วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 18, 2559

ลองดูความคิดความเชื่อของ 'ไผ่ ดาวดิน' ทำไมไม่ยอมประกันตัว ทำไมต้องอารยะขัดขืน




7 นักศึกษาดาวดินที่ประกาศจะทำอารยะขัดขืนด้วยการไม่ไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวน หลังถูกดำเนินคดีเพราะชุมนุมต้านรัฐประหาร

เครดิต ILaw
 (ความเก่า เล่าใหม่)

คิดเรื่อง “อารยะขัดขืน” ตาม “จิตสำนึก” แบบฉบับนักศึกษา “ดาวดิน”

โดย admin
ILAW
19 มิถุนายน 2015


วันที่ 19 มิถุนายน 2558 เป็นวันที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น นัดให้นักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 คนไปรายงานตัวเพื่อสอบปากคำในข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งออกตามอำนาจในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2557

การกระทำอันเป็นเหตุให้พวกเขาถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี มาจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 พวกเขาออกไปชูป้ายคัดค้านการทำรัฐประหาร เนื่องในวันครบรอบหนึ่งปีของการรัฐประหาร เพื่อสื่อสารกับสังคมว่าการรัฐประหารนำมาซึ่งผลกระทบต่างๆ ที่เกิดกับชาวบ้านที่ต้องต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในชุมชน

ทั้ง 7 มองว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่กฎหมายที่จะลงโทษพวกเขาเป็นสิ่งที่ผิด นำไปสู่แผนการที่พวกเขาเรียกว่า “อารยะขัดขืน” สามขั้นตอน คือ

หนึ่ง จะไม่ไปรายงานตัวตามที่ถูกเรียก
สอง หากมีการออกหมายจับ ก็จะยอมให้ถูกจับโดยไม่ขัดขืน
สาม หากถูกจับก็จะไม่ยื่นขอประกันตัว โดยมีข้อเสนอเดียวคือต้องปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น หากไม่ถูกจับ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จที่ได้ประกาศให้สังคมรู้ว่ากฎหมายนั้นใช้บังคับไม่ได้จริง

ขณะเดียวกันก็มีข่าวมาว่าพนักงานสอบสวนเตรียมจะพาทั้ง 7 คนไปฝากขังที่ศาลทหารเลย ซึ่งหากพวกเขาไม่ยื่นขอประกันตัวพวกเขาก็จะถูกส่งตัวไปเรือนจำทันที แต่พวกเขาก็ยืนยันว่าพร้อมแล้วที่จะเข้าคุกเพื่อยกระดับการเคลื่อนไหว และยืนยันว่าการชูป้ายไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่สิ่งที่ผิดคือกฎหมาย

ตามความเข้าใจของพวกเรา “อารยะขัดขืน” คืออะไร?

วสันต์ เสตสิทธิ์ หรือโต้ง เริ่มอธิบายก่อนว่า อารยะขัดขืนในความเข้าใจ คือ การดื้อแพ่งกับกฎหมายที่เราเห็นว่าไม่ยุติธรรม ไม่ถูกต้อง โดยพร้อมที่จะรับโทษ รับผลที่จะเกิดขึ้น ในกรณีนี้คิดว่าโทษอาจจะเป็นการติดคุกประมาณหกเดือน
ด้าน ศุภชัย ภูครอบพลอย หรือ อาร์ตี้ กล่าวเสริมว่า การทำอารยะขัดขืนครั้งนี้ คือ พวกเรายอมรับโทษฐานที่เราไม่ทำตามกฎหมายของคสช. แต่เราไม่ยอมรับผิดเพราะเราเชื่อว่ากฎหมายนี้ไม่ถูกต้องตามจิตสำนึกของพวกเราส่วนตัวผมไม่นับว่า
เป็นกฎหมาย ในมิติของกฎหมายการที่ได้มาซึ่งอำนาจแบบนี้มันไม่ถูกต้อง ในมิติของประชาธิปไตยก็รู้อยู่แล้วว่า การปกครองแบบนี้ไม่ได้ยึดโยงอะไรกับสิทธิเสียงของประชาชนเลย

