วันพฤหัสบดี, มีนาคม 26, 2558

อ่านอีกครั้ง...จดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง เตือนภัยรัฐบาลเผด็จการ... ระบอบรัฐธรรมนูญที่ปกครองกันโดยกฎหมายย่อมดีกว่าที่จะให้การปกครองเป็นไปตามอำเภอใจของคนเพียงไม่กี่คน




จดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง เตือนภัยรัฐบาลเผด็จการ

ที่มา โลกวันนี้
On March 23, 2015

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ได้จัดกิจกรรมรำลึก 99 ปี ศ.ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่โถงทางเข้าหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีนักศึกษาประชาชนมาร่วมงานอย่างคับคั่ง ในงานนี้นอกจากมีการอภิปรายและเปิดตัวหนังสือ ยังมีการเปิดนิทรรศการ “คนชื่อป๋วย” ที่เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทของป๋วย อึ้งภากรณ์

ป๋วย อึ้งภากรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2458 (ปฏิทินเก่า) ที่ตลาดน้อย พระนคร ในครอบครัวชาวจีนสยาม ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก แผนกภาษาฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษาเมื่ออายุได้ 18 ปี ได้เป็นมาสเตอร์หรือครูที่โรงเรียนอัสสัมชัญ

ต่อมา พ.ศ. 2477 ป๋วยได้สมัครเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นนักศึกษารุ่นแรก สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีธรรมศาสตรบัณฑิต และเมื่อ พ.ศ. 2480 ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลังที่มหาวิทยาลัยลอนดอน แต่ระหว่างนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และญี่ปุ่นบุกประเทศไทย ทำให้ป๋วยตัดสินใจยุติการเรียน และทำงานเพื่อชาติโดยเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ เป็น 1 ใน 36 เสรีไทยสายอังกฤษที่สมัครเข้ากองทัพอังกฤษ ได้รับยศเป็นร้อยเอกแห่งกองทัพบกอังกฤษ โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า “นายเข้ม เย็นยิ่ง”

พ.ศ. 2486 นายเข้มได้ถูกส่งตัวมาที่บริติชอินเดียเพื่อฝึกการรบในสนามและการจารกรรม จากนั้นได้รับคำสั่งให้ลอบเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยเพื่อประสานงานกับกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นใต้ดินในประเทศ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2487 นายเข้มและเสรีไทยอีก 2 คน ลักลอบโดดร่มลงมาที่จังหวัดชัยนาท ถูกชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมส่งเข้ามายังพระนคร แต่ได้รับการประสานงานกับฝ่ายขบวนการใต้ดินและมีโอกาสเข้าพบกับ “รูธ” (ปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าขบวนการ ช่วยติดต่อประสานงานกันได้

หลังสงครามยุติ ป๋วยกลับไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอก โดยทำวิทยานิพนธ์ “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการควบคุมดีบุก” และกลับมารับราชการในกระทรวงการคลังเมื่อ พ.ศ. 2492 ต่อมาสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งให้ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งเป็นกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ

พ.ศ. 2507 ป๋วยได้รับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลายเป็นคนสำคัญในการสร้างนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีบทบาทต่อมา พ.ศ. 2510 ได้เข้าร่วมในการก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ถือเป็นโครงการพัฒนาชนบทแห่งแรกของภาคเอกชน

ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันนำมาสู่การเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคสหประชาไทยลงแข่งขันในการเลือกตั้ง และได้คะแนนเสียงมากที่สุด จอมพลถนอมจึงตั้งรัฐบาลบริหารประเทศต่อมาในระบอบรัฐสภา จนถึงเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอมที่คุ้นเคยกับการใช้อำนาจสมบูรณ์และไม่มีความอดทนในระบอบรัฐสภาก็ก่อการรัฐประหารล้มเลิกประชาธิปไตย ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มรัฐสภา และกลับมาปกครองประเทศแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จโดยใช้อำนาจของคณะปฏิวัติ ไม่มีการประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราวและคณะรัฐมนตรี แต่ตั้งสภาคณะปฏิวัติบริหารประเทศไทย ทำให้กลับคืนมาสู่ยุคมืดอีกครั้ง

ระหว่างรัฐประหาร ป๋วยได้ลาไปสอนพิเศษและทำวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ปรากฏว่าในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2515 วารสารเศรษฐศาสตร์สารฉบับชาวบ้านได้ตีพิมพ์เอกสารฉบับหนึ่งใช้ชื่อว่า “จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียน นายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ” ซึ่งก็คือจดหมายที่เขียนโดยป๋วย อึ้งภากรณ์ ถึงจอมพลถนอม กิตติขจร แสดงการคัดค้านระบอบเผด็จการทหาร จดหมายฉบับนี้ได้ถูกนำมาถ่ายทอดสู่หนังสือพิมพ์ทั่วไป จึงก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

