วันเสาร์, ธันวาคม 20, 2557

เสวนา " นิธิ 20 ปีให้หลัง" ว่าด้วย กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ , ชาติไทย , เมืองไทยฯ, โขน, คาราบาวฯ และ ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น กางเกงใน และ ฯลฯ


https://www.youtube.com/watch?v=oMWg3tVXfrE

Published on Dec 19, 2014
เสวนา " นิธิ 20 ปีให้หลัง"
ศิลปวัฒนธรรม รวมกับสำนักพิมพ์มติชน
ขอเชิญร่วมฟังเสวนา " นิธิ 20 ปีให้หลัง"
ว่าด้วย กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ , ชาติไทย ,
เมืองไทยฯ, โขน, คาราบาวฯ และ
ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น กางเกงใน และ ฯลฯ
13.30 - 17.00o"
วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม 57 ที่มติชนอคาเดมี
ร่วมเสวนาโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
เกษียร เตชะพีระ
ooo

Thu, 2014-12-18 23:53
ที่มา ประชาไท

เปิดปาฐกถาเต็มฉบับของ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ แม้จะหมุนนาฬิกากลับไปไกลเพียงใด แต่สุดท้ายเวลาจะเดินหน้าต่อไปไม่ยอมหยุด “วัฒนธรรม” ก็เช่นกัน

หมายเหตุ. การกล่าวปาฐกถาครั้งนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2557 ที่อาคารมติชนอคาเดมี ในงานเสวนาหัวข้อ “นิธิ 20 ปีให้หลัง” และงานเปิดตัวหนังสือพิมพ์ซ้ำ 4 ปก อันประกอบด้วย “กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย” , “โขน, คาราบาว, น้ำเน่าในหนังไทย” , “ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์” และผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน และ ฯลฯ ซึ่งจัดขึ้นโดย ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน และมติชนอคาเดมี ประชาไทนำเสนอปาฐกถาโดยละเอียด



สวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ผมก็คงไม่รู้จะพูดอะไรมากนะครับ ก่อนอื่นก็คงต้องขอขอบคุณ อาจารย์ประจักษ์ อาจารย์ธเนศ และอาจารย์เกษียร เป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ด้วย ที่กรุณามาให้ความเห็นที่น่าสนใจมาก ๆ ในวันนี้ นอกจากนี้ก็แน่นอน ผมขอขอบคุณศิลปวัฒนธรรม และมติชน ในการจัดงานวันนี้ขึ้น

ก็คงขอคุยอะไรเล็กๆ น้อยๆ โดยเริ่มต้นจากเรื่องค่อนข้างส่วนตัวนิดหน่อย ผมเป็นนักเล่นนาฬิกานะครับ สะสมนาฬิกาไว้หลายประเภท นาฬิกาข้อมือ นาฬิกาแขวนข้างฝา และอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นนาฬิกาเก่า ที่ยอมเสียเงินไปซ้อม แต่ซื้อมาในราคาค่อนข้างถูก และผมมาพบอย่างหนึ่งว่า นาฬิกามันมีข้อดีอย่างหนึ่งคือ คุณสามารถหมุนเข็มนาฬิกากลับไปสู่อดีตเมื่อไหร่ก็ได้ที่คุณรู้สึกว่าคุณต้องการ ถ้าเป็นนาฬิกาที่มีวันที่ด้วย แม้แต่วันที่มันก็จะย้อนกลับให้เราได้ แต่ข้อเสียของนาฬิกามันมีอยู่อย่างหนึ่งก็คือถึงเราหมุนกลับไปแค่ไหนก็ตามแต่ มันก็จะเดินก้าวหน้าต่อไปอีกไม่ยอมหยุด เดินมาถึงจุดที่เราไม่อยากให้มันมาถึงจนได้สักวันหนึ่ง

นี่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องส่วนตัวที่ผมอยากจะพูดวันนี้คือ ผมรู้สึกว่าผมได้เขียนลงไปในศิลปวัฒนธรรมเมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมานั้น คำถามของอาจารย์ประจักษ์คือ สิ่งเหล่ามันเชยหรือยัง เอาเข้าจริงผมว่ามันเชยมากๆ มันแย่มากๆ เป็นต้นว่าเรื่องเกี่ยวกับน้ำเน่าในหนังไทยคือ ใช่ไม่ได้กับหนังไทยในปัจจุบันเอาอย่างนั้นแล้วกัน หนังไทยในปัจจุบันมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างเดียวแล้ว คุณใช้ความคิดเกี่ยวกับน้ำเน่าในหนังไทยตอนนั้น มาดูหนังไทยในปัจจุบันไม่ได้ มันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากที่เดียว คงต้องใช้กรอบวิธีมองอย่างอื่นแทน