ขณะที่ สุวิชชา พิทังกร หรือ เบส อธิบายว่า ในฐานะที่เรียนกฎหมาย รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 ไม่มีความถูกต้องชอบธรรมตั้งแต่แรก การไม่ไปรายงานตัวครั้งนี้ก็เป็นการต่อสู้กับ ประกาศหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 รวมถึงประกาศคสช.ฉบับอื่นๆ ด้วย เราเชื่อว่ากฎหมายที่ใช้กันอยู่นั้นไม่ถูกต้อง และออกมาโดยกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม เราจะยอมโดนจับเพื่อทำให้รู้ว่าถึงแม้กฎหมายนี้จะใช้อย่างไม่ชอบธรรมแต่เราก็ไม่กลัว ถึงแม้เขาจะบอกว่าเราทำผิดแต่เราเชื่อว่าเราไม่ได้ทำผิดแน่นอน





ไปเอาความคิดเรื่องการ “อารยะขัดขืน” มาจากไหน?

พายุ บุญโสภณ หรือที่เพื่อนๆ เรียกว่า พายุ อธิบายว่า ต้นแบบของอารยะขัดขืน คือ “มหาตมะคานธี” เราก็เอาหลักการนี้มาใช้กับกิจกรรมของเราเหมือนกัน วันที่เราออกไปชูป้ายเราก็รู้อยู่ว่ากฎหมายมันบอกว่าผิด แต่เมื่อจิตสำนึกมันบอกว่าไม่ผิด เราก็ออกไปทำ เมื่อทำเสร็จแล้วเราก็ยอมรับโทษ ยกตัวอย่างที่คานธีเคลื่อนไหวสมัยที่อังกฤษออกกฎหมายห้ามคนอินเดียทำเกลือกิน ทั้งที่เป็นอาชีพหลักของคนอินเดีย กฎหมายนั้นออกมาห้ามสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติกันเป็นปกติอยู่แล้ว คานธีจึงเรียกร้องให้คนอินเดียออกมาทำเกลือกินกันเลย แล้วจะโดนจับก็โดนจับ เพราะสิ่งที่เราทำอยู่แล้วเป็นเรื่องที่ถูกต้อง จนคานธีสามารถเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายนี้ได้

ขณะที่ ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือ ไนซ์ เล่าว่า คำว่า "อารยะขัดขืน" นั้นห้องเรียนไม่เคยสอน แต่จังหวะหนึ่งเปิดไปดูหนังเรื่องของ “คานธี” พอดี ทำให้ได้รู้จักวิธีการต่อสู้ ที่ไม่ใช้ความรุนแรง คือ การไม่ยอมรับความผิดแต่ยอมรับโทษ ผมมองว่ามันเป็นการต่อสู้ที่สวยงามมาก แม้จะถูกทำร้ายเท่าไรแต่ก็ไม่ไปละเมิดใคร เขาทำกันอย่างนี้จริงๆ ไม่ใช่แค่ทฤษฎี เราก็เลียนแบบมานั่นแหละ

ส่วนโต้ง เล่าว่า รู้จัก “อารยะขัดขืน” จากการดูหนังเช่นกัน เช่น Butler ซึ่งเป็นการต่อสู้ของคนผิวสี ในหนังเรื่องนี้มีฉากหนึ่งที่มีร้านอาหารเฉพาะสำหรับคนขาวเท่านั้น แล้วคนผิวสีที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพกลุ่มหนึ่งก็เข้าไปนั่งสั่งอาหาร คนเสริ์ฟเอาน้ำแกงมาเทใส่หัวและเฉดหัวออกไป โดยที่คนผิวสีไม่ตอบโต้เพราะยอมรับผลที่เกิดขึ้น หรือหนังเรื่อง Battel Seatle ที่เป็นเรื่องของการประท้วงใน Wall Street คัดค้าน WTO ซึ่งมีวิธีการประท้วงโดยไม่มีความรุนแรง พอดูหนังก็มีแรงบันดาลใจ เกิดความคิดอะไรมากขึ้น






ทำไมถึงต้องเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับการติดคุก?