จดหมายฉบับนี้นายเข้มได้เสนอว่า ระบอบรัฐธรรมนูญที่ปกครองกันโดยกฎหมายย่อมดีกว่าที่จะให้การปกครองเป็นไปตามอำเภอใจของคนเพียงไม่กี่คน และถ้ามีการเลือกตั้งก็จะเกิดประชาธรรม คือธรรมะที่มาจากประชาชน ดังนั้น การทำรัฐประหารแล้วล้มเลิกรัฐธรรมนูญ ล้มเลิกการเลือกตั้ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เหตุผลที่อ้างว่าต้องยึดอำนาจเพราะสถานการณ์รอบบ้านไม่เป็นที่น่าไว้วางใจก็ไม่สมด้วยเหตุผล ภัยจากภายนอก ปัญหาสังคม และปัญหาเศรษฐกิจ สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องล้มระบอบประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐประหารจะเป็นไปโดยราบรื่นและได้รับการสนับสนุนจากคนจำนวนมาก แต่ก็เป็นเพราะฝ่ายคณะรัฐประหารใช้อำนาจปืนควบคุมไว้

ดังนั้น การจะดำเนินการให้ประเทศก้าวหน้ารุ่งเรืองต่อไป จอมพลถนอมควรเร่งร่างรัฐธรรมนูญ รื้อฟื้นระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้งโดยเร็ว ข้อความในจดหมายตอนหนึ่งว่า “ได้โปรดเร่งรัดให้มีกติกาหมู่บ้านเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดในกลางปี 2515 นี้ หรืออย่างช้าก็อย่าให้ข้ามปีไป โปรดอำนวยให้ชาวบ้านไทยเจริญมีสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธรรม สามารถเลือกตั้งสมัชชาขึ้นโดยเร็ว”

ขณะที่ข้อเรียกร้องตามจดหมายฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนและขานรับอย่างดีจากพลังนักศึกษาและพลังประชาธิปไตยในสังคมไทย แต่เมื่อพิจารณาจากสื่อมวลชนร่วมสมัยหลายฉบับ กระแสกลับเป็นไปในทางตรงข้าม บ้างก็โจมตีว่านายป๋วยอยากดัง ฉวยโอกาสสร้างภาพเป็นนักประชาธิปไตย เพราะข้าราชการระดับนายป๋วยถ้าอยากเสนอความเห็นต่อจอมพลถนอมก็สามารถติดต่อโดยตรงได้ ไม่ต้องแสร้งทำเป็นเขียนจดหมายผ่านหนังสือพิมพ์ บ้างก็อธิบายว่านายป๋วยควรให้โอกาสคณะปฏิวัติทำงานแก้ปัญหาบ้านเมือง ไม่ควรเอา “เท้าราน้ำ” บ้างก็ว่านายป๋วยไม่ควรเห็นดีงามกับรัฐสภาที่ปล่อยให้พวก ส.ส.ปากโวมาว่าคนโน้นคนนี้ ระบอบปฏิวัติที่เป็นอยู่ก็ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยดี และมีบ้างที่เรียกร้องคณะปฏิวัติควรจัดการปลดตำแหน่งนายป๋วยเสีย ไม่ควรทิ้งไว้เป็น “หอกข้างแคร่”

จนถึงวันนี้เมื่อเวลาผ่านไป 43 ปี การดำเนินการของป๋วยที่เขียนจดหมายคัดค้านคณะรัฐประหารได้รับการยอมรับว่าเป็นวีรกรรม สิ่งที่นายเข้ม เย็นยิ่ง เสนอ ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และจดหมายฉบับนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระแสที่นำมาสู่การปฏิวัติใหญ่ของนักศึกษาเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในทางตรงข้ามรัฐประหาร พ.ศ. 2514 ได้รับการประเมินว่าเป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญของจอมพลถนอม และทำให้นายทำนุ เกียรติก้อง หรือจอมพลถนอม มีชื่อเสียงอันตกต่ำอับแสงมาจนถึงขณะนี้

อยากจะตั้งคำถามว่า อีก 43 ปีข้างหน้า ประวัติศาสตร์จะประเมินการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 และบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ อย่างไร ถ้ารู้ตัวกันว่าทำความผิดพลาดก็ควรที่จะเร่งแก้ความผิดพลาดเสีย ดีกว่าจะถลำลึกและชื่อเสียงเหม็นไปในอนาคตข้างหน้า

ooo



จดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ

โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ที่มา
http://www.puey.in.th/index.php/บทความ-ป๋วย-อึ๊งภากรณ์/10-จดหมายจากนายเข้ม-เย็นยิ่ง-ถึงนายทำนุ-เกียรติก้อง-ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ

ท้าวความ

อดีต “เสรีไทย” ผู้ว่าการธนาคารชาติ 12 ปีกว่า คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีบทบาทสำคัญส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 ที่คนไทยกำลังจะลืม และ บางคนก็เกิดไม่ทันรับรู้ความจริง

