วันอาทิตย์, เมษายน 19, 2558

มาร่วมกันถกเรื่องกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศนี้กันอีกครั้งในประเด็น"เสรีภาพการปิดกั้น และวัฒนธรรมทางการเมือง" กับอาจารย์คนสวยปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ แถม...วัฒนธรรมในการเลือกคู่ เเละทำไมหนุ่มๆต้องกิน ′ข้าวต้มข้างทาง′ ได้



จิบกาแฟกับอาจารย์คนสวย ′ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์′ เสรีภาพ การปิดกั้น และวัฒนธรรมทางการเมือง

โดย วรรณโชค ไชยสะอาด และจิรวัฒน์ จามะรี
มติชนออนไลน์
วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2558

หน้าหนังสือพิมพ์ เสียงของวิทยุ หน้าจอโทรทัศน์ รวมทั้งคอมพิวเตอร์กลับมาโฟกัสที่ประเด็นการเมืองอีกครั้ง หลังหลีกทางให้เทศกาลเเห่งความสุขอย่าง "สงกรานต์" ไปเต็มๆ เกือบตลอดทั้งสัปดาห์

17 เมษายน รัฐธรรมนูญร่างแรกถูก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญส่งต่อให้ "สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)" พิจารณาเรียบร้อย และ 27 เมษายนนี้ ประชาชนจะได้เห็นร่างแรกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เต็มๆ ซึ่งจะได้รู้กันเสียทีว่าเจตนารมณ์ "พลเมืองเป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาด และสมบูรณ์ หนุนสังคมที่เป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข" นั้นมีพื้นฐานมาจากข้อกฎหมายใด

เพราะเรื่องเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นยังถูกตั้งข้อสงสัยอยู่มาก

มาร่วมกันถกเรื่องกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศนี้กันอีกครั้งโดยในประเด็น"เสรีภาพการปิดกั้น และวัฒนธรรมทางการเมือง" อาจารย์สาวสวย ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำให้เรื่องหนักๆ ดังที่กล่าวมานั้นเข้าใจง่ายขึ้นมาก

คุยกันเพลินจนไม่รู้ว่าวันนั้นกาแฟหมดไปกี่แก้ว

- มีคนพูดว่า "เสรีภาพ" ไม่ใช่วัฒนธรรมของ "คนไทย" เพราะเราชินกับการถูกปิดกั้นมาโดยตลอด?

มันก็พูดเเบบนั้นไม่ได้ซะทีเดียว เพราะว่าวัฒนธรรมมันลื่นไหล ไม่ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับอย่างใดอย่างหนึ่งซะทีเดียว เเล้วเราก็ต้องยอมรับว่า ถ้าเราดูวิวัฒนาการทางการเมืองในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ก็ไม่ได้เริ่มมาจากการมีเสรีภาพก่อนอยู่เเล้ว ส่วนใหญ่การเริ่มต้นของวัฒนธรรมการเมือง เราจะเห็นว่า วัฒนธรรมการเมืองเเบบไพร่ฟ้า (The subject political culture) ในหลายๆ ประเทศ ชนชั้นถูกปกครองก็จะทำตามที่ชนชั้นปกครองกำหนดเอาไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเเค่ในประเทศไทยประเทศเดียว เเต่เกิดขึ้นในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ก่อนที่เงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ จะบีบบังคับให้ตัววัฒนธรรมเหล่านี้มันเปลี่ยนไป

ในประเทศไทยเองก็ไม่ได้หยุดนิ่ง อาจจะเปลี่ยนไปหรือสลับระหว่างการมีเสรีภาพมากหรือมีเสรีภาพน้อยไปในเเต่ละช่วง เเต่เนื่องจากยังไม่ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ยังไม่หยุดนิ่ง จึงเป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างวัฒนธรรมเเบบที่เราฟังชนชั้นผู้นำ กับวัฒนธรรมเเบบที่เราอยากมีส่วนร่วมจริงๆ

เพราะฉะนั้น ไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า วัฒนธรรมเสรีไม่ใช่วัฒนธรรมของสังคมไทย มันกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ยังไปไม่สุด เรื่องพวกนี้ต้องใช้เวลาเเละอาศัยการเคลื่อนที่หรือการสร้างชุดเรื่องเล่าขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่มีอยู่เเล้วในธรรมชาติเเล้วเราควรจะทำมันให้สำเร็จ อย่างวัฒนธรรมการเมืองเเบบไพร่ฟ้า จริงๆ เราก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อรับรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่เราควรทำตาม เเต่ผ่านการบอกเล่าเเละสร้างเรื่องราว ทีนี้เรื่องราวการบอกเล่าวัฒนธรรมเเบบเสรีนิยมมันยังไม่สมบูรณ์

- ปัญหาของฝ่ายก้าวหน้า?