อาร์ตี้ อธิบายว่า ในช่วงเวลาแบบนี้ที่มีข้อห้าม ไม่ให้เราแสดงออกทางการเมืองได้ การอารยะขัดขืนนี้ก็อาจจะเป็นการขยับเส้นบรรทัดฐานใหม่ เราต้องการจะทำอะไรที่เป็นเรื่องใหม่ให้สังคมได้ฉุกคิดว่ามีคนต้องติดคุกด้วยข้อหานี้นะ อาจจะมีคนที่เห็นแล้วรู้สึกกลัวก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องมีสักคนนึงที่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องตลกมากที่คนต้องเข้าไปอยู่ในคุกด้วยข้อหานี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องไร้สาระมาก

“สาเหตุที่เราต้องออกมาเคลื่อนไหวเพราะเราเห็นปัญหาจริงที่เกิดขึ้นแล้วเราทนไม่ได้ เพราะชาวบ้านเขาเหมือนพ่อแม่เราจริงๆ เราเห็นมีคนมาทำร้ายเขาแบบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้กำลัง เราก็ยอมไม่ได้” “ในใจผมก็ยังเชื่อว่าการที่เรายอมโดนจับจะทำให้มีคนตื่นตัวและออกมาเคลื่อนไหวกับเรื่องแบบนี้มากขึ้น บางคนอาจจะกลัวการติดคุก เราก็จะทำให้ดูว่าการติดคุกก็ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เราถึงยอมที่จะติดคุกก่อน เพื่อจะปลุกเขาออกมา” เบสกล่าว

ด้าน พายุ อธิบายว่า ถ้าเราโดนจับครั้งนี้ก็เป็นการบอกให้สังคมรับรู้ว่าเมื่อมีสิ่งไม่ถูกต้องเราก็ต้องออกมาคัดค้าน เราไม่ควรยอมรับกฎหมายที่ขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน การรัฐประหารครั้งนี้ทำมีคนได้รับผลกระทบหลายฝ่าย แต่ไม่มีใครกล้าออกมาต่อสู้เรียกร้องเพราะมีกฎหมายตัวนี้ข่มไว้อยู่ การที่เรายอมให้ถูกจับก็เพื่อสร้างข้อเสนอให้สังคมว่า เมื่อเราถูกจับแล้วเราต้องการเรียกร้องอย่างเดียวคือ “ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข” เท่านั้น ถ้าหากข้อเสนอนี้บรรลุผลเราก็ได้สร้างบรรทัดฐานว่า การชูป้ายนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด คนอื่นก็สามารถทำได้เหมือนกัน

อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ หรือ น้อย สมาชิกอีกหนึ่งคน บอกว่า ถ้าพวกเราทำงานเคลื่อนไหวต่อแต่ไม่ต้องเข้าคุก คิดว่ามันไม่ได้อะไร เพราะมันเหมือนเดิม เหมือนกับที่เคยทำมา มันไม่ใหม่ แต่ว่าถ้าเราต้องเข้าคุกมันเป็นเรื่องใหม่ ต้องลองดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ ถ้าตำรวจปล่อยแบบมีเงื่อนไข เช่น ต้องประกันตัว ก็จะไม่ยอม ก็ยินยอมเข้าคุกดีกว่า

ตัวตั้งตัวตีอีกหนึ่งคนที่พร้อมจะใช้ “คุก” เป็นเครื่องมือสื่อสารกับสังคมคือ จตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ตอบคำถามเรื่องนี้ว่า เราอยากทำให้เห็นว่าในสถานการณ์อย่างนี้การติดคุกเป็นเรื่องปกติ จริงๆ สังคมตอนนี้เราต้องไปอยู่ในคุกกัน ก็กฎหมายมันเป็นแบบนี้ กฎหมายมันลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เราอยากทำให้เห็นเป็นรูปธรรม

