วันอังคาร, มีนาคม 29, 2559

สังคมดราม่าอาทิตย์นี้ คงไม่มีอะไรเท่าเรื่อง ‘เลิกซื้อ เลิกกิน’ สินค้า ‘แม่ประนอม’ ได้ - 'แบน' เค้าแล้วเคยคิดถึงหัวอกคนงานกันบ้างไหม ใครจะถูกเอาออกก่อน?!?





เรื่องของสังคมดราม่าอาทิตย์นี้ คงไม่มีอะไรเท่าทันกระแส ‘เลิกซื้อ เลิกกิน’ สินค้า ‘แม่ประนอม’ ได้

กรุ่นกันเอาไว้รอฉากสำคัญวันพิพากษากลางเดือนหน้าสองคดี แม่ฟ้องลูก น้องฟ้องพี่ กรณีฮุบกิจการโรงงาน

จากโพสต์ของ Tewarit Bus Maneechai เขียนไว้ (Yesterday) มันน่าคิดอยู่เหมือนกัน

“เวลาแบนสินค้าเพราะปัญหาผู้บริหารนี่ เคยนึกถึงหัวอกคนงานกันบ้างไหมครับ คือถ้ายอดขายตกจริง คนที่กระทบแรกๆ คือคนงานจะถูกเอาออกก่อน

และน้ำพริกยี่ห้อนี้หรือจะสินค้าอะไร แม้ว่าเริ่มต้นเจ้าของจะลงแรงหนัก แต่เมื่อมันโตเจ้าของก็มีการจ้างแรงงานมาทำงาน ดังนั้นแรงงานทั้งจากเจ้าของในช่วงแรกๆ และแรงงานจากคนงานที่ร่วมกันผลิตต่างหากที่มันร่วมกันสร้างมูลค้าให้กับสินค้านั้นๆ

เวลาแบนสินค้านี่ คำถามคือตัวสินค้ามันมีปัญหาอะไร คนงานอีกจำนวนมากเขาผิดอะไร

กลายเป็นว่า 'น้ำพริกแม่ประนอม' มีแต่ตัวแม่ประนอมกับลูกสาวลูกเขย…แล้วลูกจ้างตั้งเยอะแยะไปไหน”

เราไม่คัดง้างปุจฉาดราม่าขนาดนี้ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงนิยาย ‘ไฮเอ็นด์’ เกี่ยวกับการแย่งชิงกิจการโรงงาน ยอดฮิตเมื่อทศวรรษก่อน

สมัยนี้ยุคที่ คสช. คำรามเกือบทุกวันรอการเปลี่ยนผ่าน ก็มีนิยายไฮซ้อมาให้ความบันเทิงแก้ขัดได้เหมือนกัน ทดแทนรายการเดี่ยวไมโครโฟนทุกวันหลังหกโมงของโฆษกยักคิ้วหลิ่วตา

พอดีเป็นเรื่องของโรงงานน้ำพริกเสียด้วย ผลงานของผู้ใช้เฟชบุ๊คนาม Pat Hemasuk เล่าไว้

“ข้างบ้านผมเขาทำน้ำพริกขายครับ ทำมานานตั้งแต่แม่หาบขายที่ตลาด แต่โชคดีที่น้ำพริกติดปากคนในซอยบ้านผมและตลาดนัดใกล้บ้าน ก็เลยทำขายมากขึ้น จากพ่อแม่ลูกนั่งโขลกด้วยครกกันก็กลายเป็นเครื่องปั่นเครื่องบด จากหาบก็พัฒนากลายเป็นรถเข็น ต่อมาก็ไม่พอขายจนต้องไปจ้างคนในซอยบ้านมาช่วยทำงาน จากรถเข็นก็กลายเป็นเช่าแผงในตลาดขายถาวรเสียเลย ส่งลูกทุกคนเรียนได้สูงๆ ตามที่ลูกอยากจะเรียน




พอพ่อแม่แก่ตัวลง ลูกๆ ก็เข้ามาดูแลพวกลูกจ้างโขลกน้ำพริกเอง ลูกคนโตเก่งกว่าสักหน่อยเพราะดูแลงานมาตั้งแต่แม่เริ่มจ้างคนมาช่วย และไม่อยากจะทำน้ำพริกของแม่อย่างเดียว ก็ไปทำธุรกิจปลูกทาวเฮาส์ขายของตัวเองกับสามี แต่ก็ยังดูแลคนงานที่จ้างมาโขลกน้ำพริกขายน้ำพริกแทนแม่ที่ตลาดมาหลายสิบปี ให้ยังมีงานทำน้ำพริกต่อไปไม่ต้องตกงาน