ดร.ป๋วย คนไทยกล้าหาญคนแรกที่เรียกร้อง “รัฐ ธรรมนูญ” จากเผด็จการ ถนอม –ประภาสและณรงค์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2515 ก่อนวันที่ประชาชนลุกฮือขับไล่สามเผด็จการออกจากประเทศไทย

ประมาณหนึ่งปีกับอีกแปดเดือน

ในระหว่าง 1 ตุลาคม 2513 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2514 ดร.ป๋วย ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยปรินสตัน รัฐนิวเจอร์ซี่ สหรัฐ อเมริกา ไปบรรยาย เรื่อง “การพัฒนาประเทศ” ดร.ป๋วยถือโอกาส ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาสมัยใหม่

ต่อ จากนั้น ดร.ป๋วย เดินทางไปประเทศอังกฤษเป็น VISITING PROFESSOR ที่มหาวิทยาลัยเคม บริดจ์

ดร.ป๋วย เล่าว่า “เมื่ออาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ออกจากประเทศจีนมาอยู่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2513 ผมได้กำหนดไว้ก่อนแล้วว่า จะไปพักตากอากาศในประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้โดยไม่ได้ทราบล่วงหน้าว่าอาจารย์ปรีดีจะออกมา เมื่อท่านออกมาแล้วก็ได้คิดว่า สมควรจะไปเยี่ยมท่านเป็นการคารวะส่วนตัว ในฐานะศิษย์อาจารย์และในฐานะที่เป็นเสรีไทยใต้บังคับบัญชาของท่าน ผมจึงได้เข้าพบจอมพลถนอมก่อนออกเดินทาง เพื่อเรียนท่านว่าผมจะไปเยี่ยมอาจารย์ปรีดี จอมพลถนอมก็แสดงความยินดี และยังได้ฝากให้ผม นำความไปเรียน อาจารย์ปรีดีด้วย ผมก็รับเป็นสื่อให้และยังได้นำความจากอาจารย์ปรีดีมาเรียนจอมพลถนอมด้วย...”

อริของดร.ป๋วย โจมตีว่า ดร.ป๋วยเป็นสมุนรับใช้ของอาจารย์ปรีดี ผู้รับแผนเข้ามาก่อกวนความสงบในเมืองไทย ครั้นเมื่อจอมพล ถนอม และพรรคพวก ทำการรัฐประหารตัวเองในเดือนมิถุนายน 2514 ดร.ป๋วยได้เขียนจดหมายในนาม “นายเข้ม เย็นยิ่ง” ซึ่งเป็นชื่อรหัสเมื่อครั้งเป็น “เสรีไทย” สงคราม โลกครั้งที่สองไปท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร

“ผมเขียนด้วยความหวังดีต่อท่าน และได้จ่าหน้าซองมีหนังสือนำถึงท่านโดยตรงแจ้งให้ทราบแน่ชัดว่า จดหมายนี้มา จากผม ต่อเมื่อท่านไม่มี ปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างใดผมจึงนำเอาจดหมายนี้ออกตีพิมพ์เป็นจดหมายเปิดผนึก” ดร.ป๋วย เผยความในใจเกี่ยวกับ จดหมายฉบับนี้

+++++++++++++++++++++++++++++++

จอมพลถนอม กิตติขจร

จดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ

เรียน พี่ทำนุ ที่รักใคร่นับถือเป็นส่วนตัว

สักสองปีเศษก่อนที่ผมจะ ได้จากหมู่บ้านไทยเจริญที่รักของเรามาอยู่ห่างไกล พี่ทำนุในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ได้จัดการสองอย่างที่ผมและใครๆ เห็นว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับหมู่บ้านเรา โดยเฉพาะสำหรับอนาคตของชาวไทยเจริญ คือได้จัดให้มีกติกาหมู่บ้านเป็นข้อบังคับสูงสุด แสดงว่าต่อไปนี้ชาวบ้านไทยเจริญ จะสามารถยึดกติกาหมู่บ้าน เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ซึ่งดีกว่า และทำให้เจริญกว่าที่จะปกครองกันตาม อำเภอใจของคนไม่กี่คน กับเปิดช่องให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองหมู่บ้านได้ โดยสันติวิธี นั่นอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งพี่ทำนุ ได้อำนวยให้ชาวบ้านเลือกกันขึ้นมาเป็นปากเสียงแทนกัน ผู้ได้รับเลือกกันก็รวมกันเป็นสมัชชาหมู่บ้าน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาระเบียบข้อบังคับต่างๆ สำหรับหมู่บ้านของเรา โดยถือหลักประชาธรรม คือธรรมเป็นอำนาจ-ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม-และธรรมเกิดจากประชาชน รวมความว่าอำนาจสูงสุด มาจากธรรมของประชาชน ในหมู่บ้านไทยเจริญทั้งหมู่

