วันอังคาร, กันยายน 08, 2558

เมื่อ นักข่าว ถาม บิ๊กตู่ เงินพันล้านจ่ายไปเพื่อ สปช.-กมธ.ยกร่าง รธน.คุ้มค่าไหม ? แล้วฟัง ท่านผู้นำตอบ (คลิป)






"บิ๊กตู่"ชี้ "พันล้าน"ค่าร่างรธน.แท้งไม่ใช่ค่าโง่ บ่นอุบ เหนื่อยต่ออีกปี

ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2558

วันที่ 8 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลจะเริ่มปฏิรูปประเทศหลังจากวิเคราะห์ปัญหา โดยหลังจากนี้จะแบ่งทำงานเป็น 3 ส่วน คือ การปฏิรูปและการปรองดอง การบริหารราชการแผ่นดิน และการขจัดความขัดแย้ง ซึ่งมอบหมายให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์เข้ามาขับเคลื่อน โดยนำเอาแผนการปฏิรูปของ สปช. ทั้ง 37 วาระมาใช้ประโยชน์ในส่วนที่สามารถทำได้ ซึ่งอาจนำมาตรา 44 เข้ามาใช้เพื่อบูรณาการหรือแก้ไขกฎหมายที่ทำไม่ได้ โดยจะต้องเร่งปฏิรูปในส่วน 1 ปีกว่าๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาให้สำเร็จ

และหากเห็นขัดแย้งก็สามารถเสนอความเห็นเข้ามาได้ ส่วนการปรองดองได้ทำมาแล้วในระดับพื้นที่ จะต้องไม่มีการแบ่งสี ปฏิรูปด้วยใจเชื่อว่าไม่มีใครอยากทะเลาะกันถ้าไม่มีใครปลุกปั่น ขั้นตอนต่อไปของการปรองดองคือการนำปัญหามาดู ไม่ใช่การนิรโทษทั้งหมดก่อนจะปรองดองได้ แต่จะนำเอาสิ่งที่เข้าสู่กระบวนการแล้วมาทำ เช่น การเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุชุมนุมทางการเมือง

นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า โรดแมปต่อจากนี้ ตามสูตร 6-4-6-4 ไม่ได้ดีใจ เพราะงานจะหนักขึ้น เดิมถ้าหากผ่านก็ทำไปสู่การเลือกตั้ง แต่เมื่อไม่ผ่านก็เหนื่อยต่อไป ยืนยันว่าไม่ได้รับผลประโยชน์ และไม่ได้สืบทอดอำนาจ แต่การสืบทอดอำนาจคือการส่งอำนาจความไว้วางใจที่ประชาชนมีไปถึงรัฐบาลหน้า อำนาจของประชาชนอยู่ในรัฐธรรมนูญที่วันข้างหน้าควรมีกลไกหรือคณะอะไรให้เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรม และไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนในอดีตซึ่งประชาชนต้องไปคิดเอาเอง

ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าสปช.สายทหารทำให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านนั้นนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าอย่าคิดเช่นนั้น เพราะ สปช. จำนวน 250 คน มีทหารประมาณ 30 คน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ทหารจะชี้นำ ให้ไม่ผ่านรัฐธรรมนูญเนื่องจากการลงมติเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ตามที่ตนวิเคราะห์ สาเหตุที่ไม่ผ่านอาจเกิดจากคำว่าไม่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ หรืออาจเกิดจากการที่นักการเมืองออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ ว่าถ้าผ่านการลงมติ อาจไม่ผ่านการทำประชามติทำให้เสียงบประมาณในการจัดทำถึง 3,000 ล้านบาท สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาและ สปช.มีความกังวล