“ทุกวันนี้คนกลัว พวกนักเคลื่อนไหวนักวิชาการก็ไม่มีใครออกมาทำอะไร เคลื่อนไหวอะไรไม่ได้ หลายคนกลับบอกว่า ถ้าพวกเราอยู่ข้างนอกอาจจะทำอะไรได้มากกว่า แต่พวกเราต้องการสื่อให้เห็นว่า ถ้าอยู่ข้างนอกก็ทำอะไรไม่ได้ อยู่ข้างในดีกว่า และอยากบอกกับคนอื่นว่า คุณก็ต้องเข้ามาอยู่ข้างในด้วยกัน ไปอยู่อะไรข้างนอก ในเมื่อกฎหมายมันเป็นแบบนี้” ไผ่กล่าว







แล้วทำไมไม่เดินเข้าไปรายงานตัวตามกำหนดนัด ให้เขาจับติดคุกไปเลย?

แม้พวกเขาจะประกาศว่าพร้อมติดคุกแล้ว แต่โต้งอธิบายด้วยว่า การที่พวกเขาไม่ไปรายงานตัวก็เพื่อแสดงออกว่าไม่ยอมรับอำนาจของกฎหมายนี้ (หมายถึง รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 และประกาศหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558) การไม่ไปรายงานตัวคือการทำให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นการทำลายความชอบธรรมของกฎหมายฉบับนี้ลง เหมือนกับว่ามันไม่มีตัวตนอยู่ในประเทศนี้

“ถ้าทำแบบที่คนอื่นทำ คือ เข้าไปยอมรับสารภาพและได้รับโทษรอลงอาญา ก็เท่ากับเราไปยอมรับเงื่อนไขของเขา และกฎหมายก็ศักดิ์สิทธิ์เหมือนเดิม เราก็กลับไปมีชีวิตเหมือนเดิม ผมมีความเชื่อว่าวิธีการนี้จะทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายได้ ถ้าเขาต้องการให้เราไปแต่เราไม่ไป ก็แสดงว่ากฎหมายฉบับนี้จะต้องมีอะไรผิดปกติสักอย่าง อำนาจของมันจะต้องลดน้อยลง” โต้งกล่าว

ขณะที่ไนซ์ ก็อธิบายทำนองเดียวกันว่า การไปรายงานตัวเหมือนกับเป็นการไปยอมรับความผิดในคดี ทั้งที่เราก็แค่ไปชูป้าย ผมก็เรียนกฎหมายมา มักมีคำพูดเสมอว่ากฎหมายคือความยุติธรรม แต่กฎหมายฉบับนี้เป็นความโคตรไม่ยุติธรรมโคตรจำกัดสิทธิ รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 ให้อำนาจกับคนคนเดียว ทั้งที่อำนาจควรเป็นของทุกคน ธรรม เราเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีอยู่จริง ถ้าจะมีความผิดก็ผิดต่อสิ่งที่ถูกเขียนขึ้นมา แต่ไม่ได้ผิดต่อจิตใจหรือสามัญสำนึกของตัวเอง การไม่ไปรายงานตัวก็คือการแสดงออกว่ายังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมรับกฎหมายที่คุณคิดขึ้นมาเองลอยๆ ว่า อะไรเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด

พายุ เสริมถึงกระบวนการคิดของพวกเขาว่า ตอนแรกเราคุยกันว่า ถ้ามีหมายจับเมื่อไรเราจะยอมเดินไปเข้าคุกเลย แต่เรายังมีหลายเรื่องที่ยังไม่ได้สื่อสารให้สังคมรับรู้ได้ เช่น เรื่องประเด็นปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการพัฒนา เรื่องปัญหาทรัพยากร เราเลยออกแบบว่าตอนโดนจับเราอยากให้สังคมรับรู้ด้วยว่าสิ่งที่เราทำอยู่ไม่ใช่เพียงแค่การชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร แต่เราทำงานในประเด็นปัญหาความเท่าเทียม เรื่องความไม่ธรรมในสังคมด้วย ถ้าทำกิจกรรมรูปแบบที่ให้เขามาจับเพื่อสามารถสื่อสารกับสังคมในเรื่องปัญหาต่างๆ ได้ก็คงดีด้วย







ถ้าไม่ยอมรับกฎหมาย ทำไมไม่ต่อสู้หรือขัดขืนการจับกุม?