แต่ลูกคนน้องกลับคิดว่าน้ำพริกแม่ติดตลาดแล้ว จะเซ้งแผงของแม่ที่ตลาดพร้อมยี่ห้อน้ำพริกไปน่าจะได้เงินเป็นก้อนดี เพราะเงินที่ได้มาต่อปีก็มากอยู่ เลยไปถามแม่ว่าจะเอาไหม แม่ก็เห็นด้วยว่าได้เงินก้อนก็ดีเพราะแม่ก็ไม่ได้ทำน้ำพริกนานแล้ว อายุแม่ก็ไม่น้อย มีร้านน้ำพริกหรือไม่มีร้านก็เดือดร้อนอะไร

แม่กับน้องก็เลยตกลงกันว่าจะขายแผงในตลาดเอาเงินก้อนมาใช้ดีกว่า

ลูกสาวคนโตก็เลยไม่ยอม บอกกับแม่ว่า พ่อสั่งเสียเอาไว้ว่าให้หนูดูแลเรื่องขายน้ำพริกก่อนตาย เซ็นต์ชื่อโอนแผงให้หนูดูแล ให้เก็บแผงขายน้ำพริกในตลาดให้ถึงรุ่นหลาน เพราะเซ้งแผงไปแล้วคนงานที่จ้างมานานก็ต้องเลิกจ้าง แล้วคนพวกนี้จะเอาอะไรกิน คนงานก็มีลูกเต้าต้องส่งเสียเรียนหนังสือไม่ต่างกับแม่ตอนนั้นเหมือนกัน อย่างน้อยพวกหลานๆ ของแม่ในรุ่นต่อไปถ้าไม่รู้จะทำอะไรก็ยังขายน้ำพริกของยายทำมาหากินในตลาดได้

และอีกอย่างคือคนที่ดูแลแผงขายน้ำพริกกับคนงานตำน้ำพริกคือหนูเองกับพ่อ ขออนุญาตกับทาง อย.ก็หนูเองเป็นคนไปขอกับทางอำเภอตอนทำน้ำพริกกระป๋องขายงานโอท็อปกับพ่อ ไม่ใช่แม่กับน้องที่อยู่เฉยๆ แต่กินเงินกำไรจากแผงลอยในตลาดมาเป็นสิบปีแล้ว

น้องก็ไม่ยอมเพราะอยากได้เงินก้อนเลยบอกแม่ว่าอย่างนี้ไปฟ้องสมภารวัดข้างบ้านเลยดีกว่า เอามันกลางศาลางานบุญวันพระนี่แหละคนเยอะดี น้องเลยดันหลังแม่ไปนั่งร้องไห้ให้สมภารฟัง คราวนี้คนทั้งศาลาเลยด่าลูกคนโตว่ามันช่างชั่วช้าเลวทรามเสียนี่กระไร โกงได้แม้กระทั่งแม่ แต่ลูกคนโตก็เงียบอยู่เพราะถ้าขืนออกมาพูดว่าอะไรเป็นอะไรก็เท่ากับด่าแม่ตัวเองทางอ้อมให้ชาวบ้านฟังว่าตอแหล เลยต้องยอมทนก้มหน้าให้ชาวบ้านด่าต่อไป

คราวนี้พวกลูกจ้างคนงานก็บอกกับลูกคนโตว่า เจ๊สั่งมาเลยว่าจะเอาอย่างไร จะให้พวกหนูลุยไหม

เพราะที่ขายน้ำพริกในตลาดมาหลายสิบปีก็เพราะเจ๊บริหาร ไม่ใช่แม่กับน้องที่กินแต่ส่วนแบ่งอย่างเดียว ถ้าแผงในตลาดโดนเซ้งพวกหนูก็อดตายเหมือนกัน ทำน้ำพริกมาตั้งแต่รุ่นแม่เป็นคนงานจนถึงรุ่นลูก เจ๊ก็จ้างต่อเนื่องดูแลคนงานมาอย่างดี พวกหนูนัดหยุดงานแห่กันไปฟ้องสมภารเล่าความจริงก็ได้นะ เจ๊สั่งคำเดียวเดี๋ยวพวกหนูลุยเอง

เรื่องนี้จะจบอย่างไรโปรดติดตามตอนต่อไป ว่าวันพระหน้าที่ศาลาวัดจะมีดราม่าเหมือนวันพระที่ผ่านมาหรือไม่

Tsu Zu Ku”




(หมายเหตุ ลงท้ายนี่แปลเป็นไทยประมาณว่า ‘สู้ สู้ กู๋’ และภาพปากรอบขมายมาจาก ‘น้ำพริกแม่จรรยา’)