จริงๆ เเล้วเป็นปัญหาของฝ่ายซ้ายทั่วโลกเหมือนกัน มีบทความที่วิเคราะห์ การเคลื่อนไหวในฝ่ายซ้ายเเละขวาของสหรัฐอเมริกา มันก็เกิดปัญหานี้ขึ้นมาเหมือนกัน เพราะในขณะที่ฝ่ายขวารู้จักการเล่นกับวัฒนธรรม โดยฟื้นฟูชุดความคิดเเบบเดิมเข้ามา เพื่อที่จะให้ฝ่ายขวาเลือกพรรครีพับลิกัน เขาก็ประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะว่าไม่ยากในการเล่าเรื่องซ้ำ เเต่ยากในการเล่าเรื่องใหม่ ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นกับฝ่ายซ้ายหรือหัวก้าวหน้า เพราะกลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มที่เปิดรับเอาวัฒนธรรมใหม่ๆ เข้ามาเสมอ ดังนั้นก็เลยไม่มีจุดร่วมเดียวกัน หมายถึงว่าทุกคนไปสนใจเรื่องที่เเตกต่างกัน เเละไม่สามารถสร้างชุดความคิดหรือสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นปึกเเผ่นได้

ถ้าอยากจะเห็นความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านไปสู่วัฒนธรรมเเบบเสรีนิยม เราคงต้องคิดกันว่า เราจะสามารถสร้างชุดการบอกเล่าที่เป็นปึกแผ่นขึ้นมาได้หรือเปล่า สายก้าวหน้าเชื่อว่าการให้ความจริงไปมากที่สุดจะทำให้คนตาสว่างเเละสามารถเชื่อมโยงเองได้ เเต่ในความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น ต้องมีการใส่เรื่องเล่าเข้าไปเพื่อให้คนประมวลผล ซึ่งเป็นจุดอ่อนของสายก้าวหน้าในโลกไม่เฉพาะเเค่ประเทศไทย

- มาตรฐานทางวัฒนธรรม ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าใช้ส่งเสริมประชาธิปไตย?

จะว่าไป วัฒนธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมืออยู่เเล้วไม่ว่าจะส่งเสริมหรือบั่นทอน อย่างประเทศไทย เราก็จะเห็นวาทกรรมต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาซึ่งดูๆ ไปเเล้วก็ไม่ได้ส่งเสริมประชาธิปไตยเท่าไหร่ เช่น วาทกรรมคนไม่เท่ากัน ผู้น้อยต้องฟังผู้ใหญ่ นิ้วมือคนไม่เท่ากัน คนดีคนเลว หรือเเม้เเต่วาทกรรมประชาธิปไตยเเบบไทยๆ เหล่านี้ไม่ได้เอื้อหรือส่งเสริมประชาธิปไตย

ถ้าพูดถึงวาทกรรมหรือวัฒนธรรมที่สนับสนุนประชาธิปไตย ต้องเชื่ออยู่บนพื้นฐานเดียวกันก่อนว่าอย่างน้อย "คนเท่ากัน" คนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน ซึ่งคำว่าสิทธิเสรีภาพจะเปลี่ยนไปตามบริบทของเเต่ละประเทศ ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกัน อย่างเช่นสหรัฐอาจจะเชื่อว่า "ความเท่าเทียมกันคือความเท่าเทียมกันทางโอกาส"

ถ้าเป็นประเทศในเเถบสเเกนดิเนเวียก็จะเชื่อว่า ความเท่าเทียมกันเป็นเรื่องความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ทุกคนควรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเท่าเทียมกัน เเต่เบื้องต้นที่มีร่วมกันคือความเท่าเทียม ถึงเเม้จะถูกตีความหลากหลาย เเต่ของเมืองไทยมีวาทกรรมหลายๆ อย่างที่เชื่อว่าคนมันไม่เท่ากัน ซึ่งตัวนี้มันขัดเเย้งต่อหลักการประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ฉะนั้น ในประเทศไทยจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือบั่นทอน มากกว่าส่งเสริม

- รัฐควบคุมพลเมืองผ่านวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง?

