วันศุกร์, พฤศจิกายน 25, 2559

ความผิดพลาดของฝ่ายผู้จงรักภักดีที่อาจต้องถือเป็นบทเรียน





ความผิดพลาดของฝ่ายผู้จงรักภักดีที่อาจต้องถือเป็นบทเรียน


โดย ชัยสิริ สมุทวณิช
ผู้จัดการออนไลน์

24 พฤศจิกายน 2559

ช่วงสองสัปดาห์นี้มี “ประเด็นดรามา” ในโลกโซเชียลที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของตัวบุคคลอยู่สองเรื่อง

เรื่องแรกนั้นค่อนข้างจะดังและฮือฮาไปในวงกว้าง แม้ตอนนี้จะซาไปแล้วก็ตาม คือเรื่องของนักพูดชื่อดัง “น้องเบส” หรือ น.ส.อรพิมพ์ รักษาผล

กับอีกเรื่องคือเรื่องของนักจัดรายการทางช่องยูทูป คุณเทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา ซึ่งประเด็นหลังอาจจะไม่ดังเท่าเรื่องแรก

แต่ทั้งสองเรื่องก็เป็นประเด็นที่ถูกฝ่าย “เสื้อแดง” หรือแนวร่วมเอามาโจมตีตลอดจนล้อเลียนกันอย่างสนุกสนานในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

จนกระทั่งขยายความไปสะเทือนถึงบุคคลในรัฐบาลที่จะต้องออกมาตอบคำถามต่อสื่อมวลชนหรือเป็นธุระต้องออกมาจับตาห้ามปราม

กรณีของ “น้องเบส” นั้นเราคงรู้แล้วว่ามาจากการขยายความในการไปพูดของเธอครั้งหนึ่งที่ภาคอีสาน ซึ่งไม่แน่ใจว่าคลิปถูกตัดต่อมาแบบไม่ดูบริบทหรือไม่ แต่ก็ถูกตีความว่าเธอพาดพิงถึงคนอีสานในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบัน

เช่นนี้เลยได้ทีที่อีกฝ่ายจะขี่แพะไล่ขยายประเด็นไปไกล มือดีก็รีบทำป้ายผ้ามาห้ามเธอเข้าอีสานบ้าง หรือทนาย นปช.ก็ถึงกับไปแจ้งความดำเนินคดี ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ไม่มีมูล

แต่ถึงจะไม่ใช่เรื่องการผสมโรงแบบได้ทีขี่แพะไล่จากฝ่ายเสื้อแดงก็ตาม แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นฝ่าย “ผู้จงรักภักดี” ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนกัน ก็ออกมาร่วม “ปราม” กรณีของน้องเบสนี้ด้วย

เหตุผลรวมๆ กันก็มีว่า เพราะเธอยัง “เด็ก” เกินไป และแทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีประสบการณ์เลยในการทำงานรับใช้พระองค์ท่านหรือเกี่ยวข้องกับโครงการในพระราชดำริต่างๆ แต่เธอก็ออกมาพูดเรื่องดังกล่าวได้เป็นคุ้งเป็นแคว ด้วยข้อมูลที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นข้อมูลชั้นที่สองที่มาจากการค้นคว้า

ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลที่เธอได้มานั้นมีอะไรไม่ถูกต้อง แต่การที่จะไปพูดเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญนี้ได้ (และเป็นการพูดเพื่อได้ค่าตอบแทนแบบมืออาชีพด้วย) นั้น ผู้พูดก็ควรเป็นผู้ที่มีข้อมูลชั้นต้น เช่นเคยเป็นผู้ถวายงานรับใช้ใกล้ชิด หรือเป็นผู้มีส่วนร่วมกับโครงการตามพระราชดำริ หรืออย่างน้อยก็ควรจะเป็นชาวบ้านที่มีประสบการณ์ว่า เพราะโครงการต่างๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นทำให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้นได้อย่างไร