ขออย่าเอาเรื่องการเมืองปนกับการปฏิบัติ อย่าเอารัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะพวกโพลที่ตนไม่เคยคาดหวังคะแนนที่เกิดขึ้น ตนถามใครจะทำได้ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งสูง โดยเฉพาะพวกนักการเมืองเก่าๆ ที่เคยอยู่ในความขัดแย้ง ตนจำได้ติดหูว่า อย่าผ่านเลยเพราะเดี๋ยวก็ล้ม พอไม่ผ่านก็มาเล่นตน และ สปช. ตนชินกับการใช้อำนาจมาเยอะแล้ว การสั่งคนก็ต้องสนใจผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย ถามว่าฝ่ายการเมืองสนใจในส่วนนี้บ้างไหม เพราะเขาไม่เคยมีอำนาจ แตะต้องไม่ได้ คนที่เล่นงานตนขอให้ระวังตัวไม่มีใครใจดีเท่าตน

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญที่จะออกมาใหม่ต้องเอาปัญหาทั้งหมดมาดูและประมวลความเห็นจากทุกฝ่าย และต้องสร้างการยอมรับตั้งแต่วันนี้ก่อนที่จะเริ่มร่างฯ และสร้างการยอมรับของทุกฝ่าย ครั้งก่อนสปช.ก็มาจากทุกพวกทุกฝ่าย ไม่ใช่พวกตนทั้งหมด ส่วนคนที่ไม่เข้าร่วมเพราะไม่อยากมาโหวตร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถึงตัวเองจะไม่มาก็มีพวกเขาเองทั้งนั้น และต่อไปก็ต้องถามประชาชนว่าจะยอมให้เอากลไกมาทำให้ประเทศเสียหายอีกต่อไปหรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับหน้าต้องมีความแตกต่าง

แต่วันนี้ การเขียนให้ต่างนักการเมืองกลับไม่ยอมรับ หลายฝ่ายขอให้ตนปฏิรูปประเทศ แต่ท่านก็ต้องเปลี่ยนตัวเองด้วย อย่าเอาคนที่มีความผิดเข้ามาทะเลาะกับตน ท่านให้ตนลงทุนอยู่คนเดียวแต่ท่านไม่ลงทุนบ้าง แล้วรัฐธรรมนูญฉบับหน้าจะร่างได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับท่าน ขอนักการเมืองอย่ามาว่า หากไม่คิดจะปฏิรูปและที่ไม่เข้าใจในเรื่องปฏิรูป เพราะต้องการกลับไปสู่ที่เดิมเหมือนกับเพลง "ที่เก่าเวลาเดิม" และเพลง "หยุดตรงนี้ที่เดิม" ไม่ไปไกลแล้วเธอ ประชาธิปไตย

วันนี้ตนผิดอาจจะเพราะคิดไม่ครบถ้วน แต่ไม่ใช่เพราะใช้อำนาจ ตนรำคาญพวกที่ให้ร้ายทั้งที่ตัวเองเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมาตลอด แต่ไม่ยอมดูที่ผ่านมาว่าทำไมผลประโยชน์ของชาติถึงหายไป ตนไม่ชอบบริหารราชการแผ่นดินอยู่แล้ว แต่เข้ามาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หลายองค์กรประเมินว่าตั้งแต่ตนเข้ามาคะแนนเพิ่มขึ้นหลายระดับ นี่หรือที่เรียกว่า ระบอบเผด็จการ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้ทำงานกันแบบนี้ วันนี้จะต้องใช้เวลาที่เหลือจากนี้ขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติ

ส่วนงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ที่ใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่สูญเปล่า และไม่เสียของเพราะถ้าไม่มี สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าประชาชนและนักการเมืองต้องการความปรองดองหรือไม่ ซึ่งถือว่าเงินที่ใช้ไปก็คุ้มค่า เพราะอย่างน้อยก็ทำให้สังคมรู้ว่าประเทศเรายังเป็นแบบนี้อยู่ ส่วนจะมองว่าที่ผ่านมาเดินไปถึงครึ่งทางหรือไม่นั้นจะเอาอะไรมาวัด เพราะงานที่ทำมีไปถึง 20 ปีข้างหน้า