เมื่อกติกาหมู่บ้านถือ กำเนิดมาแล้วก็ดี และเมื่อได้มีสมัชชาหมู่บ้านขึ้นแล้วก็ดี ผมเองก็ไม่แน่ใจนัก ว่ากติกาทุกข้อถูกใจผม และไม่แน่ใจว่าสมาชิกของสมัชชาทุกคนเป็นคนดี แต่ผมก็ยังนิยมยินดีในท่านผู้ใหญ่บ้านทำนุ เกียรติก้อง ที่ได้อุตสาหะสร้างสรรค์ให้มีกติกา ดีกว่าไม่มี และให้มีสมัชชา ดีกว่าไม่มี

บัดนี้ อนิจจา ผมจากหมู่บ้านไทยเจริญมาอยู่ไกลไม่ได้นาน ได้ทราบข่าวว่าพี่ทำนุเปลี่ยนใจโดยกะทันหัน ร่วมกับคณะของพี่ทำนุบางคน ประกาศเลิกล้มกติกาหมู่บ้าน และเลิกสมัชชาเสียโดยสิ้นเชิง หวนกลับไปใช้วิธีปกครองหมู่บ้านตามอำเภอใจ ของผู้ใหญ่บ้านกับคณะ ซึ่งในกรณีนี้ก็ยังคงเป็นพี่ทำนุ กับรองผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชุดเดิมนั่นเอง เพียงแต่มีน้อยคนลง

เหตุผลต่างๆ ที่พี่ทำนุกับคณะแถลงให้ทราบว่า เป็นอนุสนธิแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ผมได้พิจารณาใคร่ครวญ และทบทวนโดยละเอียดแล้ว กับได้ใช้เวลาพิจารณาด้วยว่า เมื่อได้เลิกกติกาหมู่บ้านแล้ว ข้อต่างๆที่ร้ายอยู่นั้น จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้กลับกลายเป็นดีไปได้หรือไม่ ก็ยังไม่เห็นมีท่าทีว่าจะบันดาลให้กลับกลายไปอย่าง ที่อ้าง บางเรื่องกลับร้ายมากขึ้นด้วยซ้ำ เช่น เรื่องความไม่สงบตามชายหมู่บ้านของเรา เป็นต้น ผมสังเกตเรื่องจากที่ห่างไกลแล้วก็ยังไม่พอ ยังไม่แน่ใจ เมื่อมีโอกาสผมก็มาแวะ ที่บ้าไทยเจริญสองครั้งเพื่อดูด้วยตา และฟังด้วยหู ผลลัพธ์ยังยืนยันตามความ เห็นเดิมนั่นเอง เพราะปัญหาความสงบเรียบร้อยก็ดี ภัยจากภายนอกหมู่บ้านก็ปัญหาเศรษฐกิจก็ดี ปัญหาสังคมก็ดี ปัญหาเยาวชนก็ดี ปัญหาเหล่านี้น่าจะแก้ไข ได้ทั้งสิ้นถ้าได้ทำกันจริงจัง โดยไม่ต้องเลิกกติกาหมู่บ้าน ถ้าจำเป็นจริงๆ จะยุบสมัชชาเสียให้เลือกกันมาใหม่ก็ทำได้ ข้อสำคัญที่สุดก็คือการจำกัดสิทธิของมนุษย์ การห้ามชาวบ้านไทยเจริญมิให้ใช้สมองคิด ปากพูด มือเขียนโดยเสรี และมิให้ประชุมปรึกษาเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับการ ปกครองหมู่บ้านที่รักของเราทุกคนโดยเสรีนั้น กลับเป็นการตัดหนทางมิให้หมู่บ้านไทยเจริญ ได้รับประโยชน์จากสมองอันประเสริฐของชาวบ้าน ทั้งในฐานปัจเจกชน และในฐานส่วนรวมด้วย

พี่ทำนุอาจจะแย้งผมได้ ว่า เท่าที่มีการเปลี่ยนแปลงมา ก็เห็นแต่เจ้าหน้าที่หมู่บ้าน และประชาชนชาวบ้านอนุโมทนาสาธุกันโดยทั่วไป จะมีเสียงคัดค้านบ้างก็เพียงคนโง่ๆไม่กี่คน ผมขอเรียนด้วยความเคารพว่า เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านนั้น เขาได้ประโยชน์จากการเลิกสมัชชา ไม่ต้องยุ่งหัวใจกับสมาชิกสมัชชา พูดกันง่ายๆคือ ไม่มีใครขัดคอ ส่วนชาวบ้านนั้น พี่ทำนุก็ทราบดีว่า ชาวบ้านไทยเจริญส่วนใหญ่ ถือคาถารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ผมขอยืนยันว่า ผมเองก็เคยเป็นหัวหน้างานมาแล้ว จะทำถูกทำผิดหาคนแย้งหาคนโต้เถียงได้ยาก เพราะเขารู้จักรักษาตัวรอดเป็นยอดดีทั้งนั้น ส่วนที่ว่ามีเสียงคัดค้านแต่เพียงน้อยนั้นก็จริง แต่จริงเพราะเหตุว่ายามพกอาวุธของพี่ทำนุและคณะคอย ปรามอยู่ตั้งแต่ต้นมือแล้ว โดยใช้ความเกรงกลัวเป็นเครื่องบันดาลให้มีเสียงคัด ค้านอ่อนลงๆ ถ้าอยากทราบชัดว่าชาวบ้านมีความจริงใจอย่างไร ก็ลองเลิกวิธีขู่เข็ญทำให้หวาดกลัวเสียเป็นไร

