วันศุกร์, มิถุนายน 20, 2557

บทวิจารณ์: “รัฐประหารไทย: เห็นทีจะอยู่นาน” The Economist วันที่ 27 พค. 2557


ที่มา นักข่าวหน้าจอ

(คำโปรย) รัฐประหารที่ตามมาด้วยการปราบปราม ทำให้ดูเหมือนว่านายพลทั้งหลายน่าจะอยู่ไปอีกนานตราบที่คิดว่าจำเป็นต่อการปรับโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้งจัดการเรื่องการสืบ ███████

เป็นทางการไปแล้ว เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอย่างเป็นทางการในการทำรัฐประหารของเขา 4 วันก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ ในชุดเครื่องแบบสีขาวมีดาบห้อยอยู่ข้างตัว คุกเข่าต่อหน้า ███████ ขณะเข้ารับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะทหารผู้นำประเทศในขณะนี้ การที่ ███████ ไม่อยู่ในพิธี สื่อให้เห็นความกังวลในเรื่องการสืบ ███████ ซึ่งมีบทบาทต่อความวุ่นวายทางการเมืองครั้งล่าสุด รวมถึงการรัฐประหารครั้งนี้

นับแต่นั้น พลเอกประยุทธ์ได้ประกาศยกเลิกวุฒิสภาซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ของรัฐบาลตามระบอบรัฐธรรมนูญ จากน้ำเสียงและการกระทำ รัฐประหารเป็นเสมือนเครื่องเตือนให้นึกถึงอดีตที่ระบบอุปถัมภ์และการยอมต่ออำนาจเบื้องสูงกลายเป็นอำนาจในการจัดการของประเทศไทย มีการประกาศห้ามออกนอกบ้านยามวิกาล กองทัพเรียกคนนับร้อยให้เข้ารายงานตัว ผู้ถูกกักกันได้รับการปล่อยตัวด้วยเงื่อนไขว่าต้องไม่แสดงความเห็น นักการเมืองและนักวิชาการหนีออกนอกประเทศหรือไม่ก็หลบลงใต้ดิน คำสั่งทหารฉบับหนึ่งกำหนดว่าไม่มีใครควรแสดงความคิดเห็นที่จะ “แยกผู้คนเป็นฝักฝ่าย” ไปมากกว่านี้ กองทัพปิดสถานีโทรทัศน์และวิทยุรวมทั้งปิดปากสื่อ องค์การสิทธิมนุษยชนในนิวยอร์คกล่าวว่าเป็นความพยายามร่วมกันของระบอบทหารที่จะ “ทำให้เกิดการยอมรับโดยไม่กล้าหือ” ซึ่งเป็นอีกการกระทำนอกเหนือจากกฎหมายหมิ่นอันรุนแรงของไทยที่ห้ามการพูดถึง ███████ และการสืบ ███████

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทัพเฝ้าติดตามสมาชิกคณะรัฐบาลที่แล้วหรือผู้ที่เห็นว่าฝักใฝ่รัฐบาลที่แล้วซึ่งมียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลายในปี 2011 และเป็นผู้นำจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์เป็นน้องสาวของทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกรัฐประหารขับไล่ออกไปเมื่อปี 2006 และผู้เป็นทั้งอำนาจและถุงเงินเบื้องหลังพรรคเพื่อไทยหลังเนรเทศตัวเองไปอยู่ดูไบ บรรดาผู้ถูกคุมตัวได้แก่อดีตรัฐมนตรี นักกิจกรรมและผู้จัดงาน “เสื้อแดง” โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศซึ่งเป็นถิ่นของตระกูลชินวัตร นอกจากนี้ มีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโส 16 นายตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัดอีกกว่า 10 คน นักการเมืองที่มีชื่อเสียงได้รับการปฏิบัติอย่างดี ในขณะที่นักกิจกรรมโนเนมถูกขังเดี่ยว

