วันเสาร์, กันยายน 27, 2557

บันทึกความจริงใต้เงาเผด็จการ : "วันที่ผมลุกขึ้นสู้...แต่แพ้" และ "ในห้องนั้น...เขาสอบสวนอะไรผม"


ที่มา FB บันทึกความจริงใต้เงาเผด็จการ

"วันที่ผมลุกขึ้นสู้...แต่แพ้"

นับตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ผมกับเพื่อนๆซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นคล้ายๆกัน คือ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับรัฐประหาร พวกเรามักจะไปด้วยกันเสมอไม่ว่าจะมีการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่ไหน เราอยากให้รัฐประหารครั้งนี้ล้มเหลว เราเชื่อว่าถ้ารัฐประหารครั้งนี้ล้มเหลว มันอาจจะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้ายของประเทศไทยเลยก็ได้

ในช่วงแรกของการต่อต้าน แฟนของผมเป็นกังวลมาก ไม่ใช่ผมไม่กังวลหรอกนะ ผมเองก็กลัวมาก แต่ผมรู้ดีว่าผมท้อไม่ได้ ถ้าผมท้อ หรือแสดงความกลัวให้แฟนผมเห็น มันจะยิ่งทำให้เธอเป็นกังวลมากขึ้นไปอีก ผมพยายามปลอบเธอ ว่าผมคงไม่เป็นอะไร คนออกจะเยอะแยะ ทหารคงไม่กล้าทำอะไร แฟนผมร้องไห้และพยายามห้ามผม พยายามบอกว่า ไม่ไปได้มั้ย อย่าไปได้มั้ย แน่นอนว่าเธอรู้ดี เธอไม่สามารถห้ามผมได้ ในที่สุดเธอก็เลิกที่จะพยายามห้ามผม พวกเราทั้งสองคนได้แต่ปลุกปลอบกันและกันว่าคงไม่เป็นไร เดี๋ยวไม่นานก็คงได้เจอกัน

ผมกับเพื่อนๆ เราไปชุมนุมต้านรัฐประหารด้วยกันหลายครั้ง โดยมักเดินทางด้วย BTS สำหรับคนทำงานมันเป็นวิธีการที่สะดวกที่สุด ในช่วงแรกๆของการต่อต้านรัฐประหาร ผมและเพื่อนๆกลัวมาก เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง เราอาจจะถูกอุ้มหายไปได้

เมื่อไปชุมนุมบ่อยๆ ผมก็เริ่มด้านชากับความรู้สึกของตัวเอง ความรู้สึกที่ว่าเราอาจจะถูกจับ ความรู้สึกที่ว่ามีคนจำนวนมากที่ถูกทหารจับตัว ความรู้สึกของการสูญเสียสิทธิ-เสรีภาพ มันกลายเป็นความชินชา เหมือนกับว่าสิ่งเหล่านี้ กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ที่ความปลอดภัย สิทธิเสรีภาพ ในประเทศนี้มันไม่มีอีกแล้ว และมันเป็นเรื่องธรรมดาจนดูเหมือนว่าการต่อต้านความชั่วร้ายเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่แปลกแยกไป

วันแล้ววันเล่าผ่านไป ผมและเพื่อนๆ ยังคงเชื่ออย่างงมงายต่อไปว่าเราจะชนะทั้งๆที่คนที่มาชุมนุมก็ลดลงเรื่อยๆ เราเชื่อมั่นว่าเราสามารถแก้ไขความผิดพลาดของประเทศนี้ได้ จนกระทั่งพวกเราโดนจับ และนั่นดูเหมือนจะยุติการชุมนุมประท้วงของพวกเราลงไป

วันนั้นเป็นเวลาเย็นๆของสุดสัปดาห์ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะแก่การไปชุมนุมเพื่อต่อต้าน คสช.

ผมกับเพื่อนๆ เราตกลงกันว่าจะไปต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งรวมคนกันได้ก็มีจำนวนมากพอสมควร

พวกเราไปถึงก่อนเวลานัดหมายประมาณ ๑ ชั่วโมง และได้พบกับทั้งกำลังตำรวจและทหารที่มารออยู่ก่อนแล้ว

ผมแน่ใจว่า การชุมนุมครั้งนี้ คงไม่สามารถจะทำได้ปกติ ผมรู้สึกได้ว่า ทั้งทหารและตำรวจกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อแยกผุ้ชุมนุมออกจากประชาชนทั่วไป แน่นอนว่าพวกเขากำลังตามหาเราด้วยเช่นกัน

โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงเวลานัดหมายชุมนุม ทหารและตำรวจ เริ่มลงมือจับใครก็ตามที่มีท่าทีเป็นแกนนำ เมื่อเริ่มมีคนถูกจับ สถานการณ์ก็เริ่มวุ่นวาย ผมกับเพื่อนๆในเวลานี้ไม่ได้อยู่ด้วยกัน เพื่อนผมบางคนได้ถูกทหารหลายคนใช้กำลังรวบตัว ผมพยายามหาทางไปช่วยเพื่อน ไม่ช้าผมก็รู้สถาณการณ์ของตัวเองว่าตอนนี้ทหารได้บล็อคผมไม่ให้ไปช่วยเพื่อนได้

ผมถูกนำตัวขึ้นรถตู้ และถูกส่งตัวไปยังสโมสรกองทัพบก ในเวลานั้นผมเป็นกังวลหลายๆอย่าง ผมไม่ห่วงว่าตัวเองจะเป็นอะไรกับการเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. เพราะผมชินชา และยอมรับในผลของการกระทำของตัวเองที่ผมรู้ดีว่ามีความเสี่ยง แต่ผมเป็นห่วงครอบครัว ครอบครัวผมเป็น กปปส. ที่สนับสนุนการรัฐประหาร ผมรู้ดีว่าเมื่อพวกเขารู้ว่าผมถูกจับ มันจะทำให้พวกเขาเสียใจเป็นอย่างมาก และสำหรับญาติพี่น้องบางคนที่ค่อนข้างหัวรุนแรง นั่นอาจหมายถึงผมกลับบ้านตัวเองไม่ได้อีกเลย สำหรับคนรัก ผมเป็นห่วงว่าแฟนผมจะอยู่อย่างไร ผมไม่อยากให้เธอเดือดร้อนไปด้วย และสำหรับห้องพักของผมเอง ผมกลัวว่าทหารจะบุกมายังห้องพักของผม และนั่นอาจหมายถึงว่าจะมีอีกหลายคนที่อาจได้รับอันตราย

ระหว่างการเดินทาง มีทหารประมาณ ๕ นายอยู่บนรถด้วย ในระหว่างนั้นมีสายโทรเข้ามาโทรศัพท์มือถือผม(โชคดีที่ผมใช้โทรศัพท์ที่ทำได้เพียงโทรเข้าออก) และเมื่อผมกำลังจะกดรับ ทหารคนนั้นก็แย่งโทรศัพท์มือถือไปจากผม จนกระทั่งเมื่อสายนั้นหยุดไป ผมก็บอกทหารว่า “เอามันคืนมา” ทหารผู้นั้นตอบผมว่า “ไม่ได้” ผมสวนกลับไปว่า “ผมจะปิดเครื่องไม่ใช้มัน เอาคืนมาเดี๋ยวนี้” ผมไม่ได้รู้สึกเกรงกลัวพวกเขา ผมไม่แน่ใจว่าทำไม ทหารผู้นั้นยอมคืนโทรศัพท์ให้ผม จากนั้นผมก็ได้ทำตามที่สัญญาเอาไว้ ภายในใจเวลานั้น ผมได้แต่เพียงคิดว่า ทุกอย่างมันพังหมดแล้ว ผมแพ้!

- บุเรงนอง

ooo

"ในห้องนั้น...เขาสอบสวนอะไรผม"


ผมถูกนําตัวไปที่ห้องแห่งหนึ่งในสโมสรกองทัพบก เป็นห้องโถงกว้างๆ มีทหารอยู่มากพอสมควร ท่าทางของบรรดาทหารในเวลานั้นดูสบายๆ ประหนึ่งว่าการนำตัวประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารมาสอบสวนเป็นเรื่องปกติ

ผมกังวลกับสถานการณ์ของตัวเองมากๆ ผมคิดว่าหลังจากนี้ ผมคงถูกพาตัวไปต่างจังหวัด เหมือนกับที่ปรากฎในข่าวที่ทหารได้ทำกับแกนนำหรือรัฐมนตรี

ผมไม่แน่ใจว่าผมจะถูกซ้อมหรือเปล่า หรือเขาจะทำอะไรผมมั้ย ผมกลัวว่าจะถูกทรมาน เพื่อให้คายข้อมูลอะไรก็ตามแต่ที่ทหารต้องการให้ผมพูด