คิดว่ารัฐไม่ได้สร้างวัฒนธรรมขึ้นมาควบคุมเท่าไหร่เเต่เหมือนพยายามจี้จุดเด่นของวัฒนธรรมอย่างอเมริกาอาจจะชัดเจนที่สุดคือมีความพยายามที่จะเน้นเรื่อง อเมริกันดรีม, ความรักชาติ คือเหล่านี้เป็นความเชื่อร่วมกันอยู่เเล้ว ไม่ได้เป็นการพยายามสร้างวาทกรรมใหม่ หรือพยายามใช้เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมคนในความหมายเเบบที่ควบคุมในเเบบของเรา เเต่เขาพยายามที่จะทำให้คนเชื่อว่า ทุกคนสามารถส่งเสริมหรือจรรโลงสังคมที่เป็นอยู่ให้เดินต่อไปได้ อาจจะไม่ใช่ควบคุมเเบบฮาร์ดคอร์ เเต่อาจจะเรียกว่าควบคุมเเบบอ่อนๆ ให้ผู้คนเชื่อว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการทำให้สังคมนั้นเดินต่อไปได้

แต่อย่างในประเทศไทย เราจะเห็นว่าฮาร์ดคอร์นิดๆ เนื่องจากเริ่มมีคนที่ค่อนข้างเเตกเเถว เเละไม่เชื่อในวัฒนธรรมเเบบเดิมๆ ตั้งคำถามเเละท้าทายกับสิ่งเดิมๆ ซึ่งในกรณีที่เริ่มมีคนเเตกเเถว เราจะเห็นว่าผู้ปกครองเองก็เริ่มใช้วัฒนธรรมเเบบเดิมๆ เข้ามาย้ำว่า วัฒนธรรมที่ผ่านมานั้นเป็นความจริง และความถูกต้องของสังคม

- ช่วยยกตัวอย่างหน่อย?

อย่างงาน "ผู้เฒ่าขอขมา" ของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นการท้าทายวัฒนธรรมโบราณที่เบาที่สุดเเล้ว ไม่ได้รุนเเรง เอาจริงๆ งานนี้ก็ไม่ได้เเสดงออกว่าผู้ใหญ่เเละเด็กเท่ากันด้วย เรายังเห็นความเกรงอกเกรงใจ ยังมีตัววัฒนธรรมเดิมอยู่ เเต่เขาก็พยายามจะจี้เพื่อเปิดพื้นที่ในการถกเถียงว่า เมื่อการรดน้ำดำหัวทำเพื่อเเสดงความเคารพเเล้ว ทำไมต้องเป็นเด็กฝ่ายเดียวที่ต้องเคารพหรือขอขมาผู้ใหญ่ เราจะมีความเคารพซึ่งกันเเละกันไม่ได้เลยหรือ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้ออกมาโต้เถียงกัน เพราะสังคมหรือวัฒนธรรมจะเปลี่ยนไปได้ต้องผ่านการโต้เถียงกัน เพื่อที่จะเซตวัฒนธรรมเเบบใหม่ คิดว่าเรื่องนี้เบาสุดเเละเพราะมันไม่ได้หักล้างกับวัฒนธรรมเดิมเท่าไหร่

เพราะไม่มีวัฒนธรรมไหนเกิดขึ้นมาเเล้วสมบูรณ์เเบบเมื่อมีจุดเริ่มต้นจะต้องมีการท้าทายมีการถกเถียงกันในสังคม สุดท้ายเเล้วจะมีการสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาอีกชุดหนึ่งออกมา ซึ่งไม่ใช่ทั้งชุดที่ฝ่ายท้าทายเสนอเเละไม่ใช่ทั้งเเบบดั้งเดิม เเต่จะอยู่ในกลุ่มของความก้าวหน้ามากขึ้น

- การปิดกั้นความคิดเท่ากับไม่เชื่อสติปัญญาประชาชน?