เพราะเหตุที่ว่า วัฒนธรรม โดยเฉพาะสิ่งที่อาจารย์เกษียรพูดถึงคือวัฒนธรรมที่เป็นจริง มันไปได้เปลี่ยนไปอย่างมากในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา เวลาที่พูดถึงวัฒนธรรมนั้น ผมหมายถึง ความสัมพันธ์ทางสังคมของคนกลุ่มต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิง-ผู้ชายในปัจจุบันนี้ก็ไม่เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิง-ผู้ชายเมื่อตอนที่ผมเขียนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หรือคน-คนจน ความสัมพันธ์ระหว่างคนเมือง กับชนบท ก็เปลี่ยนไปอย่างยิ่ง

ถ้ามองเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งผมถือว่านั่นล่ะคือ วัฒนธรรม ก็จะพบความเปลี่ยนแปลงในทุกส่วนของสังคมไทยคือ พบว่าเราไม่ได้สัมพันธ์กัน อย่างที่เราเคยสัมพันธ์กันมาก่อน แน่นอนครู กับศิษย์ในตอนนั้นก็ไม่เหมือนครู กับศิษย์ในตอนนี้ ผมพบสิ่งนี้ และผมคิดว่าสิ่งที่ผมพยายามจะเตือนเสมอคือ วัฒนธรรม ไม่เคยหยุดนิ่งกับที่ มันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เวลาเขียนเรื่องน้ำเน่าในหนังไทยผมก็บอกว่า นั่นเป็นกรอบวิธีคิด หรือวิธีเล่าเรื่องของคนไทยในอดีต แล้วมันสะท้อนมาในหนัง เช่น เสือ, ลูกสาวกำนัน มีอะไรอีกร้อยแปด มันจะวนซ้ำ จากจุดเริ่มต้นที่มีความสุข วนกลับมาสู่จุดที่มีความสุขอีกครั้งหนึ่ง เวลามันไม่เดินไปไหน นิยายไทยมันจะหมุนอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าไม่เดินไปข้างหน้า และหนังไทยในช่วงนั้น สมัยนั้นก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ คือเป็นนิยาย หรือเรื่องราวที่เวลามันหมุนวนกลับมาสู่ที่เก่าตลอดเวลา และผมก็เตือนเอาไว้ในบทความนั้นว่า สิ่งนี้มันต้องเปลี่ยน จะเปลี่ยนไปสู่อะไรผมก็เดาไม่ถูกเหมือนกัน หรือเวลาพูดถึง “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” ผมก็บอกว่า สิ่งที่พูดมานี้มันเป็นก็เป็นอุดมคติที่วันหนึ่งมันก็เปลี่ยนไป และไม่กลับมาเหมือนเก่าอีก