ผมถูกพาตัวไปหาสารวัตรทหาร (ส.ห.) นายหนึ่ง อายุประมาณ ๒๕ ปี เขาดูมีท่าทีร่าเริง หน้าที่ของเขาคือการทําทะเบียนประวัติผู้ที่ถูกจับกุมตัวจากการต่อต้านรัฐประหาร เขาถามข้อมูลทั่วไป เช่น เบอร์โทรศัพท์ ญาติพี่น้อง ที่พักอาศัย แผนที่ที่พัก ผมพยายามโกหก ผมมีข้อมูลที่จะต้องปกปิด ผมไม่อยากให้ครอบครัวหรือเพื่อนๆ ต้องเดือดร้อน ผมไม่รู้ว่าคนอื่นๆทราบข่าวที่ผมโดนจับแล้วหรือยัง ผมได้แต่ภาวนาว่า พวกเขาคงเตรียมพร้อม และจัดการเคลียร์ห้องผมให้เรียบร้อย เพราะฉะนั้นเรื่องแผนที่ที่พัก หรือการมีญาติพี่น้องในกรุงเทพฯ จึงเป็นสิ่งที่ผมไม่เปิดเผย และดูเหมือนว่าผมจะทําสําเร็จ เพราะ ส.ห. นายนี้ ไม่ได้พยายามพิสูจน์ว่าสิ่งที่ผมบอกนั้นเป็นความจริงหรือไม่ เมื่อทําทะเบียนประวัติเสร็จเรียบร้อย ก็ได้มีทหารอีกคนนําตัวผมไปถ่ายรูปทั้งสี่ด้าน และขอโทรศัพท์มือถือของผม (ผมได้แต่หัวเราะในใจ ว่าดีนะที่ผมไม่ได้เอาสมาร์ทโฟนไป เพราะโทรศัพท์เครื่องนี้ ผมใช้ได้เพียงโทรเข้าออกเท่านั้น และนึกขำต่อไปอีกว่ารุ่นเก่าขนาดนี้ทหารจะหาสายชาร์จแบตได้ไหมนะ) จากนั้น ส.ห. ที่สอบสวนผมก็ให้ผมรอพบกับใครคนหนึ่ง โดยเขาไม่ได้บอกว่าเป็นใคร

ผ่านไปราว ๑ - ๒ ชั่วโมง ส.ห. ได้พาผมไปพบกับชายคนหนึ่งที่แต่งตัวธรรมดาเหมือนประชาชนปกติ อายุราวสามสิบต้นๆ ดูไม่น่าจะใช่ทหารที่มีหน้าที่อยู่ภาคสนามเท่าไหร่ มีลักษณะเหมือนสายลับมากกว่า เมื่อผมนั่งลงตรงหน้าเขา เขาทําความรู้จักกับผมเล็กน้อยพอเป็นพิธี จากนั้นก็เริ่มสอบสวนผม

เขาถามผมว่า พวกเรามีกันกี่คน ได้เงินทุนมาจากไหน ทําไมถึงไม่ปล่อยให้บ้านเมืองสงบ รัฐประหารเป็นทางเลือกสุดท้ายแล้วรู้ไหม มันไม่มีวิธีการที่ดีกว่านี้ที่จะทําให้ประเทศชาติสงบได้ และคําถามที่เขาดูเหมือนจะอยากรู้มากที่สุดก็ถูกพูดออกมา คุณคิดยังไงกับมาตรา ๑๑๒ พวกคุณล้มเจ้าหรือเปล่า

คำถามเหล่านี้ ผมคาดคิดมาก่อนแล้วว่าต้องถูกถาม เพราะทหารยังไงก็ยังเป็นทหารวันยังค่ำ พวกเขาไม่เชื่อว่าการที่ประชาชนออกมาชุมนุมต้านรัฐประหารคือพลังบริสุทธิ์ พวกเขามักคิดว่าพวกเราโดนซื้อ หรือมีคนอยู่เบื้องหลังเสมอ ผมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเขา ผมบอกว่า “ผมกับเพื่อนๆ มาด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ผมไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ผมไม่เชื่อว่ารัฐประหารคือหนทางของการแก้ไขปัญหา เพราะปัญหามันไม่ได้ถูกแก้ แต่คุณแค่ระงับเอาไว้ชั่วคราวเท่านั้น ส่วนเรื่อง ๑๑๒ ที่คุณถามผม มีหลายคนที่พูดเรื่องนี้ แต่ไม่ใช่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน บางคนอยากให้ยกเลิก บางคนอยากให้แก้ไข และหลายคนก็มีเจตนาที่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ คุณเหมารวมไม่ได้หรอกว่าคนที่พูดเกี่ยวกับ ๑๑๒ จะมีจุดประสงค์เพื่อล้มเจ้า แล้วคุณเองล่ะ คิดยังไงกับ ๑๑๒”

ทหารผู้นั้นตอบผมว่า “อยากให้เพิ่มโทษเป็นจําคุกร้อยๆ ปีไปเลย พวกเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นพวกล้มเจ้าต้องเอาให้หนัก”

ภายในใจเวลานั้นของผมไม่ได้รู้สึกแปลกใจสักนิด เพราะสําหรับทหารส่วนใหญ่เรื่อง ๑๑๒ เป็นเรื่องที่พวกเขาไม่มีทางยอมได้ และทหารหลายคนก็คงมีแนวคิดว่าเรียกร้องประชาธิปไตยเท่ากับล้มเจ้า ทหารคนนี้ก็มีระบบความคิดไม่ต่างจากที่ผมเคยเจอมา