คนไทยธรรมดาๆ หลายคนในกรุงเทพฯ นิยมชมชอบรัฐประหาร-- จนถึงขณะนี้ คนกรุงเทพฯ เบื่อหน่ายการต่อสู้ฟาดฟันทางการเมืองซึ่งทำให้เมืองหลวงไทยเป็นอัมพาตหลายเดือน เริ่มจากการประท้วงเมื่อปีที่แล้วหลังมีการออกร่างกฎหมายซึ่งจะนิรโทษกรรมทักษิณจากข้อกล่าวหาว่าทุจริตคอรัปชั่นที่ยังส่งผลต่อเขา และเมื่อวุฒิสภาลงคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ไม่ผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำการประท้วงอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคของคนชั้นนำในสังคม เริ่มได้กลิ่นคาวเลือด เขาพยายามหาทางขับไล่รัฐบาลด้วยการตั้งเต๊นท์กลางถนน ยึดที่ทำการรัฐ และปิดกั้นพื้นที่สำคัญในเมืองหลวง เขากล่าวว่าเขาต้องการรัฐบาลแต่งตั้งเพื่อปฏิรูปทางการเมืองที่จะไม่ทำให้ “ระบอบทักษิณ” ได้รับเลือกเข้ามาในการเลือกตั้งอีกชั่วกาลนาน ประชาชน 28 คนต้องเสียชีวิตในการปะทะกันระหว่างกลุ่มกปปส.(คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ซึ่งเป็นกลุ่มของสุเทพกับกลุ่มเสื้อแดงผู้สนับสนุนรัฐบาล

ในช่วงไม่กี่วันก่อนเกิดรัฐประหาร กำหนดการของสุเทพดูจะไร้ทิศทาง แม้ว่าศาลจะตัดสินให้การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ยิ่งลักษณ์จัดขึ้นเป็นโมฆะในช่วงแรก ก่อนจะสั่งให้ยิ่งลักษณ์สิ้นสุดจากการเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเหตุผลว่าเธอใช้อำนาจเพื่อพวกพ้องในเวลาต่อมา แต่รัฐบาลรักษาการของพรรคเพื่อไทยซึ่งยังคงมีผล ก็ปฏิเสธที่จะลาออก การเมืองไทยไม่สามารถหาทางออกจากทางตัน แต่แล้ว พลเอกประยุทธ์ได้ประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม เขาปิดประตูขังผู้มีบทบาททางการเมืองทุกคนไว้ในสโมสรกองทัพบกเพื่อบังคับให้หยุดทะเลาะกัน

พลเอกประยุทธ์เสนอให้พรรคเพื่อไทยทำประชามติเรื่องปฏิรูปการเมืองก่อนจัดการเลือกตั้งต่อไป ซึ่งเป็นข้อเสนอที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เร่ขายเมื่อเร็ว ๆ นี้ กล่าวกันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ พลเอกประยุทธ์ถามหัวหน้าพรรคเพื่อไทยว่ารัฐบาลจะลาออกหรือไม่เพื่อทำประชามติก่อนจัดการเลือกตั้ง ผู้นำพรรคตอบหลังปรึกษาทักษิณทางโทรศัพท์ว่า “นาทีนี้ยังไม่ลาออก” ซึ่งพลเอกประยุทธ์ตอบกลับว่า “อย่างนั้นตั้งแต่นาทีนี้ ผมตัดสินใจยึดอำนาจ”

การยึดอำนาจถือเป็นความล้มเหลวอย่างมโหฬารของนักการเมือง หายนะนี้ไม่ใช่เป็นแค่ของพรรคทักษิณแต่เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเช่นกันแม้ว่าฝ่ายหลังไม่ต้องไปนอนในคุกก็ตาม ในฐานะฝ่ายค้าน อภิสิทธิมอบอำนาจและโอกาสที่ตนมีให้กับการเมืองที่นำด้วยฝูงชนของสุเทพแทน อย่างที่นักการเมืองคนหนึ่งกล่าว “เราปล่อยให้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร...เราทำมันพัง มันเป็น...ความล้มเหลวของนักการเมืองหลายคนเหลือเกินที่ยอมรับรัฐประหาร”

นาทีนี้ มีแต่สุเทพและกปปส. เท่านั้นที่ยังยิ้มได้ สุเทพเป็นตัวแทนระดับท้องถนนของชนชั้นนำและศาลซึ่งรายล้อม ███████ สุเทพไม่เพียงแต่เห็นว่าครอบครัวชินวัตรทุจริตคอรัปชั่นแต่ยังเป็นภัยที่มีอยู่จริงของประเทศ ความเร่งด่วนของแผนการของเขาส่วนใหญ่เกิดจากการที่ ███████ กำลังจะสิ้นสุดลง มีการลือกันให้แซ่ดว่าทักษิณใกล้ชิดกับ ███████ ทายาทของ ███████ การเป็นผู้เคร่งครัดในวินัยอย่างสูงทำให้เขาไม่เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่คนไทย ทั้งนี้ ███████ พักอยู่ที่โรงแรมแถบชนบทแห่งหนึ่งของอังกฤษขณะเกิดรัฐประหาร ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่อื่นขณะเกิดวิกฤติในบ้านเมือง