อย่างไรก็ตาม ที่ผมบันทึกมา ก็หาได้ที่ประสงค์จะกล่าวแย้งพี่ทำนุเป็นสำคัญไม่ ผมใคร่จะเรียนเสนอข้อที่พี่ทำนุกับผมเห็นพ้องต้องกันเป็นจุดเริ่มต้น นั่นคือ เราจะพัฒนาบ้านไทยให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป

การพัฒนานั้นต้องพิจารณา ให้สมบูรณ์ทุกด้าน จึงจะเกิดประโยชน์จริงจัง ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านความสงบเรียบร้อย ด้านศีลธรรม ด้านปัญญาและการศึกษาและด้านการปกครองเป็นอาทิ

ในด้านการปกครอง ตั้งแต่ผมรู้จักพี่ทำนุจนรักใคร่นับถือเป็นส่วนตัวมากว่ายี่สิบปี ผมได้ยินอยู่เสมอว่าพี่ทำนุ (และคณะ) นิยมเสรีประชาธรรม (ฝ่ายแดงจำกัดเสรีประชาธรรม เราเคยอ้างอยู่เสมอซึ่งก็เป็นความจริง) จึงได้อุตส่าห์ใช้เวลา ความพินิจพิจารณา สมอง และเงินทองของหมู่บ้านร่วมสิบปี ทำกติกาของหมู่บ้านขึ้นมา ที่พี่ทำนุ (และคณะ) นิยมหลักประชาธรรมเสรี นั้น ผมก็นิยมด้วยอย่างจริงใจ ทุกวันนี้ในหมู่บ้านที่เจริญทั้งหลาย เขามักจะสนใจกับสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ซึ่งหากเป็นพิษ ก็จะเป็นภัยแก่ภัยแก่มนุษยชาติอย่างใหญ่หลวง เขาเกรงผลร้ายของวิทยาศาสตร์เมื่อเรานำไปใช้ในทางที่ ผิด เช่น กลิ่นไอน้ำมันรถยนต์ ควันดำจากโรงงาน การใช้สารเคมีในทางที่ เป็นพิษแก่ลุ่มน้ำและดินป่าฟ้าเขา เป็นต้น

สำหรับหมู่บ้านไทยเจริญ ของเราก็มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอยู่เป็นอันมาก แต่ผมว่าอะไรก็ไม่ร้ายเท่าพิษของความเกรงกลัว ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจขู่เข็ญ และการใช้อำนาจโดยพลการ (แม้ว่าจะใช้ในทางที่ถูก) เพราะความเกรงกลัวย่อมมีผลสะท้อนเป็นพิษแก่ปัญญา เมื่อปัญญาเป็นพิษแล้ว

ในบางกรณีก็กลายเป็น อัมพาตใช้อะไรไม่ได้ บางกรณียิงร้ายไปกว่านั้น ปัญญาเกิดผิดสำแดง อัดอั้นหนักๆ เข้าเกิดระเบิดขึ้น อย่างที่เกิดมีมาแล้วในหมู่บ้านอื่นๆหลายแห่ง ทุกวันนี้อ่านหนังสือพิมพ์แต่ละวันก็พบโดยทั่วไป ภัยจากภายนอกหมู่บ้านไทยเจริญนั้น ผมเห็นด้วยกับพี่ทำนุว่าต้องขจัดให้สิ้นไป แต่ถ้าหมู่บ้านของเรามีแต่การใช้อำนาจ ไม่ใช่สมองไปในทางที่ควรเช่นที่บรรพบุรุษไทยเราเคยใช้มา จนสามารถรักษาเอกราชได้มาช้านาน เมื่ออำนาจทำให้กลัว ทางชีววิทยาท่านว่าไว้ ว่าเส้นประสาทบังคับให้หลับตาเสีย และเวลาหลับตานั้นแหละ เป็นเวลาแห่งความหายนะ ปรปักษ์ของเราจะถือโอกาสเราหลับตาเมื่อใด เขาได้เปรียบเมื่อนั้น