นอกจากนี้ โทนเสียงและวิธีการพูดของเธอ ซึ่งตั้งใจจะเป็นการพูดแบบปลุกใจ หรือพูดให้คนเกิดความรู้สึกทางอารมณ์ที่เต็มตื้นซาบซึ้งนั้น ก็จะต้องใช้วาทศิลป์ทั้งถ้อยคำและน้ำเสียง แต่ถ้อยคำและน้ำเสียงนั้นก็ออกจะเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงอยู่ เพราะบางครั้งก็กล่าวถึงพระองค์ท่านด้วยถ้อยคำสามัญ หรือใช้สรรพนามที่คนรุ่นเก่าหรือคนที่ถือสาเรื่องระดับภาษาอาจจะรู้สึกไม่สนิทใจเท่าไรนัก หรือใช้น้ำเสียงและท่าทีในการพูดที่อาจจะเพื่อความเร้าใจสร้างอารมณ์ แต่ก็อาจจะไม่เหมาะสมกับการสื่อสารในประเด็นละเอียดอ่อน

จุดผิดพลาดของเธอที่ทำให้เรื่องเกิดเป็น “ดรามา” นี้ก็มาจากการที่เธอให้ข่าวว่า จะไปพูดที่สหรัฐอเมริกาถึงเรื่องในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ได้รับการปฏิเสธวีซ่า ซึ่งเฉพาะบริบทที่กล่าวมานี้อาจจะพาให้เข้าใจผิดไปได้ ทั้งๆ ที่เหตุแห่งการปฏิเสธวีซ่านั้นส่วนใหญ่จะมาจากความไม่พร้อมส่วนบุคคลของผู้ขอวีซ่า มากกว่าเนื้อหาว่าจะไปพูดเรื่องอะไรที่ไหน

ไม่มีใครรู้ว่าเจตนาตั้งต้นของเธอคืออะไร แต่การเอาเรื่องการปฏิเสธวีซ่า มารวมในบริบทเดียวกับเรื่อง “ในหลวง” ก็ทำให้หลายคนที่เป็นผู้จงรักภักดีเองก็รู้สึกไม่ดี เหมือนกับว่ามีการนำพระองค์ท่านมาใช้เป็นข้ออ้าง หรือถ้าพูดแรงๆ แบบฝ่ายที่ไม่ชอบเธอ เขาก็เรียกว่าเป็นการ “โหน” สถาบันเพื่อประเด็นของตัวเอง

แต่ทั้งหมดนี้ ก็คงจะเป็นบทเรียนให้กับตัวน้องเบสเอง และกับคนอื่นอีกมาก แม้ว่าจะเป็นผู้มีความจงรักภักดี แต่สำหรับในเรื่องที่เป็นประเด็นส่วนตัวแล้ว ก็ไม่ควรจะอ้างหรือนำเรื่องของพระองค์ท่านเข้ามาประกอบในบริบทด้วย โดยเฉพาะในเรื่องอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้พูดเอง






ส่วนประเด็นเรื่องของคุณเทอดศักดิ์ ที่ในวงการสื่อออนไลน์เรียกเขาว่า “เทอดศักดิ์ เจียม” ไปแล้ว ซึ่งหมายจะให้เหมือนเป็นการล้อกับ “สมศักดิ์ เจียม” หรือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการขวัญใจของคนเสื้อแดงและแนวร่วม

แม้ว่า “เทอดศักดิ์ เจียม” นั้นจะออกตัวแรง ออกตัวมาชัดเจนว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับ “สมศักดิ์ เจียม” ก็ตาม แต่ปัญหาของคุณเทอดศักดิ์นั้นอยู่ที่การนำเสนอข้อมูล ที่ข้อมูลส่วนใหญ่นั้นเป็นข้อมูลที่ผิด และผิดแบบไม่ต้องมีข้อถกเถียงเลยด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงอย่างที่เขาเรียกว่าเป็น Fact หรือข้อเท็จจริงแบบไม่ต้องตีความ

เช่น คุณเทอดศักดิ์บอกว่า อับราฮัม ลินคอล์น เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ หรือกบฏบวรเดชเป็นการต่อสู้กันเองของคณะราษฎรพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นหนึ่งในแกนนำคณะราษฎร หรือเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองจากการนำของพระเจ้าบุเรงนอง ฯลฯ เรียกว่าเป็นเรื่องที่พูดที่ไหนไก่ก็หมดเล้ากันที่นั่น แต่ที่สุ่มเสี่ยงคือมีการพูดเรื่องข้อเท็จจริงที่ผิดพลาดในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันด้วย

