วันอังคาร, ธันวาคม 22, 2558

มาดูกรรมวิธี ‘หยุด (ยุติ) ธรรม’ ของไทยใต้ปกครองทหารกันอีกเถอะ




มาดูกรรมวิธี ‘หยุด (ยุติ) ธรรม’ ของไทยใต้ปกครองทหารกันอีกเถอะ

เพราะมันมั่วซั่วจมลึกกับการใช้อำนาจตะบี้ตะบันอย่างขาดการรับผิดชอบ และสุกเอาเผากินหาใดเทียบ

อย่างกรณีสั่งฟ้องพวกนั่งรถไฟไปส่องโกงราชภักดิ์ ๑๑ คน ที่น่าจะคัดแล้วโดยทหาร เอาแต่พวกนักศึกษาอายุยี่สิบกว่าๆ ทั้งนั้น

แต่ดันมีชายวัย ๒๖ ปี (ตามหมายสั่ง) ที่เป็นข้าราชการบำนาญ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “เขาคงพิมพ์อายุผมผิด หนุ่มขึ้นเยอะเลย” คือต่ำกว่าอายุจริง ๔๐ ปี

ก็คงต้องสันนิษฐานว่าพิมพ์ผิด ‘อย่างตั้งใจ’ เสียละมาก

เพราะตอนที่ทหารไปหยุดขบวนรถไฟ ธนบุรี-หลังสวน เมื่อวันที่ ๗ ธันวา ตัดโบกี้กลุ่มส่องโกงออกจากขบวนแล้วขึ้นไปจับกุม นั่นก็มีการคัดสรรเอาผู้สูงอายุและคนชราแยกเอาไปส่งกลับต้นทาง ส่วนที่เหลือ ๓๖ คน ซึ่งมีทั้งนักศึกษา-ประชาชน ถูกนำไปทำการควบคุมตัวในสถานี

ตามคำบอกเล่าของนายวิจิตร หันหาบุญ อดีตข้าราชการกรมชลประทานที่ติดร่างแหหนึ่งในสิบเอ็ดว่า “ผมไม่เคยรู้จักใครมาก่อน นั่งรถไฟจากสถานีบางกอกน้อยไปตอนเช้า ก็นั่งกินข้าวไป ทำความรู้จักกับพวกนักศึกษาเขาไป...

ผมถูกควบคุมตัวโดยที่ไม่ได้ทำอะไรผิดนานกว่า ๑๒ ชม. แค่เพราะว่าผมเข้าร่วมกิจกรรมตรวจสอบทุจริต แล้วจะมาแจ้งข้อหาอะไรกับผมอีก

ผมเป็นแค่มือใหม่ทางการเมือง ผมมาคราวนี้ผมได้ประโยชน์ พวกนักศึกษาเขาเก่งมากๆ กล้าด้วยทั้งผู้หญิงผู้ชาย ผมได้เรียนรู้จากพวกเขา แต่ผมจะไม่เรียนรู้หรือทำตามพวกไดโนเสาร์ล้าหลังหรอก”

“ผมไปทำกิจกรรมดังกล่าวเพราะผมเห็นว่าปัญหาคอรัปชั่นเป็นปัญหาสำคัญ และรัฐบาล (คสช.) เองก็ให้เหตุผลในการเข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลที่แล้วว่าจะมาปราบทุจริตคอรัปชั่น...ผมเดินทางไปดูอุทยานราชภักดิ์ตามนโยบายของทางรัฐบาล”

(https://www.facebook.com/Prachatai/posts/10153299120571699

“ผมไม่ได้ทำผิดอะไร เราจะไปตรวจสอบการโกงเท่านั้นเอง...

การเมืองก็คือชีวิต มันมีผลต่อเราทั้งนั้นแหละ เราอยู่เฉยๆ มันก็กระทบ ก็ต้องร้องบ้าง ไม่ให้เขามาทำอะไรอย่างง่ายดาย...