ไนซ์ อธิบายถึงสาเหตุที่ไม่ต้องการต่อสู้ขัดขืนว่า ถ้าใช้กำลังต่อสู้ขัดขืน สุดท้ายความคิดเราก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปไหน แม้เราจะไม่พอในต่อสิ่งๆ นี้แต่เราก็ไม่ไปละเมิดใคร ไม่ไปทำร้ายใคร ถ้าคุณจะมาจับก็มาจับเลย ถ้าเราโดนขังคุกก็ให้เป็นบทเรียนต่อสังคมไปว่าการออกมาแสดงความคิดเห็นยังถูกจับ ก็ต้องให้มันรู้ไปว่าประเทศนี้คนจะคิดอะไรไม่ได้เลย จะแสดงออกทางความคิดเห็นไม่ได้เลย

ด้าน อาร์ตี้ อธิบายว่า จิตสำนึกมันบอกให้เราลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง จิตสำนึกของเราไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้ เราจะเริ่มจากต่อสู้ด้วยการไม่ยอมรับอำนาจ ไม่ไปรายงานตัว แต่พอเมื่อเดินมาสุดทางที่จะต้องมีโทษแล้ว เราก็ยกระดับขึ้นเป็นอารยะขัดขืน คือ ในเมื่อมาถึงวันที่เขาจะเอาโทษเราแล้วเราก็พร้อมที่จะยอมรับโทษนั้น







คาดหวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไร จากการติดคุก?

เบส เล่าเบื้องต้นว่า ใจหนึ่งผมก็ยังคิดว่าเราอาจจะไม่ต้องติดคุกจริงๆ เพราะอาจจะมีคนออกมาเคลื่อนไหวช่วยเราไม่ให้ต้องติดคุกจริงๆ ก็ได้ เพราะเรามีความเชื่อว่า เราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว เรามีทั้งเพื่อนพี่น้องในกลุ่มดาวดิน และพ่อๆ แม่ๆ ที่เราทำงานด้วย เราเชื่อในขบวนด้วยว่าเขาจะทำได้ แต่ถ้าไม่มีคนออกมาเคลื่อนไหวช่วย เราก็ต้องยอมติดคุกจริงๆ คราวนี้ตัดสินใจกันหนักแน่นแล้วจะไม่เปลี่ยนใจ เพราะกว่าจะตัดสินใจได้ก็ยาก จะต้องไม่เปลี่ยนใจอีก

ขณะที่น้อย เล่าความหวังว่า การติดคุกของเราต้องการให้สังคมตื่นตัว ไม่ได้คาดหวังถึงขนาดเปลี่ยนใจคนที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่หวังไปยังคนที่อาจจะเข้าใจกันอยู่แล้ว ถ้าพวกผมเข้าไปอยู่ในคุกแล้ว หากคนที่ยังอยู่จะเคลื่อนไหวเพื่อให้ปล่อยตัวพวกผมหรือยกเลิกกฎหมายก็จะมีความชอบธรรมมากขึ้นในการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง ซึ่ง ตอนนี้ศาลทหารหรือคุกเราก็ไม่ได้กลัว กลัวแค่ว่าถ้าเราต้องเข้าคุกแล้วการเคลื่อนไหวจะไม่ไปข้างหน้า

สำหรับ ไนซ์ ก็คิดคล้ายๆกันว่า ยังมีความหวังลึกๆ ว่าคนในประเทศจะสำนึกได้ว่าอำนาจของคสช.มันเลวร้าย คำสั่งนี้มันเลวร้าย มาตรา 44 มันเลวร้าย หวังว่าทุกคนจะออกมาช่วยกันต่อต้านเพื่อให้ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ไป จะได้ไม่ต้องมีคนรุ่นหลังหรือลูกหลานที่ต้องถูกจับเพราะออกมาแสดงความคิดเห็นแบบนี้อีก หรือถ้าประเทศไทยผ่านช่วงคสช.ไปแล้วจะได้ไม่ต้องมีกฎหมายแบบนี้เกิดขึ้นอีก เพราะเห็นแล้วว่าประชาชนไม่ยอมรับคำสั่งนี้ ไม่ยอมรับการใช้อำนาจแบบนี้อีกต่อไป