ไม่ว่าคุณเทอดศักดิ์จะมีเจตนาดีเพื่อปกป้องสถาบันหรือเป็นฝ่ายเทิดทูนสถาบันจริงหรือไม่ แต่การนำเสนอด้วยข้อมูลที่ผิดพลาดบ่อยครั้ง แสดงให้เห็นว่าเป็นคนไม่มีความรู้อย่างถ่องแท้ในเรื่องที่พูดของคุณเทอดศักดิ์ ก็จะเป็นผลร้ายต่อฝ่ายที่จงรักภักดีต่อสถาบันในภาพรวมไปด้วย
เพราะส่วนหนึ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งใช้เป็นจุดขาย คือพยายามชี้ว่าฝ่ายตัวเองนั้นเป็นฝ่าย “ปัญญาชน” มีนักวิชาการที่มีชื่อเสียง เป็นด็อกเตอร์บ้าง จบเมืองนอกบ้าง หรือนักเขียนนักคิดผู้มีชื่อเสียงมาสมาทานกับฝ่ายพวกเขา

คือพูดง่ายๆ คิดว่าพวกตัวเอง “ฉลาด” กว่าฝ่ายผู้จงรักภักดีนั่นแหละ

ดังนั้น ถ้าเกิดมีฝ่ายผู้จงรักภักดีกลายเป็นคนดังขึ้นมาด้วยข้อมูลผิดเละเทะเหมือนไม่รู้จริงแล้วก็พูดได้เป็นคุ้งเป็นแคว ก็เป็นเรื่องสนุกที่พวกเขาจะใช้โห่ฮาป่า ว่านี่ไงล่ะ เป็นฝ่ายนี้แล้ว “โง่” เรื่องข้อเท็จจริงพื้นๆ ก็ไม่รู้

จะเห็นว่า มีแต่เสียกับเสียกลายเป็นจุดอ่อนที่ถูกนำมาโจมตีโดยไม่จำเป็น เช่นนี้แล้วก็ไม่แปลว่าเริ่มมีปฏิกิริยาจากทางฝ่ายบ้านเมืองแล้วว่าจะทำการตรวจสอบ

ส่วนฝ่ายแดงก็ไม่ต้องสงสัยครับ มีการส่งคนไปฟ้องคุณเทอดศักดิ์เรียบร้อยแล้ว หาว่าไปพูดพาดพิงถึงการเสียชีวิตของ “เสธ.แดง”

อันนี้เรียนกันตรงๆ ว่า ค่อนข้างเข้าใจและเห็นใจคุณเทอดศักดิ์อยู่พอสมควร เพราะส่วนหนึ่งก็ยังเชื่อว่าเขาพูดด้วยเจตนาดีจริงๆ ตั้งใจจะโต้ตอบอีกฝ่ายอย่างจริงใจ แต่ก็เหมือนเรื่องน้องเบสนั่นแหละว่า การนำเอาเรื่องสถาบัน หรืออ้างความจงรักภักดีมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวในกรณีของคุณเทอดศักดิ์นี้ก็ได้แก่ชื่อเสียงหรือยอดแชร์ยอดไลค์ในยูทูปและเฟซบุ๊กนั้นเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงและไม่สมควร

เพราะการจะพูดเรื่องของสถาบัน หรือออกมาแสดงการปกป้องสถาบันก็ตาม ควรจะต้องกระทำโดยผู้มีประสบการณ์ตรงหรือมีความรู้จริง และเป็นข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมดอย่างเถียงไม่ได้

หาไม่แล้ว ข้อมูลผิดๆ ถูกๆ พวกนั้นแหละที่จะเป็นช่องว่างให้อีกฝ่ายโจมตีและลามปามต่อไปถึงผู้จงรักภักดีและปกป้องสถาบันส่วนใหญ่ได้.

.....

ไม่ได้โง่เพราะฉลาดน้อยหรอกครับแต่โง่เพราะมีอคติบังตาบังใจเลยทำให้บอดทึบปัญญา

มิตรสหายท่านหนึ่ง