อาจจะมองได้อีกมุมว่า การปิดกั้นความคิดเป็นเพราะเขาเชื่อว่าประชาชนจะคิดได้ และคิดไม่เหมือนกับเขา เราว่ารัฐเองก็ไม่เเน่ใจว่า สิ่งที่ตัวเองคิดอยู่นั้นตรงหรือเหมือนกับที่ประชาชนคิดหรือเปล่า มองว่าลึกๆ เเล้ว รัฐกลัวว่าประชาชนเห็นสิ่งพวกนี้เเล้วประชาชนจะคิดได้ คิดในสิ่งที่เเตกต่างจากสิ่งที่เขาควรให้เป็น ก็เลยเลือกที่จะปิด

คิดว่ารัฐกลัว กลัวว่าหากเปิดเผยไปแล้วประชาชนจะคิดไม่เหมือนต่างหาก เเละกลัวว่ารัฐสั่นคลอน ผู้นำเองคงคิดหลายๆ เเบบ หนึ่งคือเชื่อว่าประชาชนคิดได้ เเละสองคิดว่าถ้าปล่อยให้เป็นเเบบนี้มันจะไม่สามารถควบคุมได้

- ฉะนั้นถ้ารัฐดีก็ไม่ต้องกลัว?

ใช่ ไม่ต้องกลัว ถ้าบริหารงานดี ถ้าพูดในเเง่มุมหนึ่ง คนเราส่วนใหญ่รับอำนาจนิยมได้อยู่เเล้ว ตราบใดที่รัฐบาลอำนาจนิยมทำหน้าที่ได้ดี ทำให้เศรษฐกิจดีเดินได้ ชีวิตความเป็นอยู่ดี เเบบนั้นไม่มีใครเรียกร้องอะไรหรอก อย่างสิงคโปร์ โอเคมันก็มีคนที่ติรัฐบาลเเต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะสิงคโปร์อยู่บนพื้นฐานของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ที่คุณต้องยอมเเลกมากับการเสียเสรีภาพ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เขาก็ขอเลือกชีวิตที่ดี

เเต่ในเมืองไทยตอนนี้อยู่ในรัฐบาลที่เป็นอำนาจนิยมที่ไม่มีเสรีภาพ แต่ก็มีคำถามว่า คุณมีอะไรไปชดเชยกับเสรีภาพของพวกเขา?

- โอกาสที่ไม่ถูกปิดกั้นและพื้นที่ในการถกเถียง จะส่งเสริมหรือนำไปสู่ประชาธิปไตยที่เเท้จริงได้อย่างไร?

การเปิดกรอบ การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ส่งเสียง ในช่วงเเรกนั้นคุณจะปฏิเสธความวุ่นวายไปไม่ได้เเน่นอน อาจจะมีการประท้วง การปะทะกันของเเนวคิดที่ไม่เห็นพ้องต้องกัน เเต่สุดท้ายในระยะเเรกที่คุณสร้างประชาธิปไตยขึ้นมา คุณจะรู้ว่าสิ่งที่คนต้องการคืออะไร เเละเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมประชาธิปไตย ต้องอย่าไปคิดเเทนเขา

พื้นที่ในการถกเถียงนำไปสู่การพัฒนาทุกอย่าง คุณจะได้ไอเดียเข้ามามากมาย เเละจะมีทางเลือกในการผลิตนโยบายมากขึ้น อาจจะเห็นว่าทางไหนคือทางเลือกที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ การถกเถียงยังนำไปสู่ทางออกที่กว้างกว่าเเละทางออกที่มีประสิทธิภาพกว่า รวมทั้งอาจนำไปสู่การกระเถิบของวัฒนธรรมที่ก้าวไปข้างหน้าได้

- ปัญหาคือถกเถียงไม่ได้?

ปัญหาคือว่า เมื่อไหร่ที่เกิดการถกเถียงเเล้ว ฝ่ายที่ถูกสั่นคลอนมักจะเป็นฝ่ายที่ผลิตซ้ำความคิดชุดเดิมมาอย่างต่อเนื่อง และไม่เคยถูกท้าทายมาเป็นเวลายาวนาน นี่คือสิ่งที่ทำให้คนที่กุมความคิดในการสร้างวัฒนธรรมมาเป็นเวลานาน 50-60 ปีที่ผ่านมาไม่อยากให้มีการ "ถกเถียง"

ประเทศเรายังถกเถียงกันน้อยไปเเละเถียงกันบนพื้นฐานของตรรกกะน้อยไป เอาอารมณ์มาเถียง เเละเอาเรื่องที่ถูกผลิตซ้ำมา 50-60 ปี เช่น "รักชาติ" มาเถียง ซึ่งเป็นการถกเถียงที่ไม่เเฟร์

- วิธีพัฒนาประชาธิปไตยของกลุ่มเสรีนิยมในปัจจุบัน?

