จะมีความตึงเครียดทางการเมืองและมีจำนวนผู้ประท้วงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเลย

นักวิชาการรายนี้ยังระบุถึงสาเหตุที่การประท้วงเป็นไปอย่างสันติว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะตำรวจเกาหลีใต้ก็มีความอดทนอดกลั้นต่อผู้ชุมนุมมากขึ้นและศาลเกาหลีใต้ก็ตัดสินออกมาในเชิงสนับสนุนผู้ชุมนุมทำให้มีการเปิดทางใหม่ๆ ให้กับผู้ประท้วง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นในช่วงที่มีการประท้วงเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ประชาธิปไตย แต่อีกส่วนหนึ่งก็มาจากความสามารถในการควบคุมจัดการการชุมนุมของกลุ่มแกนนำเองด้วย

กลุ่มที่จัดการชุมนุมเรียกตัวเองว่ากลุ่ม "ปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อให้พัก กึนเฮลาออก" เป็นการรวมกลุ่มขององค์กรพลเมือง 1,500 องค์กร ในอดีตองค์กรเหล่านี้มักจะทะเลาะกันเองระหว่างกลุ่มที่แข่งขันกันทางการเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะกันเองเช่นนี้ทำให้กลุ่มปฏิบัติการฉุกเฉินฯ ตั้งกฎเกณฑ์การตัดสินใจโดยเปิดกว้างพื้นที่ทางการเมืองให้กับผู้คนทุกชนชั้นสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีได้ จนทำให้พวกเขาสามารถขับเคลื่อนชาวเกาหลีใต้นับล้านคนออกไปแสดงออกถึงความโกรธ ความไม่พอใจ บนท้องถนนโดยเปลี่ยนมันให้กลายเป็นข้อความทางการเมืองได้ จนทำให้รัฐสภาลงมติถอดถอน พัก กึนเฮ ในที่สุด

บทความของ คิม ซุนซุล ระบุว่าความสำเร็จนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของภาคประชาสังคมในเกาหลีใต้แต่ก็สะท้อนความอ่อนแอในระบบพรรคการเมืองในฐานะตัวกลางกทางการเมืองของเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน จากการที่พรรคการเมืองเกาหลีใต้มักจะลื่นไหลไปมาไม่มีหลักการอย่างมาก บ้างก็มีการแบ่งแยก ยุบรวม เปลี่ยนชื่อไปมา เป็นกลุ่มพรรคการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ ไม่สามารถสื่อวาระทางการเมืองหรือมีอัตลักษณ์ร่วมกันจนทำให้องค์กรภาคประชาสังคมกลายเป็นตัวกลางทางการเมืองแทนกลุ่มพรรคการเมือง ทั้งการส่งเสริมวาระทางการเมืองใหม่ๆ นโยบายการต่อสู้ การปฏิบัติการทางตรง ซึ่งบางครั้งก็เอาไปคัดง้างกับนักการเมืองในสภาแบบประชันกันซึ่งๆ หน้า

ในทางการเมืองของเกาหลีใต้ตอนนี้ คิม ซุนซุล มองว่าถึงแม้เสียงเรียกร้องจากประชาชนจะสอดคล้องไปตามกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีแต่พรรครัฐบาลและกลุ่มแนวร่วมต่อต้าน พัก กึนเฮ ต่างก็มีการแตกแยกออกเป็นหลายๆ ส่วน เพื่อเตรียมแข่งขันทางการเมืองกันในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง และด้วยการที่ไม่มีใครที่ไว้ใจได้ในการเมืองแบบพรรคการเมืองแบบนี้ก็มีโอกาสที่ชาวเกาหลีใต้จะออกมาสะท้อนเสียงของตัวเองบนท้องถนนอีกเมื่อมีการละเมิดหลักการประชาธิปไตยเกิดขึ้น การเมืองผ่านการประท้วงของเกาหลีใต้จะดำเนินต่อไป


เรียบเรียงจาก

South Korea’s candlelight protests, Sun-Chul Kim, East Asia Forum, 07-02-2017