ไผ่ มองต่างจากเพื่อนเล็กน้อยว่า เราไม่รู้หรอกว่าการที่เราเข้าคุกจะนำไปสู่การเรียกร้องอะไรที่สำเร็จบ้าง เราไม่รู้ เราก็เลยต้องลองดู ตอนนี้เรามีแค่ความเชื่อ ผมเบื่อแล้วกับคำว่ารอให้สถานการณ์สุกงอมก่อน ผมคิดว่าเราต้องทำให้สถานการณ์มันสุกงอมด้วยตัวเอง เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราทำจะทำให้สังคมเรียนรู้ว่าการรัฐประหารนั้นไม่ดีได้หรือไม่ หรือทำให้คนอื่นๆ ในสังคมลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไร เราไม่สามารถคาดหวังตรงนั้นได้ แต่เรารู้สึกว่าเราอยากทำในฐานะที่เราเป็นมนุษย์นี่แหละ ที่เรายอมไม่ได้กับสิ่งเหล่านี้







ถ้าเปลี่ยนแปลงไม่สำเร็จ ต้องติดคุกฟรี เสียใจหรือเปล่า?

ไผ่ ไม่ลังเลที่จะอธิบายตัวเองว่า ถ้าสุดท้ายการติดคุกไม่ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงก็ไม่เสียใจ เพราะเราแค่ทำในสิ่งที่ใจเราต้องการ เราเรียนกฎหมายมาเราก็รู้อยู่แล้วว่ากฎหมายนี้มัน “ส้นตีน” ที่สุดแล้วเท่าที่ชีวิตผมเกิดมาเคยเจอ คำว่า "ไม่ยุติธรรม" มันก็เป็นคำใหญ่ไป ใช้คำว่า "ส้นตีน" เนี่ยแหละ

โต้ง มองอย่างใจเย็นว่า ถ้าเราติดคุกแล้วสุดท้ายไม่มีใครมาสนใจ ก็ไม่เป็นไร เราก็ได้ทำถึงที่สุดแล้ว พวกผมก็ยอมแลก เพราะถือว่า “เทหมดหน้าตัก” ไปแล้ว ทั้งเรื่องการเรียนและครอบครัว ถ้าทำถึงจุดนั้นแล้วยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร พวกผมก็พร้อมจะกลับไปเรียนให้จบ แล้วก็ไปทำงานเคลื่อนไหวในบทบาทอื่นต่อไป

ด้าน อาร์ตี้ กล่าวว่า ก็กลัวถ้าต้องเข้าคุกจริงๆ แต่ผมต้องซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของผมเอง ผมไม่สามารถปฏิเสธความเรียกร้องในใจของผมตอนนี้ได้ ถ้าต้องติดคุกแล้วคนไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรกันต่อ ก็คงเสียใจอยู่ แต่ในความเสียใจก็มีสิ่งที่ดีอยู่ คือ อย่างน้อยๆ ก็ได้ สร้างบรรทัดฐานใหม่ในการต่อสู้

สำหรับพายุ ซึ่งยังเรียนอยู่ชั้นที่ปี 2 มองว่า ถ้าไม่มีใครออกมาเรียกร้อง ต้องติดคุกฟรี เราก็คงต้องยอม แต่แม้จะยอมติดคุกยังไงตามจิตสำนึกเราก็เชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ผิด เมื่อออกมาก็ค่อยสู้ใหม่ก็ได้ คุกไม่สามารถทำให้เราลืมออุดมการณ์ความตั้งใจหรือความฝันของเราได้ ถ้าติดคุกก็กลัวว่าอาจจะถูกมหาวิทยาลัยให้ออก ซึ่งก็เผื่อใจในเรื่องนี้ไว้บ้าง หลายคนอาจคิดว่ามันจะไม่คุ้ม แต่สำหรับตัวผมมองว่ามันไม่ใช่เรื่องที่เสียเวลา อย่างน้อยเราก็ได้ทำในสิ่งที่เราตั้งใจไว้