อีกประการหนึ่งที่ผมเห็น ว่าสำคัญมาก คือพี่ทำนุก็หกสิบเศษ ผมก็ใกล้จะหกสิบเข้าไปทุกที ต่างก็จะลาโลกกันไปในไม่ช้า ผมก็มีความทะเยอทะยานเช่นเดียวกับพี่ทะนุ ที่จะทิ้งโลกและหมู่บ้านไทยเจริญไว้ให้ลูกหลาน เป็นโลกและหมู่บ้านที่น่าอยู่ มีความสงบสุขเป็นไทยสมชื่อ และเจริญสมหวัง ปัจจัยสำคัญของความเป็นไทยและความเจริญ คือ ความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในหมู่บ้านของเราโดยสันติวิธี และเป็นไปตามกติกา ถ้าเราทำได้เพียงเท่านี้ แม้จะไม่สามารถทำอย่างอื่นได้มากนัก ผมว่าพี่ทำนุจะมีบุญคุณแก่เยาวชนของเราอย่างเหลือหลาย

บางคนอาจจะตั้งปัญหาว่า เยาวชนทุกวันนี้ควรหรือที่จะส่งเสริมให้มีสิทธิละเสรีภาพตามกติกาหมู่บ้าน น่าสนับสนุนละหรือ ทุกวันนี้ความประพฤติของเยาวชนมักจะเลวทรามน่าหมั่นไส้ ผมเองก็หมั่นไส้อยู่หลายครั้งหลายหน แต่พี่ทำนุเองก็มอบหมายให้ผมเกลือกกลั้วมากับเยาวชนเป็นเวลาหลายปี เมื่อผมพิจารณาด้วยความเที่ยงธรรมแล้ว ผมกลับรู้สึกว่าความภาคภูมิใจในเยาวชนของหมู่บ้านไทยเจริญเรา แทนที่จะรู้สึกหมั่นไส้ เขาสงบเสงี่ยมเจียมตัว และคารวะพวกเรามากกว่า และผิดกับที่เห็นมาในหมู่บ้านอื่นๆ ผมเห็นใจเยาวชนที่เขาได้รับการสั่งสอนจากพวกเรา ให้รักหลักประชาธรรม (ซึ่งก็ถูกต้อง) ให้รักและนิยมเสรีภาพในการคิด การพูด การเขียน และการสมาคม (ซึ่งก็ถูกต้องปรากฏในกติกาหมู่บ้านตลอดมาทุกกติกา) และเขานำเอาคำสั่งสอนของพวกเรานั่นเองไปประทับหัวใจของเขา พอหมู่บ้านมีกติกาขึ้น เขาก็ดีใจ เพราะเป็นไปตามความคาดหวังของเขาซึ่งตรงกับคำสั่งสอนของพวกเรา แต่กติกามีชีวิตอยู่ไม่นาน ก็ถูกปลิดไปโดยฉับพลัน และไม่มีอะไรให้ความหวังได้แน่นอนว่าจะคืนชีพกลับมากำหนดเมื่อใด ใครเล่าจะไม่เสียดาย ใครเล่าจะไม่ผิดหวัง เพราะเขาคาดหวังว่าจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ไทยเจริญ ตามกติกาของหมู่บ้าน แต่กระนั้นก็ตาม เยาชนของเราก็ยังตั้งอยู่ในความสงบ พยายามข่มความกลัวบ้างเมื่อพูดจาขอร้องแก่พวกเรา เพราะเขายังเชื่อในเจตนาอันดีของคนปูนเรา อย่างนี้จะไม่เอ็นดูจะไม่เมตตากรุณา และภาคภูมิใจในเยาวชนของเราได้อย่างไร

ด้วยเหตุผลนานาประการที่ ผมได้เรียนมาข้างต้น และด้วยความรักใคร่เคารพในพี่ทำนุ ผมจึงขอเรียนวิงวอนให้ได้โปรด เร่งให้มีกติกาหมู่บ้านขึ้นเถิดโดยเร็วที่สุด ในกลางปี 2515 นี้ หรืออย่างช้า หรืออย่างช้าก็อย่างให้ข้ามปีไป โปรดอำนวยให้ชาวบ้านไทยเจริญอย่างเหลือคณนา ทั้งในปัจจุบันและอนาคตกาล


ด้วยความเคารพนับถือ

เข้ม เย็นยิ่ง

ooo



คดียิงลูก จับพ่อ
ภาพจาก Thai Free News
ooo




บีบีซีไทย - BBC Thai

เจ้าหน้าที่เตรียมฝากขังพ่อน้องเฌอเช้านี้

นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ หนึ่งในผู้เริ่มต้นออกเดินในกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวเมื่อวานนี้ (25 มี.ค.) ก่อนที่เขาจะออกเดินเท้าไปยังศาลทหารเพื่อเข้าให้การเพิ่มเติมในวันศุกร์ที่ 27 มี.ค.

นายอานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวในช่วงข้ามคืนที่ผ่านมาระบุว่านายพันธ์ศักดิ์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวขณะเตรียมเข้าบ้านพัก และถูกนำตัวไปยัง สน.ชนะสงคราม ล่าสุดนายพันธ์ศักดิ์ จะถูกนำตัวไปรอฝากขังยังศาลทหารกรุงเทพ ในเวลา 09.00 น.