ฝ่ายรัฐอย่ากลัวมากเกินไป เมื่อเข้ามาตรงนี้แล้ว มันไม่มีทางที่จะสงบ เมื่อเขากดมา ก็ต้องมีแรงต้าน ยังไงเขาก็ต้องโดนต้าน ถ้าไม่โดนต้านจากคนในประเทศ ก็ต้องโดนจากต่างประเทศ”




จากต่างประเทศนั่นโดนแล้ว โดนบ่อยด้วยในระยะหลังๆ นี่ ส่วนใหญ่อยู่ที่เรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะด้วยกฏหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ม.๑๑๒ ที่หมู่นี้สื่อนอกเจาะจงจี้ข้อเสีย เมื่อเกิดมีผู้ต้องหาตายในระหว่างถูกคุมขังสองราย ตายปริศนาก่อนเริ่มคดีอีกหนึ่งราย เกือบตายหนีได้อีกสองราย

หญิงชายผู้ใหญ่เด็กโดนระนาวคดีหนัก ๑๑๒ เพียงเพราะกดไล้ค์กดแชร์เฟชบุ๊คว่าจะมีปฏิวัติซ้อนบ้าง มีผังเส้นทางเงินเตะกลับโครงการราชภักดิ์บ้าง ซ้ำดันมีทหารบ้าบอจับกุมดำเนินคดีผู้ที่แชร์ข้อความเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงบนเฟชบุ๊คเสียอีก

ล่าสุด (but not least) วารสาร The Diplomat ตีพิมพ์บทความของนักวิจัยสมัชชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นายจอสชัว เคอลั้นท์ซิค ว่าถึงการที่มีผู้นิยมเจ้ากว่าคนอื่นนายหนึ่ง ยื่นคำร้องให้ตำรวจสอบสวนทูตสหรัฐประจำไทยคนใหม่ ว่าไปปาฐกถาว่าร้ายองค์พระมหากษัตริย์ด้วยการกล่าวว่า กฎหมายหมิ่นฯ ของไทยลงโทษรุนแรงเกินไป




การที่ตำรวจจำเป็นต้องรับคำฟ้องและเปิดการสอบสวนว่าทูตอเมริกันหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ หรือไม่ เน้นให้เห็นปัญหาอันใหม่ของประเทศไทยในวันนี้ ว่าแม้แต่รัฐบาลของพวกรักเจ้าเหลือล้นที่มีอำนาจเด็ดขาด ก็ไม่สามารถที่จะกำกับควบคุมกฎหมายหมิ่นฯ ให้อยู่ในขอบข่ายเหมาะสมได้

เช่นเดียวกับสื่อต่างประเทศอื่นมากมาย ที่ชี้ให้เห็นว่าอาการผิดผีผิดไข้ในการเมืองไทยเกิดจากความหวั่นไหวในช่วงสำคัญของการผลัดแผ่นดิน

บทความของนายจอสชัวบอกด้วยว่า ความชอบธรรมของรัฐบาลทหารขึ้นอยู่กับพันธะประการหนึ่งที่ไม่ได้ระบุไว้ชัดแจ้ง

นั่นคือดูแลให้การเปลี่ยนรัชกาลเป็นไปอย่างราบรื่นและโดยสงบ หากแต่ความจำเป็นที่ต้องรับฟ้องคดีหมิ่นฯ ทั้งๆ ที่เห็นได้ชัดว่าคำฟ้องไร้สาระและกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติบางอย่าง แสดงว่าการเมืองไทยไร้ขื่อแปจนยากแก่การควบคุมได้แล้ว

(http://thediplomat.com/…/u-s-ambassador-to-thailand-invest…/)

ย้อนกลับมาที่การดำเนินคดีต่อผู้ร่วมกิจกรรมส่องโกงราชภักดิ์ ชัดแจ้งยิ่งขึ้นทุกทีเมื่อคณะทหารที่ยึดกุมอำนาจการปกครองพยายามจะปกปิดและกีดกั้นไม่ให้มลทินมาถึงตัว