ความคิดที่ว่าทักษิณสนิทชิดเชื้อกับ ███████ สร้างความตื่นกลัวให้กับสุเทพและอาจทำให้บรรดานายพลรู้สึกตระหนกเช่นกัน อย่างที่นักวิเคราะห์กล่าว “ทหารต้องการอยู่ในอำนาจเพื่อจัดการเรื่องการสืบ ███████ ” ดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้ที่บรรดานายพลจะหา ███████ อีกคนเพื่อสืบทอดอำนาจ ███████ เมื่อถึงเวลา แต่สิ่งสำคัญคือทหารจะเป็นผู้ดูแลกระบวนการนี้ ไม่ใช่ทักษิณ ดังนั้น ทหารจึงเข้ามาทำสิ่งที่กปปส. เริ่มต้นให้จบ

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นอีก รัฐประหารอาจทำให้เกิดเสถียรภาพในช่วงเวลาสั้น ๆ และแม้ว่านายพลทั้งหลายจะยังกุมบังเหียนอำนาจ พวกเขาแสดงความฉลาดด้วยการขอตัวอดีตนักการเมืองผู้มากประสบการณ์ด้านการปฏิรูปมาช่วยงาน บางคนมาจากรัฐบาลชุดแรกๆ ของทักษิณ แต่จาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชี้ว่ากองทัพจะใช้การสนับสนุนให้มีการปฏิรูปเป็นเพียงข้อแก้ตัวเพื่อ “ออกแบบระบบใหม่ที่กีดกันไม่ให้พรรคการเมืองที่ทหารไม่ต้องการ เข้ามาปกครองประเทศ”

หลังรัฐประหารครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2006 ทหารครองอำนาจอยู่ 1 ปี แต่ความกังวลที่เพิ่มในขณะนี้ก็คือคราวนี้ พวกเขาอาจอยู่นานกว่านั้น ครั้งที่แล้ว ทหารทำพังหลังเข้ามาปกครองแต่ทหารเองกลับประเมินว่าพวกเขาอยู่ไม่นานพอที่จะแก้ทุกสิ่งที่ผิดพลาดในประเทศไทย กล่าวคือ ไม่ใช่แค่การเมืองที่มีปัญหา แต่ยังหมายรวมถึงระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานและภาษี พลเอกประยุทธ์เป็นผู้นำรัฐประหารอย่างไม่ค่อยเต็มใจผู้รู้จักกับเขาดีคนหนึ่งกล่าว “แต่เขาเป็นคนประเภทที่ต้องการทำงานให้เสร็จ”

ตรงนี้เองที่เรื่องอาจจะแย่ลง ยกตัวอย่างเช่น หากนายพลต้องการทำโครงสร้างพื้นฐานและแผนการอื่นที่ยิ่งใหญ่ การทุจริตคอรัปชั่นอาจขยายตัวในวงกว้างและความไม่พอใจก็จะเพิ่มขึ้น อย่างที่นักการเมืองชั้นนำคนหนึ่งกล่าว ยิ่งทหารอยู่ในอำนาจนานเท่าไหร่ “ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่ทุกอย่างจะจบลงอย่างเลวร้าย และจะเป็นความเลวร้ายมากขึ้นหลายร้อยเท่า” จาตุรนต์เองก็พูดถึงประเด็นนี้เช่นกัน โดยเรียกร้องประชาธิปไตยและกฎนิติธรรมต่อหน้าสื่อที่มารวมตัว เขาทำนายด้วยว่าการปกครองโดยทหารจะก่อให้เกิด “ความขัดแย้งมากขึ้น ความรุนแรงมากขึ้น” ก่อนที่ทหารจะผลักประตูเข้ามาจับกุมตัวเขาออกไป แม้จะมีความยุ่งเหยิงวุ่นวายก่อนหน้านี้ แต่วิธีการนี้ก็ไม่ใช่หนทางที่จะปกครองประเทศในยุคสมัยใหม่

แปลโดย หมีในเมือง
แถบดำโดย หน่วยงานป้องกันเพจลาก่อย T_T
ที่มา: http://www.economist.com/news/asia/21603033-crackdown-follows-coup-generals-may-stick-around-long-they-think-it-takes#sthash.aJa0QXwB.dpbs