นายอานนท์ ระบุว่า นายพันธ์ศักดิ์ ถูกตั้งข้อ 3 ข้อ คือชุมนุมโดยขัดกับประกาศของ คสช.ฉบับที่ 7 กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116

ทั้งนี้ เดิมนายพันธ์ศักดิ์ มีกำหนดจะต้องเข้าให้การเพิ่มเติมต่อเจ้าหน้าที่ที่ศาลทหาร และจะสานต่อกิจกรรมพลเมืองรุกเดินด้วยการเดินไปศาลทหาร แต่ได้ถูกจับกุมเสียก่อน

นายพันธ์ศักดิ์ เป็นบิดาของนายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ น้องเฌอ อายุ 17 ปี ที่ถูกมือปืนซุ่มยิงเสียชีวิต ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 ได้ออกเดินเท้าตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2558 ในนามของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ซึ่งประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ อาชีพขับรถแท็กซี่ เพื่อไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สน.ปทุมวัน ตามหมายเรียกรายงานตัว ในกรณีที่คนทั้งสี่ถูกจับกุมเนื่องจากจัดกิจกรรม เลือกตั้งที่รัก (ลัก) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี นายพันธ์ศักดิ์ได้ถูกควบคุมตัวมาส่งยัง สน.ปทุมวัน แต่ได้รับการปล่อยตัวและได้จัดกิจกรรมเดินเท้าต่อไป

(ภาพจากเฟซบุ๊กพลเมืองโต้กลับ)

...

คุกคามนักศึกษา...



ศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย

แถลงชี้แจงกรณี เจ้าหน้าที่ ทหาร/ตำรวจ บุกบ้าน นศ.

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ทาง ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ได้ติดตามความคืบหน้าเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ ทั้งใน และนอกเครื่องแบบ เข้าจู่โจม ตรวจค้น และเข้าพูดคุย เพื่อปรับทัศนคติกับผู้ปกครอง และนักศึกษา ที่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตลอดช่วงระยะเวลาหลังจากการรัฐประหาร 2557

โดย ศนปท. ขอสรุป เหตุการณ์ การคุกคามจากเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 58 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 58 ดังนี้

- วันที่ 19 มี.ค. 58
เวลา 09.00 น. ทหารจากกองพันทหารม้าที่ 3 เข้าพบ นศ.นายหนึ่ง (นามสมมติ) คณะนิติศาสตร์ มธ. พร้อมครอบครัว
เวลา 12.00 น. ทหารจากหน่วยเดียวกันเข้าพบที่บ้าน นศ. นาย สอง (นามสมมติ) คณะศิลปศาสตร์ มธ.

- วันที่ 20 มี.ค. 58
เวลา 19.00 น. ตำรวจในพื้นที่ พยายามเข้าค้นหอพัก นศ. นาย สิรวิญช์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว) คณะรัฐศาสตร์ มธ. ย่านรังสิต
เวลา 13.30 น. ตำรวจในพื้นที่ พยายามเข้าบ้าน นศ. นายสาม (นามสมมติ) คณะ นิติศาสตร์ มธ. ย่านสามโคก

- วันที่ 25 มี.ค. 58
เวลา 10.30 น. สันติบาล ประมาณ 3 นาย เ้ข้าตรวจค้นบ้านพักที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นบ้านของผู้ปกครอง นิสิต นายสี่ (นามสมมติ) คณะสังคมฯ มศว.
เวลา 13.10 น. สันติบาล เข้าพบ นิสิต น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว คณะ สังคมฯ มศว. ที่บ้านพักย่านปทุมธานี
เวลา 13.20 น. ทหาร และสันติบาล เข้าพบผู้ปกครอง นศ. ปิยรัฐ จงเทพ คณะนิติศาสตร์ มธ . ที่ทำงานของผู้ปกครอง จ.กาฬสินธุ์
เวลา 13.30 น. สันติบาล 3 นาย เข้าพบ ครอบครัว นศ. นัชชชา กองอุดม คณะนิเทศน์ ม.กรุงเทพ ที่ จ.หนองคาย
เวลา13.40 น. สันติบาล 2 นาย เข้าพบ นศ. พงษ์นรินทร์ นนท์ก่ำ คณะนิติศาสตร์ ม.ราม ที่บ้านผู้ปกครอง ใน จ.เชียงราย
เวลา 13.50 น. ทหารและตำรวจ เข้าพบ ผู้ปกครอง นศ. นายห้า (นามสมมติ) คณะทันตแพทย์ มธ. ที่บ้าน จ.ชัยภูมิ
เวลา 14.30 น. ตำรวจนอกเครื่องแบบ 3 นาย เข้าพบที่บ้านพัก นศ. วีรชัย เฟ้นดี้ คณะรัฐศาสตร์ ม.ราม ที่บ้าน จ.ชลบุรี
เวลา 15.30 น. สันติบาล 2 นาย เข้าพบผู้ปกครอง และผู้ใหญ่บ้าน ของ นศ. วิชญ์พล ญาณะโส คณะ รัฐศาสตร์ ม.ราม
เวลา 16.30 น. ทหารสองคันรถ เข้าพบผู้ปกครอง นศ. ริงสิมันต์ โรม ที่บ้านย่าน ปทุมธานี
เวลา 16.40 น. สันติบาล เข้าพบผู้ปกครอง ของ นิสิต จิมมี่ คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์
เวลา 16.50 น. สันติบาล 2 นาย เข้าำพบ นิสิต ธีรชัย (สงวนนามสกุล) นิสิต คณะ เกษตร ม.เกษตรศาสตร์
เวลา 17.00 น. ทหาร เข้าพบผู้ปกครอง นศ. นายฮิ (นามสมมติ) คณะ รัฐศาสตร์ มธ. ที่บ้านพัก จ.เชียงใหม่
เวลา (ขณะนี้) เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกำลังเดินทางเข้าพบผู้ปกครอง นศ. วชิรวิทย์ คงคาลัย คณะรัฐศาสตร์ มธ.