ส่วน ไนซ์ บอกว่า การต้องติดคุกฟรีก็ไม่ได้ตาย สุดท้ายพอเราได้ออกมาเราก็เคลื่อนไหวต่อ การติดคุกไม่ได้ฆ่าการทำกิจกรรมหรือ การเรียกร้องของเราได้ ถ้าสุดท้ายเราติดคุกแล้วสังคมไม่ตื่นตัว ก็เก็บไว้เป็นบทเรียน ถ้าวันนี้ทำแบบนี้ แล้วต่อสู้ไม่สำเร็จก็ต้องยกระดับการต่อสู้ขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ก็หวังว่าคนรุ่นต่อๆ ไปก็จะมีฝันถึงความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่เป็นธรรม ถ้าการติดคุกไม่ช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงพอเราออกมาก็ถอดบทเรียนไปเคลื่อนไหวแบบอื่น







ทิ้งท้ายการสนทนา

“เราจะต้องขจัดความกลัวในจิตใจของเราออกไป เราต้องกล้าพอที่จะยืนยันกับอะไรสักอย่าง เพื่อจะบอกว่ากฎหมายมันไม่ชอบธรรมนะ ไม่ถูกต้องนะ มันละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอย่างไร การอารยะขัดขืนครั้งนี้ก็ยังไม่รู้ว่าคนจะคิดอย่างไร สังคมจะเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน แต่ว่ามันก็ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ตั้งแต่การรัฐประหารปี49 และปี 57 มาจนถึงปัจจุบัน แม้ยังไม่รู้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ก็อยากลองครับ” โต้งกล่าว

“เพราะเรียนกฎหมายด้วย ถึงกล้าคิดกล้าทำอะไรแบบนี้ เพราะเชื่อมากเลยว่าสิ่งที่เราทำมันถูก เขาไม่ควรจะมาจับเราเพราะเรื่องแค่นี้ เขามีเรื่องใหญ่โตต้องไปบริหารประเทศอีกมากมาย ไม่น่าจะมาจับพวกผมเจ็ดคนเพียงเพราะเรื่องชูป้ายแล้วทำให้เป็นเรื่องใหญ่ทั้งประเทศ เขาน่าจะเอาเวลาไปคิดอย่างอื่นมากกว่า” เบสกล่าว

“สิ่งที่เราพยายามสู้มาตลอดคือบอกว่าการต่อสู้เรื่องนี้มันไม่ใช่สิ่งที่ผิด การแสดงความคิดเห็น การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพไม่ใช่เรื่องผิด คุณไม่สามารถบังคับให้ผมคิดได้ ต่อให้คนส่วนใหญ่ในประเทศมองว่าการรัฐประหารนั้นดี แต่ก็มีอย่างน้อยเจ็ดคนที่ไม่ได้คิดอย่างนั้น ถึงเราจะเป็นแค่ติ่งหนึ่งแต่ก็อย่ามาบังคับให้คิด”

“เราไม่ใช่เป็นนักคิด ที่จะอธิบายแก่นแท้ของสันติวิธี หรือแก่นของอารยะขัดขืน ในเมื่อกฎหมายไม่เป็นธรรมเราก็ต้องอยู่ในคุก เราไม่ได้มีหนังสืออ่านเรามีแค่หัวใจ เราเข้าใจแก่นแท้ของหัวใจของกลุ่มคนที่เขาเคยต่อสู้และยอมติดคุกมาก่อน เรามีแค่นั้นจริงๆ ซึ่งมันมีคุณค่ามาก” ไผ่กล่าว







เรื่องที่เกี่ยวข้อง

7 นักศึกษาดาวดิน กับภูมิหลัง ทัศนคติ และ"จุดยืน"ที่ไม่เคยเปลี่ยน
ลำดับเหตุการณ์+ประมวลภาพ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 8 มิ.ย. 58