คิดว่าจุดร่วมที่เคลื่อนไปอย่างมีพลังยังน้อยเปิดเเนวรบคนละด้านโดยที่ยังไม่มีการประสานงานกันสร้างชุดความคิดที่ไม่เชื่อมโยงกันก็เลยไม่มีพลัง ในฝ่ายเสรี ถือว่ายังมีการวางโครงสร้างที่อ่อน เเต่อย่างที่บอกว่า ในการสร้างเรื่องใหม่ๆ นั้นยากกว่าการย้ำในเรื่องเดิมๆ

มองว่ายังขาดการจัดการที่ดี หรือมีโครงสร้างที่ชัดเจน หมายถึงว่า คนฮึกเหิมขึ้นมาเเต่ไม่ได้ต่อยอดไปอย่างมีพลัง ซึ่งอาจจะเข้าใจได้ว่ามีสถานการณ์ของสังคมที่บีบอยู่ ทำให้ไม่มีพื้นที่อย่างเต็มที่ เเต่ถ้าเทียบกับขบวนการนักศึกษาสมัยก่อนก็ต้องถือว่าอ่อนมาก มันไม่มีการผลิตชุดความคิดที่ดี

- รัฐประหารฝังอยู่ในวัฒนธรรมว่านี่คือการเเก้ปัญหาทางการเมือง?

คือมันก็... (ทำหน้าครุ่นคิด) จะเรียกว่าการแก้ไขปัญหาแบบรัฐประหารนั้นถูกเคลือบแฝงไปพร้อมๆ กับวัฒนธรรมก็ได้ เเต่ตามความหมาย "วัฒนธรรม" มันต้องเป็นสิ่งที่เจริญขึ้นใช่ไหม เราไม่อยากเรียกมันว่าเป็นวัฒนธรรม เเต่อยากเรียกว่าสิ่งที่ปฏิบัติติดต่อกันมาจนเคยชิน

เราไม่รู้ว่าทหารจะคิดวิธีปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองได้ดีขึ้นกว่านี้หรือเปล่า รู้สึกว่าเขาไม่ถูกปลูกฝังว่ามีทางอื่นในการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองที่ดีกว่าการทำรัฐประหาร

ก็เลยไม่สามารถหยุดวงจรนี้ได้

....

วัฒนธรรมในการเลือกคู่ เเละทำไมหนุ่มๆต้องกิน ′ข้าวต้มข้างทาง′ ได้

เห็นหน้าเธอแล้วทนคุยแต่เรื่องซีเรียสไม่ได้

และเอ่อ... ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ ในวัย 26 ปี

อยู่ในสถานะโสด


หลายคนจะนึกถึงลุคของเธอในความเป็นด้านรัฐศาสตร์ ที่ต้องเฮี้ยบ เฉียบ และดุดันตามสไตล์อาจารย์ทั่วไปจนกลายเป็นภาพจำไปแล้ว แต่วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเธอให้มากขึ้น

โดยเปิดมุมมองส่วนตัวที่มีต่อ "วัฒนธรรมการเลือกคู่ของสาวไทย" ว่าเป็นเช่นไร จะละม้ายหรือคล้ายคลึงกับนานาประเทศหรือไม่

ที่สำคัญที่สุด สาวสวยท่านนี้จะมาเผยสเปกชายในฝันของเธอด้วยเช่นกัน

เริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า "วัฒนธรรมกับการเลือกคู่ของสาวไทย?"