ซึ่งรวม นิสิต นักศึกษา ทั้งหมด 17 คน ที่ขณะนี้ถูก ทหาร/ ตำรวจ เข้าพบที่บ้านพัก/ห้องพัก ของ นิสิต นักศึกษา และผู้ปกครอง โดยเหตุผลหลัก คาดว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องการขู่เข็ญ ให้นักศึกษายุติบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะ กรณีการรณรงค์พลเมืองต้องไม่ขึ้นศาลทหาร

ปล.ยังมี นิสิต นักศึกษาอีกจำนวนหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่พยายามติดตามและข่มขู่ ซึ่งเราพยายามติดตามอย่างต่อเนื่อง
...


Thai junta targets dissent with visits to student activist homes

BY AMY SAWITTA LEFEVRE
BANGKOK Thu Mar 26, 2015
Source: Reuter


(Reuters) - Plainclothes police and military officers have visited the homes of at least 20 student protesters across Thailand in the past week, activists said, in the toughest response to dissent since the days after last year's coup that ushered in army rule.

Amid signs of simmering dissatisfaction with the leadership of Prime Minister Prayuth Chan-ocha, who seized power in May, the military junta appears to be running out of patience.

On Wednesday, Prayuth told a gathering of reporters he would "probably just execute" journalists who did "not report the truth". He may have meant the comments in jest, but according to journalists present, he delivered them without a smile.

Reuters spoke with three activists who said police officers and soldiers visited family homes of students, took pictures and issued instructions to stay away from political activities.

In one case on Wednesday, plainclothes police entered the family home in the northern province of Chiang Mai of Witchapon Yanaso, a 22-year-old member of the "Democracy Protection Scholar" anti-coup group at Bangkok's Ramkhamhaeng University.

"They told us to stop our grandson from taking part in political activities or he would have no future," said his grandmother, Kuan Yanaso, 61.

Two men wearing black, who did not identify themselves, returned to the house later that evening, Kuan added.

Weerachai Fendi, 20, another student activist whose home in Chonburi province, near Bangkok, was searched Wednesday, said the raids were creating fear among Thailand's small band of anti-army demonstrators.

"We don't feel safe at all. As soon as we leave our halls of residence there are people following us," he told Reuters.


"U-TURN"

Of at least 20 homes visited by officials over the past week, six were searched by men in Royal Thai Army uniforms, the students told Reuters.

The searches are a "U-turn back to the days just after the 2014 coup" when hundreds of people were detained on military bases and then released, said Paul Chambers, director of research a the Institute of South East Asian Affairs affiliated with Chiang Mai University.

"Prayuth is making a statement with these new, increased searches. That statement is that the military means business and will not put up with insurrection."

Martial law has been in effect since the coup, banning political gatherings of more than five people.

Opponents of the junta have been tried in military courts, while there has also been a marked increase in the number of people charged under Thailand's strict laws against defaming the monarchy.

Junta spokesman Colonel Winthai Suvaree said visits to private homes were part of a national policy to stem public protests.

"We call it creating understanding," Winthai told Reuters. "In this period we don't want any political activities. Some police in certain districts have been assigned as public relations representatives."

The searches come as the junta struggles to shore up Thailand's faltering economy, Southeast Asia's second-biggest.

Rubber farmers have threatened protests over low prices, and a range of critics have taken aim at what is perceived as the slow distribution of public funds.

Thailand's two largest political parties have also criticized efforts by a junta-backed assembly to draft a new constitution to replace the one thrown out in the May coup.

The parties fear the draft charter could weaken civilian authority, including by making the 200-member upper house Senate unelected.

"It would go against the trend of the past 20 years where the road toward full democracy looked quite rosy despite its weaknesses," said Kasit Piromya, a former foreign minister and member of the conservative Democrat Party.

(Editing by Aubrey Belford and Mike Collett-White)