วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 23, 2558

ILAW “คุยกับ ‘แท็กซี่ แอคทิวิสต์’ หลังถูกจับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.”


ที่มา ILAW

วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ หรือ ‘พี่กึ๋ย’ นักกิจกรรมทางสังคมซึ่งปัจจุบันทำอาชีพขับรถแท็กซี่ เป็นหนึ่งในสี่ผู้ต้องหาที่ถูกจับในงาน “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14กุมภาพันธ์ 2558 หน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ เพื่อรำลึก 1 ปี เลือกตั้ง 2 กุมภา 57

ก่อนหน้านี้พี่กึ๋ยเคยจัดกิจกรรมทางสังคมที่เรียกสีสันมาแล้วหลายงาน เช่น การประท้วงผู้นำลิเบียและชาติอาหรับที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องยูเอ็นเข้าแทรกแซงและยุติการสังหารประชาชน การร่วมกิจกรรมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สวมหน้ากาก ‘อากง’ และยืนไว้อาลัย 112 นาทีต่อกระบวนการยุติธรรม หน้าศาลอาญา เป็นต้น

“ผมเริ่มเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่ปี 40 โดยกิจกรรมที่ทำก็มีทั้งที่เป็นการเมืองและไม่ใช่การเมือง เช่น การคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-พม่า เป็นพี่เลี้ยงในค่ายพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน ต่อต้านการสร้างเขื่อนผมก็ไป ช่วงหลังๆ ผมก็ไปร่วมทำกิจกรรมกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย”

“กิจกรรมที่ผ่านมา ผมทำร่วมกับนักกิจกรรมหลากหลายกลุ่ม ช่วยๆ กันคิด ผมเป็นคนชอบคิดอะไรสนุกๆ กวนๆ อยู่แล้ว ชอบคิดอะไรที่มันสร้างสรรค์และเรียกรอยยิ้มให้กับผู้คนได้”

“เห็นผมทำกิจกรรมทางสังคมบ่อยขนาดนี้แต่ก็ไม่มีปัญหากับหน้าที่การงานของผมนะ เพราะอันดับแรกเลยคือผมต้องดูค่าใช้จ่ายของตัวเองเป็นหลักก่อน อีกอย่างผมว่าเป็นคนขับแท็กซี่มันดีตรงที่ว่ามีอิสระและมีเวลายืดหยุ่น แค่เราหาเงินได้ตรงตามเป้าก็เอาเวลาที่เหลือมาทำกิจกรรม ผมจึงไม่มีปัญหาในเรื่องนี้”

“ที่ผมทำกิจกรรมพวกนี้เพราะรู้สึกว่ามันเป็นประโยชน์กับสังคม และคนที่ทำเรื่องพวกนี้ก็มีไม่เยอะด้วย”

สำหรับงาน “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” พี่กึ๋ยก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย แม้งานนี้จบลงด้วยการตั้งข้อหาผู้จัดงาน 4 ราย ฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องการห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เลือดความเป็นนักกิจกรรมทางสังคมของพี่กึ๋ยลดน้อยลงไปเลย
“กิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้งที่ถูกยกเลิกไปเมื่อปีที่แล้ว และที่จัดในวันวาเลนไทน์ก็เพราะต้องการพูดถึง ‘ความรัก’ ในความหมายใหม่ๆ”

“ผมทำกิจกรรมมานาน นอกจากครั้งนี้ ก็มีครั้งที่ไปชุมนุมต่อต้านท่อก๊าซเมื่อปี 40 ที่ผมถูกจับ แต่ครั้งนั้นมีนักกิจกรรมถูกจับหลายคน และไม่ได้ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี”

“ความรู้สึกตอนถูกจับกุมตัวก็กลัวนะ แต่ผมเห็นความไม่ถูกต้องก็เลยกลับมาทำกิจกรรมพวกนี้อีก”

“สำหรับการถูกจับกุมตัวข้อหาชุมนุมเกิน 5 คนครั้งนี้ก็ส่งผลกกระทบต่อหน้าที่การงานผมเหมือนกันเพราะต้องเสียเวลาส่วนหนึ่งเดินทางไปทำธุระเรื่องคดี และถ้าคดีนี้ถูกตัดสินก็คงมีปัญหาแน่ๆ”

"แม้กิจกรรมนี้จะจบลงด้วยการถูกจับและดำเนินคดี แต่ผมก็ไม่เสียใจนะ ตอนที่ตัดสินใจทำกิจกรรมนี้ ผมไม่ได้คิดเรื่องคุ้มหรือไม่คุ้ม ผมเชื่อว่า 'สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดีเสมอ' กิจกรรมแต่ละอย่างที่ผมทำเป็นสิ่งที่อยากทำและคิดว่ามันถูกต้อง อย่างเดียวที่ผมคาดหวังจากกิจกรรมนี้คือต้องการเปิดพื้นที่ในการแสดงออกของตัวเองและคนอื่นๆ"

“แต่คดีนี้ผมสู้นะ ผมขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เพราะการจับกุมผมด้วยข้อหานี้มันขัดกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน”