วันพุธ, ธันวาคม 31, 2557

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอรหันต์พุงกาง...พวกเขาต้องการให้ประชาชนท้อแท้ ยอมแพ้ ยอมให้ถูกปกครอง แล้วคนดีก็จะมาแจก มาบอกพร้อมช่วยเหลือทุกอย่าง ยอมไม่ได้อย่างเดียว มึงอย่าเรียกร้อง "คนเท่ากัน"

ไทม์ไลน์ยกร่างรัฐธรรมนูญ  ภาพจาก กระปุกดอทคอม ครอบครัวข่าว 3

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอรหันต์พุงกาง ต้องการตัดประเด็นเรียกร้อง "นายกพระราชทาน" ออกไป เพราะเอานายกฯ คนกลางมาไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ทั้งที่จริง ม.7 ไม่ใช่นายกพระราชทานแต่พวกตะแบงก็อยู่ในกรรมาธิการนั่นแหละ จึงฟังเหมือนคิดดี แต่ยิ่งทำให้ถอยหลังไปไกลกว่ายุคเปรมอีก เพราะยุคเปรม วุฒิสมาชิกแม้มาจากทหารแต่ยังไม่มีอำนาจมากขนาดนี้

รัฐธรรมนูญนี้เพื่อไทยไม่มีทางชนะเลือกตั้ง ต่อให้ชนะ ก็ถูกสกัดขัดขาทุกวิถีทางโดยไม่ต้องถึงศาลปกครอง ศาล รธน.ด้วยซ้ำ อย่าฝันว่าจะอยู่ถึงปี แค่ไม่กี่เดือนเอานิ้วจิ้มก็คว่ำ เพราะตั้งรัฐมนตรีไม่ได้ ย้ายข้าราชการไม่ได้ ถูกถอดถอนง่ายๆ


แค่การเลือกตั้งก็ไม่ชนะ ถามว่าทำไม อ้าวก็ยังจะมีใครกล้าลงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ในเมื่อเสี่ยงทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ใบแดงแต่ครั้งนี้โดนยัดตะราง ต่อให้ได้รับเลือกตั้งก็โดนเล่นทุกอย่าง

พวกเขาต้องการให้ประชาชนท้อแท้ ยอมแพ้ ยอมให้ถูกปกครอง แล้วคนดีก็จะมาแจกผ่าห่มกันหนาว แจกข้าวสาร บอกพร้อมช่วยเหลือทุกอย่าง ยอมไม่ได้อย่างเดียว มึงอย่าเรียกร้อง "คนเท่ากัน"

Atukkit Sawangsuk


..



ภาพจาก กระปุกดอทคอม ครอบครัวข่าว 3
ที่มา ประชาไท
Tue, 2014-12-30 15:13
ใบตองแห้ง
29 ม.ค.57

นิด้าโพลสำรวจความเห็นประชาชนเห็นด้วยกับการมีนายกฯ คนกลางในภาวะวิกฤติ ทั้งที่ก่อนนี้ไม่กี่วัน ยังเห็นด้วยกับเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงอยู่เลย

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็สนับสนุนว่าเขียนชัดๆ ภาวะปกติให้นายกฯ มาจากเลือกตั้ง แต่ถ้าเกิดวิกฤติ ให้มีนายกฯ คนกลางได้

แปลความอีกอย่าง ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้ง เราก็จะมีนายกฯ จากเลือกตั้งชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ก็จะถูกม็อบปิดกรุงต้านเรียกหานายกฯ คนกลาง

รัฐธรรมนูญฉบับอรหันต์พุงกาง เบี้ยประชุมวันละ 9,000 เบี้ยสวาปาม 23 ล้าน กำหนดให้ ส.ว.ลากตั้ง 200 คนมีอำนาจลงมติถอดถอนร่วมกับ ส.ส.โดยใช้เสียงเพียงกึ่งหนึ่ง พร้อมอำนาจตรวจสอบสกัดกั้นการแต่งตั้งรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูง

นี่คือการออกแบบให้รัฐบาลจากเลือกตั้งต้องอยู่ใต้กำกับดูแลของ ส.ว.ลากตั้ง ซึ่งตามที่มา 5 ประเภทของกรรมาธิการ ก็หนีไม่พ้นตัวแทนชนชั้นนำ รัฐราชการ และคนชั้นกลางเก่าเป่านกหวีด ในนามองค์กรวิชาชีพหรือภาคประชาสังคม

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเสียงข้างมาก หากขัดหูขัดตาขัดผลประโยชน์สถาบันอนุรักษ์นิยม รัฐราชการ และคนชั้นกลางเก่า จะไม่สามารถบริหารประเทศได้เลย จะถูกสกัดขัดขวางทุกวิถีทาง ตั้งแต่แต่งตั้งรัฐมนตรี โยกย้ายข้าราชการ และถูกถอดถอนซึ่งถ้ามี ส.ส.450 คน ฝ่ายค้านเพียง 125 คนก็จับมือกับ ส.ว. 200 คนล้มรัฐบาลได้

โดยยังไม่ต้องพูดถึงองค์กรอิสระทั้งหลายกับสภาคุณธรรมอะไรนั่น ที่คงตั้งมาจากผู้ลากมากดี ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษคอยจับผิดผู้อื่น มีแต่ตัวเองถูกหมด

พูดให้เป็นรูปธรรม รัฐธรรมนูญนี้หากพรรคเพื่อไทยฝ่าอุปสรรคขัดขวางชนะเลือกตั้งเข้ามาได้ ก็บริหารประเทศไม่ได้ ไม่ต้องรอถึงศาลรัฐธรรมนูญอย่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ต้องรอให้ถึงศาลปกครอง เพราะย้ายเลขา สมช.ต้องผ่านวุฒิลากตั้งก่อน ถ้าจะไม่ถูกถอดถอนรัฐบาลต้องมี ส.ส.325 คนขึ้นไป

ตรงกันข้าม หากเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคอื่นใดที่รัฐราชการสนับสนุน ก็ผ่านฉลุย ทางสะดวก ลอยหน้าลอยตาสบาย

นี่ยังไม่พูดถึงโอกาสชนะเลือกตั้งซึ่งยากมาก เพราะการเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่แบ่งประเทศเป็น 8 เขตเท่ากับบล็อกคะแนนเพื่อไทยให้อยู่แต่ในภาคเหนือภาคอีสาน ซ้ำถูกแยกสลายบางจังหวัดให้ไปรวมกับภาคอื่น

ข้อสำคัญ อยากถามว่ายังมีใครลงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ในเมื่อเห็นอยู่ว่าจะถูกเล่นงานอย่างหนัก ไม่ใช่แค่โดนใบแดงแล้วตัดสิทธิตลอดชีวิต แต่การให้ศาลออกใบแดงแทน กกต.ก็มีแนวโน้มว่าจะตัดสินจำคุกพร้อมใบแดง ด้วยกระบวนการไต่สวนเพียง 2 ศาล

ฉบับ “เห็นคนไม่เท่ากัน”

รัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างจาก 2550 อย่างไรในสาระสำคัญ

ข้อแรก รัฐธรรมนูญฉบับนี้หวังถอดสลักมาตรา 7 ไม่ต้องขอ “นายกพระราชทาน” เพราะหากกลไกต่างๆ ยังจัดการรัฐบาลเลือกตั้งไม่ได้ หากไปถึงขั้นมีม็อบปิดเมือง มีการถอดถอนรัฐบาล ก็เขียนให้ “นายกฯ คนกลาง” มาได้เลย โดยไม่ต้องเรียกร้องให้ระคายเคืองเบื้องยุคลบาทแบบปี 49

ว่าไปเหมือนจะดี แต่ความจริง ม.7 ไม่ได้หมายถึงนายกพระราชทานอยู่แล้ว ในหลวงมีพระราชดำรัสชัดเจน พวกตะแบงตีความก็อยู่ในกรรมาธิการนั่นเอง ซี้ซั้วกันเอง แล้วแทนที่จะเดินหน้าเป็นประชาธิปไตย กลับถอยหลังไปยิ่งกว่ายุคพลเอกเปรม

ข้อสอง รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดช่องให้ศาลถอยไป หลังจากตุลาการกระโดดข้ามรั้วมาร่วมรัฐประหาร 49 และเข้าไปใช้อำนาจในองค์กรอิสระ ลากศาลเข้าไปถูกวิพากษ์วิจารณ์ “สองมาตรฐาน” จนเกิดกระแสต้องการปฏิรูปศาล

รัฐธรรมนูญนี้ลดภาระศาลและองค์กรอิสระ โยกอำนาจบางส่วนไปไว้กับ สว.ลากตั้ง ยกเลิกการให้ศาลสรรหา ส.ว. และมีแนวโน้มยกเลิกการให้ศาลสรรหาองค์กรอิสระ ถอยศาลขึ้นไปเป็น “อำนาจศักดิ์สิทธิ์” ที่จะลงดาบเฉพาะเรื่องสำคัญ ลดการใช้งานพร่ำเพรื่อจนดาบสึกกร่อน

ประเด็นนี้ให้สังเกตได้ว่าหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม ศาลยุติธรรมเข้ามามีบทบาทน้อยมาก

ข้อสาม รัฐธรรมนูญนี้พยายามปรับโครงสร้างอำนาจ เปิดพื้นที่ให้คนชั้นกลางเก่าเป่านกหวีด เข้ามา “มีส่วนร่วม” มากขึ้น ในการใช้อำนาจเผด็จการครึ่งใบข่มขี่เหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชน สนองข้อเรียกร้องต้องการคนชั้นกลางชาวกรุง ดาราเซเลบส์ ลูกเศรษฐีมีการศึกษา ที่เห็นคนไม่เท่ากัน

เพราะใน 200 ส.ว.ตามที่มาของกรรมาธิการ จะมีตัวแทนสาขาอาชีพ องค์กรวิชาชีพ ภาคประชาสังคม องค์กรจัดตั้งเหล่านี้อยู่ในมือคนชั้นกลางเก่าทั้งสิ้น เป็นการนำเอาข้อเรียกร้องของพันธมิตรและม็อบนกหวีด ที่เคยเสนอการเมืองใหม่ 70-30 และสภาประชาชน มาปรับสัดส่วนผสมผสานกับตัวแทนรัฐราชการและสถาบันอนุรักษ์นิยม

เชื่อได้เลยว่าในวุฒิสภา ในสภาคุณธรรม จะเต็มไปด้วยพวกหมอ ครูอาจารย์ อธิการบดี คณบดี ขุนนาง NGO และอดีตองค์กรอิสระ (ยุคนี้สมัยนี้ถือเป็นวิชาชีพหนึ่ง พ้นวาระองค์กรนี้ก็ไปนั่งเก้าอี้องค์กรโน้น)

ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ผ่าน ประชาธิปไตยจะถอยหลังไปอีกหลายสิบปี ถอยหลังยิ่งกว่ายุคพลเอกเปรม ซึ่งแม้นายกฯ ไม่มาจากเลือกตั้งแต่วุฒิสภาที่มาจากทหารก็ยังไม่มีอำนาจมากขนาดนี้ ไม่มีองค์กรอิสระ ไม่มีกลไกวิปริตวิตถารที่คอยสกัดกั้นอำนาจบริหาร อำนาจเลือกตั้ง มากมายถึงเพียงนี้

รัฐบาลจากรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งสมัยแรก สมัยสอง สมัยสาม ก็คงเป็นรัฐบาลที่รัฐราชการเปิดทางให้สืบทอดอำนาจ ถ้าตกลงกันได้ก็อาจเป็นประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่ต้องเข้ามาทำอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน นอกจากเป็นปลัดประเทศสร้างภาพ เนื่องจากนโยบายต่างๆ ต้องห้ามโดยสิ้นเชิง ขณะที่พรรคเพื่อไทยหากยังหือ ก็จะถูก “ประหาร” ซ้ำซ้อนด้วยกลไกต่างๆ ถูกตัดสิทธิติดคุกติดตะรางสะใจคนชั้นกลางคนดีมีศีลธรรม

สำหรับประชาชนคนชนบท คนเหนืออีสาน นะหรือ พวกเขาหวังว่าหลังพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ก็คงจะท้อแท้กันไปเอง และจะใช้โอกาสนี้แสดงน้ำใจอันดีงามของชนชั้นนำ คนชั้นกลาง แจกผ้าห่มกันหนาว แจกถุงยังชีพน้ำท่วม ฯลฯ ทำทุกอย่างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ยินดีให้พี่น้องร่วมชาติมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ห้ามอย่างเดียว อย่าบังอาจหือ เรียกร้องเสรีภาพและสิทธิเท่าเทียม
ooo


ไทม์ไลน์ยกร่างรัฐธรรมนูญ

ที่มา กระปุกดอทคอม

วันที่ 21 ตุลาคม 2557 มีการเปิดประชุม สปช. ครั้งแรก

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 จัดตั้ง/แต่งตั้งคณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

วันที่ 19 ธันวาคม 2557 สปช. เสนอความเห็นต่อ กมธ.

วันที่ 17 เมษายน 2558 ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว

วันที่ 27 เมษายน 2558 สปช. จะเสนอความเห็นที่รวบรวมมาจากฝ่ายต่าง ๆ ให้กรรมาธิการพิจารณา

วันที่ 26 พฤษภาคม 2558 ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช. ครม. และ คสช. ให้ความเห็นชอบ หรือทำการแก้ไขเพิ่มเติม

วันที่ 28 กรกฎาคม 2558 คณะกรรมาธิการรวบรวมยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างสมบูรณ์ ส่งให้ สปช. ลงมติเห็นชอบ

วันที่ 11 สิงหาคม 2558 สปช. ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

วันที่ 9 กันยายน 2558 ประธาน สปช. จะนำร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าฯ

รวมระยะเวลาตามกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประมาณ 340 วัน