วันจันทร์, มิถุนายน 23, 2557

กงสุลไทยๆ สนอง คสช. ชวนให้ 'กดดัน' กันในแอล.เอ.-ซานฟรานฯ



กงสุลใหญ่ประจำแอล.เอ. สนองบัญชาคณะรัฐประหาร แจ้งสื่อมวลชนไทยในท้องที่ว่ามีภารกิจมอบหมายมาจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหลายอย่าง รวมทั้งเรื่องเร่งด่วนที่สุดคือการสอดส่อง กดดันต่อการละเมิดประมวลกฏหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ของประเทศไทย

(อันเป็นความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า ๓ ปี และอย่างสูง ๑๕ ปี ทั้งนี้ในทางปฏิบัติผู้ต้องหามักจะถูกปฏิเสธการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดีเสมอ)

ตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ สยามทาวน์ยูเอส ฉบับประจำวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๗ รายงานการแจ้งข่าว และให้สัมภาษณ์ของนายเจษฎา กตเวทิน กงสุลใหญ่ไทย ณ นครลอส แองเจลีส ว่า ได้เล่าถึง ไฮไลต์ของการประชุมร่วมกับหัวหน้า คสช. ถึงประเด็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับรัฐบาลต่างชาติ รวมถึงชุมชนไทยในต่างประเทศว่ามีหลายประการ

นี่ผมเล่าให้ฟังนะ เวลากระทรวงต่างประเทศไปพบกับใคร ก็พูดถึงว่ามันจบไปแล้ว เรื่องการยึดอำนาจมันผ่านไปแล้ว ใครก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้ ไม่ต้องหาเหตุผลอะไรมาอธิบายอีกต่อไป

โพลล์ออกมา คนไทยเห็นว่าการเข้ามาของทหาร เขายอมรับกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เหล่านี้คือสิ่งที่เราสามารถพูดกับต่างประเทศ พูดกับเพื่อนเราเองก็ได้ คนไทยเองนี่แหละ ว่าเออ อย่างน้อยก็ดีกว่าสภาพอึมครึมที่ไม่รู้ว่าจะประท้วงกันไปอีกกี่วัน กี่ชาติ

นายเจษฎากล่าวถึงข่าวเรื่องการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นว่า ถ้ามีจริง ข่าวอย่างนี้จะออกได้เหรอ ว่าจริงๆ แล้วสื่อเมืองไทยก็รู้กัน มันไม่รู้จะเสรีขนาดไหนแล้ว แต่ก็เป็นสิ่งยืนยันอีกอันว่า democratic values ในเมืองไทยมันฝังรากลึกมากแล้ว สื่อนี่ คุณจะไปจำกัดเขาทำไม่ได้แล้ว ถ้าทำ เพราะค่านิยมความเป็นประชาธิปไตยของคนไทยมันไปถึงไหนๆ แล้ว ถึงแม้รูปแบบจะยังดูล้าหลังอยู่ก็ตาม

กงสุลใหญ่ไทยพูดถึงมิติการบริหารจัดการด้านการลงทุน (เมกกะโปรเจ็ค) ของคณะรัฐประหารไว้ด้วยท่วงทำนองชื่นชอบว่า ในทางตรงกันข้ามอาจจะดีขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ทำไม พล.อ.ประยุทธถึงต้องเร่งตั้งบอร์ด บีโอไอขึ้นมา เจ็ดแสนล้านที่รอการส่งเสริมการลงทุน มันรออยู่

อย่างไรก็ดี นายเจษฎา กตเวทิน กล่าวว่าสิ่งที่ตนพูดมาทั้งหมดนี้ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ได้รับมอบหมายมา แต่เรื่องเร่งด่วนที่สุดคือภารกิจในการปกป้องพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย

ต่อประเด็นเรื่องความเกี่ยวโยงระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับการรัฐประหาร กงสุลใหญ่แอล.เอ. ชี้แจงว่า ทำไมทรงลงพระปรมาภิไธย คำตอบคือว่า มันคือธรรมเนียมการปฏิบัติโดยปกติของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข คือท่านอยู่เหนือการเมือง เป็นขั้นตอนขึ้นมาถูกต้องท่านก็ต้องลงพระปรมาภิไธย

ส่วนภารกิจที่ได้รับมอบหมายมาจากหัวหน้า คสช. นั้น คือการสอดส่อง ติดตามตรวจสอบผู้กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หากพบการทำผิดในลักษณะนี้ให้รายงาน คสช. ทันที

เป็นภารกิจที่จะต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชนไทยทั้งหมด คือเราจะต้องช่วยกันสอดส่อง อะไรซึ่งมันมีลักษณะเป็นการจาบจ้วงสถาบันฯ

แม้นว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่เป็นที่ยอมรับในสหรัฐอเมริกา ซึ่งยึดถือในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ชุมชนไทยสามารถมีส่วนร่วมกดดันผู้กระทำผิดได้” 

ทั้งนี้นายเจษฎาให้อัตถาธิบายเพิ่มเติมว่า แรงกดดันทางสังคมก็มีส่วนช่วยได้ เราก็ไม่ต้องไปคบค้ากับมัน..แม้ ว่าทางกฎหมายเราทำอะไรไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ให้รู้กันไว้ว่ามันไปทำอะไรกันตรงไหน อย่างไร หากเราสามารถสร้างแรงกดดันทางสังคมร่วมกันได้