20 ปีผ่านไปเร็วเหมือนโกหก สำหรับผมรู้สึกว่ามันไวมาก ๆ สังคมไทย ประเทศไทยมันไม่ใช่อย่างที่ผมจินตนาการถึงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มันเปลี่ยนไปมาก นั้นเป็นสิ่งที่ผมสำนึกได้เมื่อ 20 ปีที่แล้วว่าสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรม ไม่เคยอยู่นิ่งมันมีพลัง มีพลวัต ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ แต่ใน 20 ปีต่อมาผมมาพบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อ 20 ปีก่อนหน้านั้นมีความตระหนักในเรื่องนี้น้อย กล่าวคือรูปแบบของ วัฒนธรรมหนึ่งๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะมีอเมริกันเข้ามา หรือเราส่งเด็กไปเรียนต่างประเทศมากขึ้น หรือเพราะจีนเปลี่ยนประเทศมาดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ กลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มันไม่ใช่ปัจจัยภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวมันยังมีปัจจัยสำคัญอยู่อีกอย่างหนึ่งคือ ในแต่ละรูปแบบวัฒนธรรมมันมีผลประโยชน์ปลูกฝั่งของคนบางกลุ่มบางเหล่าอยู่ในวัฒนธรรมเหล่านั้นด้วย หมายความว่าการมองชีวิตเป็นวนกลมแบบรามเกียรติ์ หรือหนังไทยเมื่อ 20 ปีมาแล้ว ไม่ใช่เป็นความคิดตกค้างมาจากรามเกียรติ์เฉย ๆ มันมีผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม มีโลกทัศน์ของคนบางกลุ่ม มีอำนาจของคนบางกลุ่ม ซึ่งอยากให้ทุกคนมองเวลาเป็นวงกลมแบบนั้น คือเวลาพูดถึงเวลาเป็นวงกลมก็ตาม ลูกศิษย์ควรเคารพครูก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัฒนธรรมเฉย ๆ แต่ในวัฒนธรรมนี้มีส่วนที่เอื้อต่อโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างผลประโยชน์ และอื่น ๆ ด้วย ผมยอมรับว่า 20 ปีที่แล้วมองประเด็นนี้ไม่ชัดเจนเท่าไร แต่ในตอนนี้คิดว่ามองประเด็นนี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อสักครู่นี้ อาจารย์ประจักษ์ ได้พูดว่าหนังสือเล่มนี้ (กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย) พิมพ์ 11 ครั้ง ผมอยากจะเตือนว่าหนังสือ(ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์) ซึ่งผมเดาว่าพิมพ์มากที่สุดในประเทศไทยคือ เมื่อ 20 ปีก่อน “ประวัติศาสตร์ไทย” ของหลวงวิจิตรวาทการ พิมพ์ 24 ครั้ง ปัจจุบันเดาว่าอาจจะถึง สามสิบกว่าครั้งแล้วก็ได้ หนังสือเล่มนั้นจะดีอย่างไร ไม่ดีอย่างไรนี้ไม่พูดถึง เพียงแต่เป็นตัวอย่างที่ผมชี้ให้เห็นว่า การมองประวัติศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่ง มันไม่ได้เป็นการมองอย่างนักปราชญ์ หรือนักประวัติศาสตร์เฉย ๆ แต่มองอย่างนี้มันเอื้อโครงสร้างผลประโยชน์ โครงสร้างอำนาจ ของคนบางกลุ่มบางเหล่าด้วย แล้วเขาก็อยากจะรักษาการให้การมองอย่างนั้นดำรงอยู่ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์แบบหลวงวิจิตรฯ ที่เน้นให้ทุกคนเสียสละเพื่อชาติของตนเอง โดยอยู่ภายใต้การกำกับของคนเก่งคนฉลาดบางคน หรือบางกลุ่ม ไม่ใช่รักชาติเฉยๆ แต่รักชาติภายใต้การกำกับของคนบางกลุ่มด้วย วิธีแบบนี้ต้องมีความหมาย เพราะถ้าไม่มีความหมายมันพิมพ์ถึง 20-30 ครั้งอย่างนั้นไม่ได้

ด้วยเหตุนั้นผมจึงคิดว่า นาฬิกามันสอนใจเรา แม้หมุนกลับเวลาไปนาน หรือไกลแค่ไหนก็แล้วแต่ แล้วเมื่อคุณพอใจกับเวลาที่ตั้งใหม่ซึ่งเป็นอดีต อย่าลืมว่านาฬิกามันไม่หยุด มันเสือกเดินก้าวหน้ามาถึงยังจุดที่คุณไม่อย่างจะเจอมันอีกตลอดไป ฉะนั้นในฐานะคนเล่นนาฬิกาผมรู้สึกว่านาฬิกามันน่ารักมาก เพราะมันบอกความจริงอะไรบางอย่าง ที่หลายคนในประเทศไทย ที่ยังท่องตำราหลวงวิจิตรฯ ไม่เข้าใจว่า คุณอาจถอย วัฒนธรรม กลับไปได้ ไม่ว่าจะถอยกลับไปถึงตรงไหนก็ได้ทั้งนั้นแหละ แต่ที่ร้ายกาจคือ เมื่อคุณถอยกลับไปแล้ว แม่งเสือกเดินต่อไปอีก จนมาถึงจุดที่คุณไม่อยากให้มันมาถึง ได้เสมอไป