เขาถามผมต่อว่า “อย่างเรื่องคอรัปชั่น ออกมาต้านบ้างไหม ทําไมเรื่องแบบนี้ถึงไม่ยอมออกมา มันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ”

ผมคิดในใจว่า มาอีกละพล็อตเดิมๆ ทำไมไม่ต้านคอรัปชั่น ทำไมผมจึงต้องตอบคำถามซ้ำๆ ซากๆ นะ

“ผมทําสิ ผมทํามากกว่าที่คุณทําอยู่ในเวลานี้ก็แล้วกัน อย่างโครงการ เรือเหาะ GT-200 ก็เป็นโครงการทุจริตที่ผมต่อต้านมากๆ แล้วคุณทําอะไรบ้างไหมกับโครงการทุจริตดังกล่าว ทําอะไรบ้างไหม” ผมตอกหน้าเขาเต็มๆ ทหารคนนั้นหน้าเสียไปเลย ทหารนายนี้น่าจะรู้ดีว่ากองทัพของเขาเต็มไปด้วยคำครหาเกี่ยวกับคอรัปชั่น

เมื่อผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นต่อผมจึงพูดต่อไปว่า “ว่าไงละ คุณทำอะไรเกี่ยวกับคอรัปชั่นบ้าง คุณรู้ดี ว่าทหารมีหลายอย่างที่พัวพันกับการทุจริตคอรัปชั่น คุณทำอะไรมั้ย ไหนบอกผมมาสิ”

เขานิ่งไป เขาหยุดชะงัก แววตาเหมือนกำลังพยายามตอบตัวเอง และเลือกเฟ้นคำที่เหมาะสมเพื่อตอบคำถามผม ผมค่อนข้างแปลกใจที่ไม่เห็นแววตาโกรธแค้นอะไรเลยเมื่อผมย้อนถามเขา

“ผมทำอะไรไม่ได้ ผมคนเดียวทําอะไรไม่ได้” ในที่สุดเขาก็พูดออกมา

“งั้นแสดงว่าคุณไม่ได้รักชาติอย่างที่พยายามบอกผมใช่ไหม แต่คุณรักตัวเองมากกว่า” ผมโต้เขา

ผู้สอบสวนผมเงียบ ดูเหมือนเขาพยายามใช้ความคิดอย่างหนัก ผมพยายามอย่างหนักเพื่อให้บทสนทนาต่อๆไปของเราพูดแต่เรื่องของการคอรัปชั่น ผมรู้ดีว่าผมได้เปรียบในเรื่องนี้ จนกระทั่งถึงจุดๆหนึ่ง ทหารนายนี้เริ่มอึกอัก ดูเหมือนจะพูดอะไรต่อไม่ได้แล้ว เขาก็ลุกขึ้นยืน แล้วเดินไปหาคนที่ดูเหมือนเป็นผู้บังคับบัญชาของเขา

ผมไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น หรือว่าได้เวลาพาตัวผมไปต่างจังหวัดแล้ว ผมกังวลว่าสิ่งที่ผมพยายามเล่นงานเขาด้วยเรื่องคอรัปชั่นทหาร อาจทำให้เขาไม่พอใจ และกลั่นแกล้งผมด้วยการกักตัวไว้นานๆ

ผมนั่งอยู่บนโต๊ะตรงนั้นคนเดียวประมาณ ๓๐ นาที ก็มีนายทหารคนนึงเข้ามาพูดด้วยเสียงดังแกมข่มขู่หน่อยๆ ว่า ผมได้รับการปล่อยตัว แต่ต้องเซ็นเอกสารตกลงว่าจะไม่ทําแบบนี้อีก ซึ่งภายในเอกสารใบนั้นประกอบด้วยสาระสําคัญ คือ ห้ามปลุกปั่นยั่วยุหรือชุมนุมทางการเมืองอีก หากฝ่าฝืนจะถูกส่งตัวขึ้นศาลทหาร

ผมใช้ความคิดอย่างหนัก ผมถามหัวใจตัวเองว่าจะสู้กับรัฐประหารแค่ไหน ผมลําบากใจมาก ผมได้แต่ปลอบตัวเองว่าอยู่ ข้างนอก มันน่าจะทําอะไรได้มากกว่าอยู่ในคุกให้ญาติพี่น้องของเราต้องมาขึ้นศาลและหาทางประกันตัว

ผมแทบร้องไห้ เมื่อพยายามบรรจงเซ็นชื่อตัวเองลงในกระดาษแผ่นนั้น ผมรู้สึกเหมือนทรยศต่ออุดมการณ์ ผมมันขี้ขลาดจนยอมสยบต่อทหาร ผมมันขี้แพ้ใช่มั้ย ผมได้แต่สาปแช่งตัวเองว่า ไอ้ขี้แพ้!

- บุเรงนอง