วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 18, 2559

มีคนเปรียบเทียบคดีความอันดังโด่งสองกรณี ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ต้องหา ไว้น่าคิด





มีคนเปรียบเทียบคดีความอันดังโด่งสองกรณี ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ต้องหา ไว้น่าคิด

คดีหนึ่งนั้นอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง (งาม) กำลังจะถูกศาลพิพากษาให้มีความผิดทางอาญาจากการที่ระหว่างดำรงตำแหน่งดำเนินนโยบายอุ้มชูชาวนา โดยการรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาดมาก จนทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนหลายล้านล้าน

อีกคดี อดีตนายกรัฐมนตรีชาย (หล่อ) โดนข้อหาสั่งปราบประชาชนที่ชุมนุมประท้วงด้วยกระสุนจริง จนมีผู้เสียชีวิตนับร้อยราย บาดเจ็บอีกกว่าสองพัน กลับหลุดคดีได้ง่ายๆ เพียงเพราะหน่วยงานที่ทำการสอบสวนและยื่นฟ้องไม่ใช่องค์กรที่ระเบียบกฎหมายกำหนดไว้

ความผิดแผกแตกต่างอยู่ที่ ฝ่ายหญิงถูกถล่มอย่างเอาเป็นเอาตาย ตั้งแต่ตัดสิทธิทางการเมือง ไปถึงเรียกค่าเสียหายระดับล้านล้าน จนถึงขั้นอาจถูกจำคุกเยี่ยงโจรป่าห้าร้อย ทั้งที่มีวินิจฉัยออกมาแล้วว่า ความผิด ที่กล่าวหาไม่ได้ก่อความเสียหายแก่ประเทศชาติ

ส่วนคดีฝ่ายชายศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องด้วยข้ออ้างว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษเจ้าของคดีไม่มีอำนาจหน้าที่ในการฟ้องร้อง (เป็นเรื่องของอัยการ) แม้ว่าฐานความผิดอยู่ที่ ‘ฆ่าคนตาย’ เป็นหมู่ ในลักษณะของโจรป่าห้าร้อยเลยทีเดียว

คดีดังกล่าวที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยร่วมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ฯ ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ที่ศาลอาญาพิพากษาในชั้นต้นว่า

การ “สลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริง ทำให้มีผู้ชุมนุม ประชาชน และเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต เป็นการออกคำสั่งในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘

ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ แต่การปฏิบัติต้องทำไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และไม่เกินกว่าเหตุ”




หนักกว่านั้น ศาลบอกว่าคดีนี้ “เห็นได้ว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ.ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่ ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวน จึงพิพากษายกฟ้อง”

แต่ว่าก็มีผู้พิพากษาในองค์คณะคนหนึ่งเห็นแย้งว่า ที่จริงฟ้องในศาลอาญาได้ เพราะมีญาติผู้ตายเป็นผู้เสียหายที่จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา (ขณะนั้น) ทำความเห็นแย้งไว้ว่า

“เนื่องจากมูลเหตุที่นำมาฟ้องคดีซึ่งเกิดจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา จากเหตุสลายการชุมนุม และพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ดำเนินการสอบสวนมากระทั่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย”

(http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1409226193)

จึงเป็นเรื่อง ‘น่าคิด’ ตรงว่า ประเทศนี้ สังคมนี้ มีแนวคิด จิตสำนึก และการใช้ตรรกะเหตุผลทางกฎหมายเป็นอย่างไรไปแล้วฤๅนี่ กระบวนการตุลาการเอียงกระเท่เล่ไปกับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่ยึดแย่งเอาไปด้วยพลังแห่งอาวุธที่ใช้เข่นฆ่า

มิน่า ชุมชนนานาชาติเขาถึงได้มองสภาพการณ์ในบ้านเมืองไทยอย่างจดจ้อง ว่าชักจะผิดผีผิดไข้กับธรรมเนียมปฏิบัติแห่งอารยะออกไปมากยิ่งๆ ขึ้นทุกเดือนทุกวัน

คดีโครงการรับจำนำข้าวที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ซึ่งมีการนับสืบพยานครั้งที่สองเมื่อวานนี้ (๑๗ ก.พ.) และศาลสั่งไม่ให้คู่กรณีแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศมาแต่ต้น

จนกระทั่งสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นทำการสัมภาษณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ถึงความรู้สึกของเธอต่อการที่ต้องตกเป็นจำเลยเช่นนี้

(http://www.cnn.com/…/thailand-former-pm-shinawatra-speaks-o…)




ทั้งที่ ไซม่า โมห์ซิน ผู้ดำเนินรายการ ‘ซีเอ็นเอ็น’ กล่าวถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคำบรรยายตอนหนึ่งว่า

“เธอให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในช่วงเกือบสองปี เห็นได้ชัดว่ายิ่งลักษณ์พยายามที่จะยกระดับสถานะบทบาทของเธอ ไม่ให้จางหายไปจากประวัติศาสตร์การเมืองในประเทศไทย แต่ความลำบากลำบนของเธอก็ยังไม่สิ้นสุดง่ายๆ”

ซึ่งยิ่งลักษณ์ตอบคำถามเกี่ยวกับคดีจำนำข้าวด้วยท่วงทีซึมเศร้าว่า “ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลก นโยบายนั้นมุ่งช่วยเหลือประชาชน ปัญหาที่เกิดหากมีก็อยู่ในระดับปฏิบัติ แต่กลับให้ดิฉันซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา”

อดีตนายกฯ หญิงยังย้ำท่าทีต่อการที่ถูกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองตามขย้ำซ้ำซาก จนไซม่านำมาถามอีกว่าจะหนีไปอยู่ต่างประเทศเหมือนพี่ชายไหม

เธอตอบว่า “วันนี้ดิฉันเองก็ยืนหยัดต่อสู้ ดิฉันมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องสู้ ทุกสายตาจับจ้องดิฉันอยู่ ดิฉันให้ความมั่นใจได้ว่าไม่เคยมีความคิดที่จะหนี”

การใช้ ‘ความสงบสยบการก้าวร้าว’ ดูท่าจะออกผล หากฝ่ายรุกเหลิงระเริง เมื่อหนึ่งในหัวหอกถล่มเครือข่ายชินวัตรที่ห่มเหลืองเหิมเกริมในอิทธิพลแห่งอำนาจเผด็จการ กำลังมุ่งมั่นโค่นทำลายฝ่ายตรงข้ามของตนในสังฆมณทล จนเป็นการก่อกวนป่วนปั่น ทั้งที่ตนเองก็มีชนักปักหลังอยู่

สองปีที่ผ่านมาในยุค ตสช. นอกเหนือจากปัญหาย่ำยีเสรีภาพ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และกดขี้ผู้เห็นต่าง ที่นานาประเทศตำหนิและวิพากษ์หนักขึ้นๆ แล้ว

ปัญหาใหม่ที่กำลังระอุในความปั่นป่วนและแตกระแหงของแวดวงศาสนาพุทธนั้น ทำให้ประเทศตกต่ำเลวร้ายกว่าครั้งใดๆ

ในขณะที่ปัญหาฝืดเคืองเรื่องปากท้องประชาชนก็กำลังกระหน่ำซ้ำซ้อนยิ่งขึ้น อย่างมองไม่เห็นหนทางปลอดโปร่งได้เลยในอนาคตอันใกล้