อาจารย์สาวยิ้ม ก่อนจะบอกว่า โดยส่วนใหญ่วัฒนธรรมการเลือกคู่ของผู้หญิงจะเลือกคู่ครองเพื่อเลื่อนฐานะของตัวเองให้ดีขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือเลือกคนที่รวยกว่า เพราะเท่าที่มีการพูดคุยกันในกลุ่มก๊วนหลายคนบอกว่า จะเอาไปทำไมนักวิชาการจนๆ จะคบหาดูใจกันทั้งทีเลือกนักธุรกิจรวยๆ ไปเลยดีกว่า

"หมายความว่าการเลือกคู่ครองของผู้หญิงจะเลือกคนที่พาตัวเองไปลำบากเพื่ออะไร ทำไมไม่เลือกคนที่มีฐานะแล้วช่วยดันให้ตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น"

อ.ปองขวัญหยิบยกตัวอย่างบทความหนึ่งที่พูดถึงการเลือกคู่ในสังคมอเมริกาจากปากคำของสาวๆ

"การวิจัยที่อเมริกาการพูดถึงการเลือกคู่ได้อย่างน่าสนใจ ว่าผู้หญิงผิวขาวในอเมริกามีสัดส่วนในการแต่งงานเพื่อยกระดับฐานะของตัวเองมากที่สุด รองลงมาก็คือการเลือกแต่งงานกับคนที่มีฐานะระดับเดียวกัน และอันดับสุดท้ายก็คือการแต่งงานกับคนที่มีฐานะต่ำกว่า

"สำหรับผู้หญิงผิวสีในอเมริกา การเลือกคู่แต่งงานเพื่ออัพสถานะมีอัตราที่น้อยกว่าผู้หญิงผิวขาว ส่วนใหญ่ต้องการเพียงคงสถานะของตัวเองไว้เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าผู้หญิงผิวสีนั้นมีภาษีในการเลือกคู่น้อยกว่า

"วัฒนธรรมการเลือกคู่แบบนี้น่าจะเป็นเหมือนกันทั่วโลกนั่นก็แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ยังมองว่าตัวเองอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าจึงจำเป็นต้องมองหาคู่ใจที่มีระดับนิดนึง"อ.ปองขวัญขยายความ

และอีกหนึ่งคำถามที่ทำให้หนุ่มๆ หูผึ่ง คือ "สเปกของอาจารย์สาวคณะรัฐศาสตร์ คนนี้?"

"สำหรับตัวเองไม่ได้ตั้งสเปกอะไรสูงมาก ขอแค่คุยกันรู้เรื่องก็โอเคแล้ว แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็ช่วยตัดตัวเลือกผู้ชายออกไปได้เยอะ ยิ่งในยุคสมัยนี้ทุกคนต่างพูดถึงแนวคิดทางการเมือง หากแนวคิดนั้นไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันตั้งแต่ต้นก็จะทนทะเลาะกันไปทำไม"

อาจารย์สาวบอกต่อว่าถ้าจะบอกว่าคบกันแล้วคุยกันเรื่องอื่นก็ได้ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยเพราะต้องยอมรับว่าเรื่องการเมืองเป็นสิ่งที่คนเราหมกมุ่นไปแล้ว ถ้าจะเป็นเพื่อนกันนั้น อาจจะอีกเรื่องหนึ่งหลีกเรื่องนี้ก็ได้ แต่ถ้าคบกันแล้วจะไม่พูดถึงเรื่องนี้เลย..เห็นทีจะไม่ได้

"แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเห็นด้วยในรายละเอียดในเรื่องการเมืองที่พูดคุยกันก็คือเห็นต่างได้แต่สามารถคุยกันรู้เรื่องซึ่งอาจจะเป็นการนำไปสู่การพูดคุยในส่วนอื่นๆก็ได้" ปองขวัญกล่าว

เรื่องหน้าตานั้น อ.ปองขวัญบอกว่า ก็ต้องพอดูได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญไม่ชอบคนที่ดูซีเรียส

"ไม่อยากคบคนที่ดูเครียด คือว่าซีเรียสได้ แต่ไม่ต้องตลอดเวลา ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือไม่ชอบคนติดหรู ยิ่งใครที่กินข้าวต้มข้างทางได้จะดีมากเลย"

เธอไม่มีสเปกตายตัว เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการสอนหนังสือ ทำงานวิจัย และมีบ้างที่ออกกำลังกาย ด้วยการเสียเหงื่อให้กับการเล่นกีฬาอย่างแบดมินตัน ส่วนเรื่องสังสรรค์นั้นมีเรื่อยๆ ตามสมควร

นี่คืออีกมุมหนึ่งของ อ.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ ที่ต้องขอบอกว่า "สวย เฉียบ" เลยทีเดียว

ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 เมษายน 2558