ด้วยการปิดปากคนที่เห็นต่างและตั้งข้อหากับผู้ที่ขุดคุ้ย




จนกลายเป็นเรื่องตลกร้าย เมื่อนักศึกษาสองคนในกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาร่วมทีมจ่านิวไปส่องโกงราชภักดิ์กลับไม่ยักถูกเรียกตัวและสั่งฟ้อง เลยเอามาล้อเลียนกันอย่างแสบคันว่า

“รายชื่อออกมาแล้ว พวกห้อยนกหวีดไปกับผมในวันนั้น รอดทุกคนนะครับ กราบบบบ ศักดิ์สิทธิ์จริงไม่เชื่อให้หลบหลู่ครับ” (จากหน้าเฟชบุ๊คของ ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้)

ส่วน ฉัตรมงคล วัลลีย์ หรือ บอส นักศึกษาอีกคนที่ร่วมกับเพื่อนๆ สามคน ยืนเป่านกหวีดสัญญลักษณ์ของการชุมนุมเป่านกหวีดปิดกรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้ว ก่อนขึ้นรถไฟไปราชภักดิ์ กลับไม่โดนตั้งข้อหา เขาว่า “ไม่โดนหมายเรียกสักคน”

(http://prachatai.org/journal/2015/12/63085)

ที่น่าขำและสมเพชกว่าใดๆ ของการใช้อำนาจอย่างขาดสำนึกและด้อยปัญญา เห็นได้จากการสั่งฟ้องคดีจุดเทียนต้านรัฐประหารที่ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗




อัยการทหารส่งฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ ๗/๒๕๕๗ ในความผิดตาม ม. ๘ และ ๑๑ แห่ง พรบ. กฎอัยการศึก ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน ๕ คน โทษจำคุก ๒ ปี ปรับ ๒ หมื่นบาท

แต่คำฟ้องระบุผู้กระทำผิดมีนาย “ไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ กับพวกอีก ๓ รวม ๔ คน” เท่านั้น แสดงว่าทหารลงมือดำเนินคดีทั้งๆ ที่ไม่ครบองค์ความผิดตามตัวบทกฎหมาย ด้วยซ้ำ

(http://prachatai.org/journal/2015/12/63098?ref=tweet)

ความงี่เง่าเต่าตนุของเจ้าหน้าที่รัฐทหารอย่างนี้ ควรแล้วที่นักวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ท่านหนึ่งเสนอให้

“หลังคณะรัฐประหารชุดนี้หมดอำนาจไปแล้ว รัฐบาลพลเรือนจะต้องตั้ง tribunal (อาจเป็นองค์คณะจากนานาชาติก็ได้) ขึ้นมาไต่สวนคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงย้อนหลังทั้งหมด

และเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนรู้เห็นทุกคน ตั้งแต่นายทหาร นายตำรวจ ผู้พิพากษา เนติบริกร และแม้แต่แพทย์ ที่อาจมีส่วนร่วมในการบิดเบือนกฎหมาย หรือปกปิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน”




ปราชญ์ ปัญจคุณาธร บอกด้วยว่า “ต่อให้ในที่สุดแล้วคนเหล่านี้จะต้องติดคุกเพียงไม่กี่เดือน แต่ผมก็อยากเห็นคนเหล่านี้ถูกประวัติศาสตร์ตีตราไว้ว่าเป็นอาชญากร”

นักวิชาการผู้นี้มิเพียงแสดงความเห็นตรงใจ ไม่อ้อมค้อม เขายังตั้งปณิธานแน่วแน่ น่าตามแห่

“ผมไม่หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดในเร็ววัน แต่ผมจะพยายามผลักดันเท่าที่ทำได้ และหวังว่าผมจะได้เห็นมันเกิดขึ้นก่อนผมตาย”